ทำไมสาวชาวเกาหลีบางคนเลือกที่จะไม่ใส่เสื้อชั้นใน


ทำไมสาวชาวเกาหลีบางคนเลือกที่จะไม่ใส่เสื้อชั้นใน

ผู้หญิงหลายคนในเกาหลีใต้โพสต์รูปของตัวเองไม่สวมเสื้อชั้นในผ่านสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมแฮชแท็ก #nobra เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของสตรีที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

แนวความคิดนี้เริ่มแพร่กระจายขึ้นหลังจาก ซอลลี นักแสดงและนักร้องชาวเกาหลีใต้ โพสต์รูปของเธอที่ไม่สวมเสื้อชั้นในลงทางบัญชีอินสตาแกรมของเธอซึ่งมีผู้ติดตามหลายล้านคน

ตั้งแต่นั้นมา เธอได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวของคนนิยม "โนบรา" ในเกาหลีใต้ พร้อมทั้งส่งข้อความออกไปว่าการสวมใส่เสื้อชั้นในหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของ "เสรีภาพส่วนบุคคล"



แม้ได้รับการสนับสนุนจำนวนมาก เธอก็ถูกวิจารณ์จากทั้งหญิงและชายในโลกออนไลน์ว่าเธอเป็นพวก "เรียกร้องความสนใจ" และกล่าวหาว่าเธอมีเจตนาปลุกเร้า ขณะเดียวกันมีบางคนรู้สึกว่าเธอใช้การเคลื่อนไหวนี้เพื่อชื่อเสียงของตัวเอง

"ฉันเข้าใจว่าการสวมใส่เสื้อชั้นในเป็นทางเลือกของแต่ละคน แต่เธอมักโพสต์รูปตัวเองใส่เสื้อรัดติ้วเพื่อให้หน้าอกของเธอลอยเด่น เธอไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้" ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์คนหนึ่งเขียนไว้ทางอินสตาแกรม




ทำไมสาวชาวเกาหลีบางคนเลือกที่จะไม่ใส่เสื้อชั้นใน

"เราไม่ตำหนิคุณที่คุณไม่ใส่เสื้อชั้นใน แต่เราต้องการบอกคุณว่าคุณควรซ่อนหัวนมของคุณ" ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อีกรายหนึ่งที่ใช้ว่า yulth_ful เขียน

"หน้าไม่อาย คุณแต่งตัวแบบนั้นไปโบสถ์ได้มั๊ย คุณไปเจอน้องสาวของสามีคุณ หรือพ่อแม่ของสามีแบบนี้ได้หรือ" ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ชื่อว่า suelee9007 โพสต์

"มันไม่ใช่แค่ผู้ชาย ผู้หญิงก็รู้สึกอึดอัดเช่นกัน" ผู้ใช้อีกรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ภาพถ่ายของนักร้องที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า ฮวาซา ทำให้การเคลื่อนไหว #nobra กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งผ่านรูปถ่ายที่เธอกลับมาถึงกรุงโซลจากการแสดงคอนเสิร์ตในฮ่องกง โดยที่เธอนั้นไม่ได้สวมอะไรเลยนอกจากเสื้อยืดสีขาว และภาพของเธอก็กลายเป็นกระแสในทันที

ตั้งแต่นั้นมา การเคลื่อนไหวโนบราในหมู่ผู้หญิงธรรมดาที่ไม่ได้เป็นดาราหรือนักร้องก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แบบก้าวกระโดด

 



เสรีภาพในการเลือก

การที่กลุ่มผู้หญิงในเกาหลีใต้ที่ออกมาเรียกร้องอิสรภาพในการเลือกและตัดสินใจไม่ใช้เรื่องแปลกใหม่ ในปี 2018 เราได้เห็นการเคลื่อนไหว ‘Escape the Corset' (หนีจากเสื้อรัดทรง) เพิ่มขึ้นมากในเกาหลีใต้ โดยมีผู้หญิงจำนวนมากออกมาหั่นผมอันยาวสลวยของพวกเธอออกไป และออกไปนอกบ้านโดยไม่แต่งหน้า พวกเขาโพสต์ผลลัพธ์บนสื่อสังคมออนไลน์ว่ามันเป็นการก่อกบฏ



