กระดูกพรุนที่ผู้หญิงต้องระวัง

กระดูกพรุนที่ผู้หญิงต้องระวัง


กระดูกพรุนที่ผู้หญิงต้องระวัง

     ในร่างกายของคนเรามีกระดูกเป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่ละคนจะมีกระดูกจำนวน 206 ชิ้น แต่ละชิ้นจะแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ กระดูกชั้นนอกที่แข็งแกร่งคอยทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกายและห่อหุ้มอวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง ปอด ตับ ไต หัวใจ ขณะที่ไข
กระดูกซึ่งอยู่ชั้นในจะทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด



วงจรกระดูก

     กระดูกประกอบด้วยแร่ธาตุสำคัญคือแคลเซียม ซึ่งได้รับจากอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วกระดูกของเรานั้นจะมีการสลายตัวและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา อย่างที่เราเรียกว่า "วงจรกระดูก” ในวัยเด็กและวัยรุ่นเป็นช่วงอายุที่ร่างกาย
สร้างกระดูกใหม่มากกว่าการสลายกระดูก กระดูกจึงมีขนาดใหญ่ขึ้น หนาและหนักขึ้น จนกระทั่งถึงปริมาณสูงสุดที่ระดับอายุเฉลี่ยประมาณ
20-25 ปี ระหว่างอายุ 25-30 ปีจะเป็นช่วงอายุที่มวลกระดูกคงความหนาแน่นสูงที่สุดโดยมีอัตราการสร้างกระดูกและสลายกระดูกสมดุลกัน หลังจากนั้นอัตราเร็วในการสร้างกระดูกจะค่อยๆ ลดลง ขณะที่การสลายกระดูกยังคงดำเนินอยู่ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ กระดูกจะสลายตัวเร็วกว่าการสร้างใหม่จึงเป็นผลให้ผู้สูงอายุมักมีมวลกระดูกน้อยลง กระดูกเล็กและบางลง มีความแข็งแกร่งลดลง เปราะ แตกหักง่าย หรืออย่างที่เราเรียกว่าภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนนั่นเองซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิต และการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าคนไหนมีต้นทุนเดิมของกระดูกมากและสามารถรักษาไว้ได้สม่ำเสมอแม้จะต้องมีการสลายไปก็จะยังคงความแข็งแรงอยู่ได้พอสมควร


     นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยต่อการสลายตัวของกระดูกแล้ว คนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ อยู่กับความเครียดเป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่ด้อยคุณภาพ มีแคลเซียมน้อย แต่มีโปรตีนมากๆ คนที่มีรูปร่างผอมบางมากๆ หรือคนที่เป็นโรคไต คอพอก คนที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ ล้วนเป็นปัจจัยให้มวลกระดูกสลายตัวมากกว่าปกติ หากต้นทุนที่สะสมไว้ไม่เพียงพอก็จะเสี่ยงต่อภาวะกระดูกบาง พรุน ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักมีการสะสมเนื้อกระดูกเอาไว้น้อยกว่าผู้ชาย อีกทั้งยังมีเรื่องของการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างรวดเร็วในวัยหมดประจำเดือนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อกระดูกบาง พรุน มากเป็นพิเศษ

อาการของกระดูกพรุน

     คนที่เป็นกระดูกพรุนอาจไม่มีอาการอะไรแสดงออกมา
เป็นพิเศษเหมือนอย่างเช่นโรคอื่นๆ เว้นแต่ว่ากระดูกจะหักง่าย
เป็นพิเศษ บริเวณที่เสี่ยงต่อการหักได้แก่ กระดูกข้อมือ ข้อเท้า กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพก

      การที่กระดูกข้อมือข้อเท้าหักแม้ทำให้เจ็บปวดและไม่สะดวกในการใช้งานแต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นอันตรายร้ายแรงมาก แต่หากเกิดกระดูกสันหลังหัก มักจะเป็นลักษณะที่กระดูกยุบตัวลง ก็จะทำให้ตัวเตี้ยลง หลังโก่งงองุ้ม และปวดหลังรุนแรง โดยเฉพาะหากเป็นกระดูกสะโพกหักยิ่งมีอันตรายมากที่สุดเพราะอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งโอกาสการเกิดกระดูกหักมีอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่เดินกระแทกกับอะไร เดินสะดุด ยกของหนักเกินกำลัง หรือแค่เดินชนกับคนอื่นก็อาจทำให้กระดูกหักได้แล้ว

