ฆ่าตัวตาย-โรคซึมเศร้า ในสังคมไทย

ฆ่าตัวตาย-โรคซึมเศร้า ในสังคมไทย


รศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ รามาธิบดี กล่าวว่า

สำหรับสถานการณ์ฆ่าตัวตายในปัจจุบันในมุมมองของจิตแพทย์ แบ่งการฆ่าตัวตายออกเป็น 3 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 ความคิดฆ่าตัวตาย คิดอยากตาย หรือคิดถึงเรื่องอยากตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีไม่น้อยในสังคม แต่ไม่ถือว่ามีความผิดปกติหรือถึงขั้นต้องช่วยเหลือ แต่มีบางกรณีเท่า นั้นที่การคิดฆ่าตัวตายต้องให้ความช่วยเหลือหรือต้องให้ความสำคัญ


 
               ลักษณะที่ 2 คือ การพยายามฆ่าตัวตาย และลักษณะที่ 3 คือ การฆ่าตัวตายสำเร็จ ซึ่งทั้ง 2 ลักษณะนี้ต่างกันเล็กน้อย กรณีตัวอย่างมีผู้ป่วยอยู่กลุ่มหนึ่งที่พยายามฆ่าตัวตาย แต่พอถามเขาว่าจริงๆ แล้วอยากตายไหมก็พบว่ามีหลายๆแรงผลักดันอยู่เบื้องหลัง เช่น ต้องการได้รับความสนใจหรือเรียกร้องอะไรบางอย่าง และเมื่อได้รับสิ่งที่เขาต้องการแล้วก็จะรู้สึกดีขึ้น อีกกลุ่มคือที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ คือกลุ่มคนที่คิดไต่ตรองมานานพอสมควร สุดท้ายเขาคิดว่าการจบชีวิตคือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ

 สำหรับการฆ่าตัวตายนั้นมีหลายสาเหตุ  ไม่ว่าจะเป็นมีเหตุการณ์ฆ่าตัวตายเกิดขึ้นกับเพื่อน  หรือได้รับข่าวการฆ่าตัวตายจึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่จะมีความคิดฆ่าตัวตายสำหรับชีวิตประจำวันของเขา ความกดดันที่รุ่นแรง ความเครียด ความไม่มั่นคงในชีวิตคู่  ครอบครัวที่ไม่ราบเรียบ การนำเสนอการฆ่าตัวตายของผู้มีชื่อเสียงในสังคมของสื่อมวลชน ส่วนการฆ่าตัวตายในเพศชายจะเป็นความ รู้สึกไม่มั่นคงจากภายใน ในขณะที่เพศหญิงเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงจากภายนอก


 
               ด้าน นพ.ปราการ ถมยางกูร โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์
  ได้กล่าวเสริมว่า  คนที่ตายด้วยการฆ่าตัวตายจะไม่เหมือนกับคนที่ไปขับรถชนจากอุบัติเหตุ  เพราะคนที่อยู่เบื้องหลังจะรู้สึกผิดไปด้วยว่าตนมีส่วนทำให้เขาเสียชีวิต หลังจากนี้คนที่ทุกข์ทรมานใจก็ยังต้องอยู่ในสังคม แต่บางคนในช่วงแรกก็พยายามที่จะฆ่าตัวตายตาม สิ่งสำคัญก็คือในคนที่มีญาติฆ่าตัวตายเรา ก็ยิ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือเขาด้วย สำหรับการคัดกรอง ในแต่ละอย่างไม่สามารถบอกได้ว่าคนนี้อนาคตจะเป็นอย่างไร เพียง แต่ว่าบางรายที่เป็นโรคซึมเศร้ามากๆ เราก็สามารถที่จะดูแลป้องกันได้ จากการวิจัยได้ข้อ สรุปออกมาแล้วว่าแม้เราจะป้องกัน   ให้ดีที่สุด ก็ยังไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุดที่ไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย เพียงแต่เราสามารถลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้


 
               นพ.อุดม  เพชรสังหาร
กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูก ฮิวแมนด์ แอนด์ โซเชียล อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาของการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนอีกสาเหตุหนึ่งคือการตั้งความคาดหวัง ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นเพราะว่าความสำเร็จในชีวิตของสังคมเรา เรามองไปที่จุดใดจุดหนึ่งว่าในความสำเร็จจะต้องเก่ง มีงานมีการ มีความร่ำรวย เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องนี้ทำให้คนเรามีเป้าหมายในชีวิตที่เปลี่ยนไป


               
การมี 
social network  ก็สามารถทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลลดลงไปได้  เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะทำให้เกิด social network ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ในสังคม ในชุมชน ซึ่งจะคอยเป็นกลุ่มที่สนับสนุน จะเริ่มต้นจากตรงไหนก็ได้ ในชุมชนอาจจะมีแกนนำ มีตำรวจ เพื่อเข้าไประดมให้เกิดการรวมกลุ่ม ทำให้ชุมชนนั้นพึงพาอาศัยกัน แต่สิ่งที่สังคมไทยจะต้องทำให้ได้คือ ต้องเข้าใจกันและกัน ไว้วางใจกันและกัน ลดความหวาดระแวง การสร้าง social network ซึ่งเป็นบริบทของสังคมน่าจะเป็นตัวการหนึ่งที่สามารถป้องกันในระดับสังคมได้