ทำไมสาวชาวเกาหลีบางคนเลือกที่จะไม่ใส่เสื้อชั้นใน

สโลแกน ‘Escape the Corset' ก่อตัวขึ้นมาเพื่อแสดงออกถึงการต่อสู้กับมาตรฐานความงามที่ไม่สมจริงที่บีบบังคับให้ผู้หญิงในเกาหลีใต้เสียเวลาเป็นชั่วโมงไปกับการแต่งหน้าและบำรุงผิว

ผู้หญิงหลายคนที่บีบีซีพูดคุยด้วยบอกว่า มันมีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งสอง และวิธีที่พวกเขาใช้เพื่อแพร่กระจายบนสื่อสังคมออนไลน์นั้นบ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวแบบใหม่

‘รุมโทรมด้วยสายตา‘

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ได้ต่อต้านวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงทางเพศ และความแพร่กระจายของ "กล้องแอบถ่าย" ที่ผู้ชายนำกล้องที่ซ่อนไว้ในห้องน้ำและสถานที่สาธารณะต่าง ๆ

ในปี 2018 เกิดการประท้วงครั้งที่ใหญ่ที่สุดของผู้หญิง มีสตรีกว่าหมื่นคนเข้าร่วม โดยพวกเธอออกเดินไปบนถนนของกรุงโซลและเรียกร้องให้มีการปราบปรามสื่อลามกที่มาจากกล้องแอบถ่าย

ผู้หญิงเกาหลีใต้บางคนบอกกับบีบีซีว่า พวกเธอกำลังเผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ ถึงแม้ว่าพวกเธอจะสนับสนุนการโนบรา แต่พวกเธอก็ยังไม่มั่นใจพอที่จะไม่ใส่ยกทรงไปในที่สาธารณะ หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่พวกเธออ้างถึงคือความกลัวที่จะโดน ‘รุมโทรมด้วยสายตา' ซึ่งทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกว่าถูกละเมิดทางเพศผ่านการจ้องมอง




ทำไมสาวชาวเกาหลีบางคนเลือกที่จะไม่ใส่เสื้อชั้นใน

สิทธิในการเลือก

จอง ซึงอุน หญิงสาวชาวเกาหลีใต้ อายุ 28 ปีเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘No Brablem' ในปี 2014 ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้หญิงในการใช้ชีวิตแบบโนบรา

ซึงอุน กล่าวว่าเธอเริ่มโครงการนี้กับเพื่อน ๆ ในขณะที่อยู่มหาวิทยาลัย โดยพวกเธอเริ่มตั้งคำถามขึ้นมาว่า ‘ทำไมเราถึงคิดว่าการใส่ยกทรงเป็นเรื่องปกติ'

ในขณะที่เธอคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ผู้หญิงจำนวนมากสามารถพูดคุยกันถึงปัญหาได้อย่างเปิดเผย แต่เธอยังเชื่อว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคง "รู้สึกละอายใจ" เมื่อหัวนมโผล่ออกมาผ่านเสื้อยืด

"พวกเธอรู้ว่าการสวมใส่เสื้อชั้นในนั้นยังถือว่าเป็นเรื่องปกติในเกาหลีใต้ และนั่นเป็นสาเหตุที่พวกเธอเลือกที่จะสวมใส่ชุดชั้นในต่อไป" เธอกล่าว

ปาร์ก อีซูล นางแบบชาวเกาหลีใต้ อายุ 24 ปี มีส่วนร่วมกับการรณรงค์การรักและภูมิใจในร่างกายของตัวเอง และเมื่อปีที่แล้วเธอตัดสินใจที่จะทำวีดิโอบันทึกว่าเธอใช้ชีวิตแบบโนบราเป็นเวลาสามวันในกรุงโซล

วิดีโอดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยมีผู้เข้าชมกว่า 26,000 ครั้ง

เธอบอกว่าผู้ติดตามของเธอบางคนกำลังเลือกที่จะใส่เสื้อชั้นในไร้โครงและไร้สายแบบนิ่ม แทนบราแบบมีโครงและแผ่นรองแบบทั่วไปเพื่อเป็นการ "พบกันครึ่งทาง"