รู้ได้อย่างไรว่ากระดูกพรุนแล้วหรือยัง

     ปัจจุบันการตรวจค่าความหนาแน่นของกระดูก ด้วยเครื่องมือ Dual Energy X-ray Absorptiometry (DXA) เป็นวิธีมาตรฐานที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยว่าเราเป็นกระดูกพรุนแล้วหรือยัง ส่วนการตรวจความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องมืออื่นๆ ที่อาจมีให้บริการทั่วไปตามร้านยา ห้างสรรพสินค้า หรือนิทรรศการสุขภาพต่างๆ เป็นการวัดค่าเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้เป็นมาตรฐานได้ หากคุณไปใช้บริการตรวจความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องมือเหล่านั้นแล้วได้ผลที่ผิดปกติ จึงแนะนำให้ควรไปรับการตรวจอย่างละเอียดจากเครื่องมือมาตรฐานโดยแพทย์อีกครั้งเพื่อผลที่แน่นอน
ถ้าผลวินิจฉัยออกมาว่าคุณมีปัญหากระดูกบางหรือพรุน แพทย์อาจให้คำแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องการรับประทานยาหรือฮอร์โมนทดแทน อาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตโดยลด ละ เลิกพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดการสูญเสียเนื้อกระดูก การได้รับแคลเซียมเสริม หรือวิธีปฏิบัติตัวที่จะอยู่กับโรคกระดูกพรุนอย่างปลอดภัยจากอุบัติเหตุ เช่น การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมภายในบ้านหรือที่ทำงานที่เหมาะสม

เสริมมวลกระดูกด้วยอาหารแคลเซียมสูง ป้องกันกระดูกพรุน

     แม้จะยังไม่มียาอะไรใช้ป้องกันการเกิดกระดูกพรุนได้ แต่ทุกคนสามารถชะลอการเกิดกระดูกพรุนให้ช้าลง โดยการรักษามวลกระดูกให้คงความหนาแน่นไว้ได้นานที่สุด การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นสิ่งจำเป็น ให้ร่างกายได้ดูดซึมแคลเซียมไปสะสมไว้เป็นต้นทุนของกระดูก ถ้าเราได้รับแคลเซียมปริมาณมากๆ ในช่วงกระดูกกำลังเจริญเติบโต ก็จะเพิ่มปริมาณเนื้อกระดูกให้อยู่ในระดับสูงสุดได้ ขณะเดียวกันร่างกายก็ต้องใช้แคลเซียมสำหรับหน้าที่อื่นๆ ซึ่งถ้าได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะดึงแคลเซียมจากกระดูก
ไปใช้แทนทำให้กระดูกแข็งแรงน้อยลง เราจะได้แคลเซียมจากอาหารจำพวกปลาตัวเล็กตัวน้อยที่รับประทานได้พร้อมกระดูก กุ้งที่
รับประทานได้พร้อมเปลือก เช่น กุ้งแห้ง ผักใบเขียว เช่น คะน้า บรอกโคลี งาดำ ถั่ว เต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นม และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็วๆ วันละ 20 นาที หรือว่ายน้ำเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น ซึ่งควรทำในตอนเช้าๆ เพื่อได้รับแสงแดดอ่อนๆ ช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดีซึ่งเป็นตัวช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ไปสะสมที่กระดูกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถได้รับวิตามินดีในอาหารจำพวก น้ำมันปลา ไข่แดง ตับ เป็นต้น
ในกรณีที่จำเป็นหรือพบว่าอาหารที่ได้รับเป็นประจำมีแคลเซียมไม่เพียงพอ อาจพิจารณาการใช้แคลเซียมเสริมอาหารมาช่วยอีกทางหนึ่ง

ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวัน

ทารก อายุ 0-6 เดือน                                                                              210  มก.
ทารก อายุ 6-12 เดือน                                                                            270  มก.
เด็กเล็ก อายุ 1-3 ป                                                                                 500  มก.
เด็กโต อายุ 4-8 ปี                                                                                   800  มก.
วัยรุ่น อายุ 9-24 ปี                                                                                  1,200-1,500  มก.
อายุ 25-50 ปี                                                                                          1,000 มก.
ผู้หญิงมีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร                                                          1,200-1,500 มก.
ผู้หญิงอายุ 51-65 ปี (ที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน)       1,000  มก.
อายุ 50 ปีขึ้นไป (ที่ไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน)        1,500  มก.
ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป                                                                             1,500  มก.
และปริมาณวิตามินดี ที่ควรได้รับต่อวัน ตั้งแต่                                          400-800 IU

(จากคำแนะนำของ NAS : US National Academy of Sciences และ NIH : National Institutes of Health สหรัฐอเมริกา)


     
ทั้งนี้ทุกคนโดยเฉพาะคุณผู้หญิงทั้งหลายสามารถเริ่มต้นสะสมมวลกระดูกได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่ควรชะล่าใจ เพื่อให้เรามีต้นทุนกระดูกที่ดีพอไว้ใช้เมื่อยามถึงวัยสูงอายุ หลีกเลี่ยงภัยจากโรคกระดูกพรุนในที่สุด


ขอขอบคุณเนื้อหาดีดี จาก healthtoday

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์