 
               นพ.วีรพล  อุณหรัศมี
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ความตายหรือการฆ่าตัวตายหากมองปัจจัยในระดับบุคคล ในระดับสังคม ในระดับบุคคล จะเกี่ยวข้องกับคุณค่าในตัวเอง อาจเป็นเพราะไม่สามารถยอมรับคุณค่าของตัวเองได้ จากการเสียคุณค่าในตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับการไม่ยอมรับคุณค่าใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง


 
               การกำหนดคุณค่าในสังคมปัจจุบัน ทำให้จำนวนคุณค่านั้นลดลง สมัยก่อนบางคนไม่เอาดีทางโลก ก็เอาดีทางธรรม  ถ้าไม่เอาดีทางธรรมก็เอาดีทางจิตวิญญาณ  ต่างคนก็ต่างมีหนทางของตนเอง  แต่ตอนหลังกลายเป็นทุกคนต้องเอาดีทางทรัพย์สิน ทางเศรษฐกิจ  ทุกคนวิ่งเข้าหาเรื่องเศรษฐกิจหมด การแข่งขันที่สูงขึ้น ปัจจัยที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการฆ่าตัวตาย  นอกจากคุณค่าแล้วคิดว่าเป็นเรื่องของความยับยั้งช่างใจ หมายถึงว่า คนเรา ณ ขณะนั้นถ้ามีความยับยั้งชั่งใจดีอาจจะเบรกและได้สติบางประการ แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างในสังคมที่ทำให้คนขาดความยับยั้งชั่งใจ เช่น สื่อที่ชักนำ คนที่ใจคอไม่ค่อยดีพอดูสื่อนี้ก็ไปเลยทันที หรือแม้แต่ภาวะภายใน เช่น เรื่องทางอารมณ์ เรื่องของยีนที่กำหนดพื้นฐานอารมณ์  ว่าแต่ละคนมีพื้นฐานมาไม่เหมือนกัน บางคนอ่อนไหวง่าย บางคนเข้มแข็ง 


               
อีกปัจจัยคือเรื่องของการระบายออกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนระบายง่าย บางคนระบายยาก บางคนก็ไปหาสิ่งที่ยิ่งทำยิ่งแย่ ทั้ง 3 ปัจจัยนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายของบุคคล ซึ่งจะต้องแวดล้อมไปด้วยโครงสร้างอันอื่นของสังคม มีข้อ เสนอที่สังคมต้องมาวิเคราะห์ว่าสังคมมีโครงสร้างอย่างไรถึงทำให้คุณค่านี้เล็กลง  สังคมทำอย่างไรทำให้คนในสังคมขาดสติมากขึ้น และสังคมทำอย่างไรทำไมทางออกถึงน้อยลง หรือเป็นทางออกที่รุนแรง


               
พอ.พญ.นวพร  หิรัญวิวัฒน์กุล  ประธานฝ่ายวิชาการราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า วัยรุ่นเป็นกลุ่มเสี่ยงในทุกๆ ด้าน มีความเปราะบาง  เราจะต้องมองว่าเขาเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะรับทั้งบวกและลบ  ปัญหาอยู่ที่เด็กขาดคนที่จะมาช่วยประคองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้  หากมีการประคองไปแล้วจะรู้ว่าเด็กบอกสัญญาณอะไรอยู่  แต่คนที่ควรต้องอ่านสัญญาณได้คนแรกคือคนในครอบครัว แต่กลับอ่านไม่เป็น พออ่านไม่เป็นก็บอกไม่ถูกว่าลูกเกิดปัญหาอะไร ก็เลยมองว่าเป็นปัญหาเรื่องพฤติกรรม ซึ่งจริงๆ เด็กต้องการความช่วยเหลือ ต้องการความเข้าใจ
 

                ระบบการคัดกรองเด็กที่เข้ามาสู่การเป็นนักเรียน นักศึกษา  ไม่สามารถคัดกรองได้ทั้งหมด  มาจากพื้นเดิม  มาจากบุคลิกเดิมส่วนหนึ่ง  และพบว่าเด็กส่วนใหญ่จะมีความโน้มเอียงทางอารมณ์  อ่อนไหวง่าย  และต้องการการแข่งขันสูงมาก มองตัวเองว่าตัวเองต้องทำให้ถึงดวงดาว  ถ้าตัวเองทำไม่ถึงดวงดาว  แสดงว่าตัวเองนั้นไม่เก่งจริง  ไม่มีความสามารถ และมักจะวัด ด้วยเกรด  มีคนเก่งกว่า  เลยรับความเก่งน้อยกว่าไม่ได้ จริงๆ ต้องมองว่าเก่งไม่เก่งไม่เป็นไรต้องเป็นคนดี ทีนี้คนดีจะเกิดได้จะ ต้องเกิดตั้งแต่เด็ก การเป็นคนดีจะต้องควบคู่กับการเรียนหนังสือได้รู้เรื่องและสามารถนำมาใช้ได้