"ฉันเข้าใจผิดมาตลอดว่าถ้าเราไม่ใส่เสื้อยกทรงแบบมีโครง หน้าอกของเราจะหย่อนยานลงและดูน่าเกลียด แต่หลังจากที่ฉันถ่ายทำวิดีโอไปแล้ว ฉันก็ได้รู้ว่าฉันจะไม่ใส่มันอีกต่อไป ตอนนี้ฉันสวมเสื้อชั้นในไร้โครงแทบทุกวันในฤดูร้อน และโนบราในช่วงฤดูหนาว" เธอกล่าว

การรณรงค์ดังกล่าวยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนาหยวน ลี เจ้าของธุรกิจและนักศึกษาสาวด้านการออกแบบวัย 22 ปี

เธอก่อตั้ง Yippee แบรนด์น้องใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในหลักสูตรปริญญาโทของเธอที่มหาวิทยาลัย แคมยอง บริษัทนี้เริ่มชายแผ่นแปะหัวนมมาตั้งแต่ พ.ค. ปีนี้ ภายใต้สโลแกน "Brassiere, it's okay, if you don't!" (ถึงคุณไม่ใส่บราก็ไม่เป็นไร)

การรณรงค์นี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะเขตเมืองหลวงเท่านั้น

ดาคยุง สตรีวัย 28 ปีจากจังหวัดชอลลานัมโด กล่าวว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจจากรูปถ่ายของซอลลี และตอนนี้เธอสวมบราในที่ทำงานเมื่อเธอต้องอยู่ในที่ทำงานกับเจ้านายของเธอ แต่เธอจะไม่สวมเสื้อยกทรงเมื่อออกไปเที่ยวกับแฟน

"แฟนของฉันบอกว่าถ้าฉันรู้สึกอึดอัดกับการใส่เสื้อชั้น ฉันก็ไม่ควรต้องใส่" เธอกล่าว

ข้อความของพวกพวกเธอต้องการสื่อก็คือผู้หญิงมีสิทธิ์เลือก แต่ว่างานวิจัยบอกถึงการไม่สวมยกทรง ไว้ว่าอย่างไร

การโนบราจะมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่
พญ. เดียร์ แม็คกี เป็นนักกายภาพบำบัดและผู้อำนวยการร่วมแห่งศูนย์วิจัยวิจัยทรวงอกแห่งออสเตรเลีย ของมหาวิทยาลัยวูลลองกอง

"ฉันเชื่อว่าผู้หญิงมีสิทธิ์เลือก แต่ถ้าคุณมีมวลเต้านมที่ใหญ่และไม่มีอะไรมาช่วงพยุงมวลเหล่านั้น สรีระของคุณก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมถึงคอและหลังด้วย" เธอกล่าว

"เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น โครงสร้างของร่างกายก็เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังและระดับการช่วยพยุงก็ลดลง"

"เมื่อผู้หญิงออกกำลังกายโดยไม่ได้มีการสวมใส่เสื้อชั้นใน มันจะมีผลทำให้เต้านมเคลื่อนไหว และยกทรงสำหรับกีฬาสามารถบรรเทาอาการปวดเต้านมได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันอาการปวดหลังและคอได้ด้วย"

"การวิจัยของเราพบว่าแม้ว่าผู้หญิงจะไม่มีเต้านม เช่น หลังการผ่าตัดเต้านม ผู้หญิงหลายคนยังคงปกป้องบริเวณนั้นและยังมีพฤติกรรมห่อไหล่ เพราะหน้าอกเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ทางเพศของเรา สำหรับผู้หญิงบางคนที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมและต้องผ่าเต้านมออก ฉันบอกให้พวกเธอใส่เสื้อชั้นในเพื่อเสริมบุคลิกและความมั่นใจ ถึงแม้จะไม่มีเต้านมอยู่แล้วก็ตาม"