 
               สำหรับการแก้ปัญหา  หรือทางออกสำหรับปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น รศ.นพ.มาโนช กล่าวว่า การป้องกันควรดำเนิน การในรูปแบบเป็นโครงการ เนื่องจากการฆ่าตัวตาย มีมิติที่ค่อนข้างซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์เพียงมิติเดียว แต่มีมิติทาง ด้านปรัชญา ด้านศาสนา ด้านสังคม นักจิตวิทยา  นักสังคมศาสตร์ทางการแพทย์  และโครงการนั้นไม่ได้เป็นการเข้าไปป้องกันการฆ่าตัวตายโดย ตรงแต่เป็นการทำให้คนเรามีความเข้มแข็งมากขึ้น มีการปรับตัวกับปัญหาได้ดีขึ้น ผลก็คือการฆ่าตัวตายลด ลงเช่นกัน


 
               การป้องกันการฆ่าตัวตายทางการแพทย์หรือสาธารณสุข มองได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 เป็นการให้ไปเพื่อช่วยประชากรทั้งประเทศให้ความรู้ทำให้สุขภาพจิตของเขาดีขึ้น

กลุ่มที่ 2 เป็นการช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มคนไข้โรคซึมเศร้า กลุ่มคนไข้ที่เป็นมะเร็งระยะแรก คนไข้ที่เป็น
HIV ระยะแรก

กลุ่มที่ 3 เป็นโปรแกรมที่เฉพาะเจาะจงสำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง เป็นขั้นบำบัดให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น 


 
               นอกจากนั้นควรการควบคุมการเข้าถึงสิ่งที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย และการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ในเรื่องความเจ็บ ป่วยทางจิตเวช  หรืออะไรที่สัมพันธ์กับเรื่องของจิต เรื่องของโรคจิต  เพื่อทำให้คนกล้าที่จะเข้ามาพบกับบุคลากรสุขภาพจิต ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และเรื่องการเสนอข่าวมีข้อแนะนำว่าไม่ควรนำเสนอในเชิงที่ว่าการฆ่าตัวตายเป็นการตัดสินใจที่เยี่ยมมากเหมาะสมแล้วกับตรงนั้น หรือเพื่อบูชารักหรือถูกทำให้ดูโรแมนติกไม่ควรใส่อารมณ์มากกับข่าวฆ่าตัวตาย


 
               การควบคุมการเข้าถึงสิ่งที่ใช้ในการฆ่าตัวตายที่เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ จากการทะเลาะ หุนหันพลันแล่น ให้ควบคุมการซื้อและใช้สารพิษ สารเคมี ยาฆ่าแมลงชนิดต่างๆ ก็จะได้ผลค่อนข้างดี ส่วนการห้ามจะไม่ให้มีอารมณ์ชั่ววูบจะต้องมีการเสริมสร้างบุคลิกภาพ ซึ่งต้องใช้เวลา สำหรับในสถานศึกษา จะต้องเน้นในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพจิต และจะต้องไม่สอนเรื่องการฆ่าตัวตายในโรงเรียน แต่ต้องสอนว่าจะทำอย่างไรให้สุขภาพจิตดี จะทำอย่างไรในการให้คำแนะนำเพื่อน


 
               อีกเรื่องคือการอบรมครูอาจารย์ ครูจะต้องรู้ว่าเด็กคนนี้ต้องส่งต่อนักจิตวิทยา คนนี้ต้องส่งจิตแพทย์ หรือให้คำปรึกษาเฉพาะคนนี้ครูให้การช่วยเหลือได้ หรือคนนี้ต้องเรียกผู้ปกครองเข้ามาคุย เพราะฉะนั้นครูอาจารย์ในโรงเรียนจึงมีความสำคัญมาก จึงต้องส่งเสริมให้มีความรู้ในเรื่องสุขภาพจิต  และเรื่องความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ส่วนของครอบครัว พ่อแม่จะต้องสอนให้ลูกมีความมั่นคงในอารมณ์ ค่อยสร้างอารมณ์ให้มั่นคงและค่อยๆ สอนเขาว่าทางออกของชีวิตมีมากมายไม่จำเป็นต้องจบด้วยตรงนี้  ทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเอง

            (ข้อมูลจาก บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด ซึ่งร่วมกับ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการรักลูกเบรนฟอรั่ม ครั้งที่ 2/2551 ในหัวข้อปัญหาโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในประเทศไทย)


ฆ่าตัวตาย-โรคซึมเศร้า ในสังคมไทย


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์