พญ. เจนนี่ เบอร์บาจ เป็นอาจารย์อาวุโสด้านชีวกลศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ เธอบอกว่าผู้หญิงที่รู้สึกไม่สบายหรือเจ็บปวดที่สวมชุดชั้นในเป็นไปได้ที่พวกเธอ "สวมใส่ชุดชั้นในที่ไม่ถูกขนาด"

"เท่าที่กลุ่มการวิจัยของเรารู้ ยังไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือที่ตีพิมพ์ออกมาแล้วพบว่าการใส่เสื้อชั้นในจะนำไปสู่การเป็นมะเร็งเต้านม" เธอกล่าว



แต่ระดับการเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้นั้นไม่ได้ใกล้เคียงกันกับครั้งแรกที่ผู้หญิงรณรงค์ต่อต้านการใส่ยกทรงเลย

วลีที่ว่า "กลุ่มสตรีนิยมเผายกทรง" เกิดขึ้นหลังจากการประท้วงภายนอกสถานที่จัดการประกวดนางงาม อเมริกาในปี 1968

ผู้ประท้วงหญิงในเวลานั้นโยนสิ่งของต่าง ๆ รวมไปถึงเสื้อชั้นในที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ ผู้หญิง ลงไปในถังขยะเพื่อเผา แต่พวกเธอไม่ได้เผาสิ่งของเหล่านั้นจริง ๆ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการเผาเสื้อชั้นในกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการปลดปล่อยผู้หญิง

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้หญิงหลายพันคนทั่วประเทศสวิตเซอร์แลนด์เดินออกมาจากที่ทำงาน เผาเสื้อชั้นในและปิดกั้นการจราจรในวันที่มีการประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการยุติการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรง

วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีคือวันโนบรา ซึ่งกลายเป็นวันที่จะปลุกจิตสำนึกของโรคมะเร็งเต้านมทั่วโลก แต่ปีที่แล้วผู้หญิงในฟิลิปปินส์ใช้วันนี้เพื่อเรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น




ทำไมสาวชาวเกาหลีบางคนเลือกที่จะไม่ใส่เสื้อชั้นใน

วาเนสซา อัลเมดา นักข่าวสาว กล่าวว่า "วันโนบราเป็นวันที่ยืนยันความเป็นสตรีเพศและการซาบซึ้งในตัวของพวกเราในฐานะที่เป็นผู้หญิง"

"ชุดชั้นในเป็นสัญลักษณ์ของการที่ผู้หญิงถูกจับเป็นทาส" เธอกล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหว ได้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการเน้นย้ำถึงความเป็น "สองมาตรฐาน" ในการเซ็นเซอร์หัวนมเพศชายและเพศหญิง

ในเดือนธันวาคม 2014 เน็ตฟลิกซ์ ได้เปิดตัวภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Free the Nipple ซึ่งติดตามกลุ่มหญิงสาวในนครนิวยอร์กที่เริ่มต้นการรณรงค์เพื่อคัดค้านอาชญากรรมและการเซ็นเซอร์หน้าอก

สิ่งนี้นำไปสู่แคมเปญ "ปลดปล่อยหัวนม" กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก

การเคลื่อนไหว ‘โนบรา' ล่าสุดในเกาหลีใต้ได้กลายมาเป็นตัวแทนของการมุ่งเน้นข้อจำกัดบนร่างกาย ของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ปฏิกิริยาต่อต้านที่มีต่อผู้หญิงที่เข้าร่วมการรณรงค์ แสดงให้เห็นการต่อต้านในเกาหลีใต้ ต่อความท้าทายนี้ในเรื่องความคาดหวังทางวัฒนธรรม

แต่สำหรับผู้หญิงหลายคนในเกาหลีใต้ นี่เป็นเรื่องพื้นฐานของ "เสรีภาพส่วนบุคคล" ทัศนวิสัยที่เพิ่มขึ้นของการเคลื่อนไหวนี้แสดงให้เห็นว่าสำหรับผู้หญิงเกาหลีใต้จำนวนมาก กระแสแฮชแท็กนี้จะไม่เลือนหายไปจนกว่าการไม่ใส่เสื้อชั้นในนั้นจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป



เครดิตแหล่งข้อมูล : khaosod




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์