GMOs: ความจริง ความลวง และความสับสนในสังคมไทย(2)

GMOs: ความจริง ความลวง และความสับสนในสังคมไทย(2)


อาหารจาก GMOs ไม่ปลอดภัยจริงหรือ?

มีหลักฐานจำนวนมากจากหน่วยงานระดับนานาชาติหรือระดับชาติ (เช่น WHO, FAO, UK Royal Society, US EPA, US Academic of Sciences, etc.) ที่ยืนยันว่า อาหารจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมชนิดต่างๆ (อันที่จริงก็ทุกชนิดที่วางตลาดนั่นแหละครับ) มีความปลอดภัยเทียบเท่ากับอาหารทั่วไปที่เราทานกันอยู่ทุกวันนั่นเอง การอ้างความปลอดภัยดังกล่าวอาศัยหลักการที่เรียกว่า “ความเทียบเท่าอย่างยิ่ง (substantial equivalence)”

นั่นก็คือ หากเราตรวจลักษณะหลักๆ (สารอาหารและองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายๆ อย่าง) ของอาหารที่ได้จากพืชดัดแปลงพันธุกรรมเทียบกับอาหารที่ได้จากพืชชนิดเดียวกันที่ไม่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม แล้วพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็หมายความว่า อาหารดังกล่าวมีความปลอดภัยในระดับที่เทียบเท่ากันได้กับอาหารจากพืชทั่วๆ ไปนั่นเอง


แต่ทั้งนี้ อาหารทุกชนิดไม่ว่าจะมาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือไม่ ก็ล้วนแล้วต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยแบบต่างๆ เหมือนกันหมด ... ไม่มีข้อยกเว้นแต่อย่างใดทั้งสิ้น!


เพื่อความปลอดภัย นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า อาหารจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้น ควรจะมีการประเมินความปลอดภัยที่ยึดหลักแบบเป็นรายๆ ไป (case-by-case) และเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะระบุแบบเหมารวมว่า อาหารจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิดปลอดภัยหรืออันตราย โดยไม่ผ่านการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยกันเสียก่อน


จะขอตั้งข้อสังเกตตรงนี้นะครับว่า จะเห็นได้ว่า ... ไม่มีการนำเรื่องที่ว่าพืชหรือผลิตภัณฑ์นั้น จะสร้างขึ้นด้วยเทคนิคหรือเทคโนโลยีใดมาพิจารณา เนื่องจากอาศัยแนวคิดที่วา ตัวเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้าง GMOs (คือ พันธุวิศวกรรม) เองนั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย หรืออันตรายจากอาหารหรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้นแต่อย่างใด


ตัวอย่างในแง่ของความปลอดภัยก็คือ ในทางการแพทย์ได้พิสูจน์มาเป็นเวลาราว 30 ปีแล้วว่า วัคซีนและฮอร์โมนต่างๆ (รวมทั้งฮอร์โมนอินซูลินที่ใช้รักษาโรคเบาหวานด้วย) นั้น สามารถผลิตในแบคทีเรียและยีสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่ง และเมื่อผ่านกระบวนการเตรียมให้บริสุทธิ์ที่ดีพอ ก็มีความปลอดภัยอย่างดียิ่งเช่นกัน ... ดีจนขนาดที่ว่า ไม่เคยได้ยินข่าวเลยว่า มีผู้ป่วยได้รับอันตรายจากฮอร์โมนอินซูลินหรือฮอร์โมนอื่นๆ จากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เลย แม้ว่าจะมีการใช้ฮอร์โมนเหล่านี้นับสิบๆ หรือร้อยๆ ล้านครั้งต่อวันในผู้ป่วยเป็นโรคต่างๆ ทั่วโลก

GMOs: ความจริง ความลวง และความสับสนในสังคมไทย(2)


ทำไมต้องสร้างมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม?

สำหรับพืชที่โด่งดัง (และเป็นทั้งผู้ร้ายและพระเอกในคราวเดียวกัน) ขึ้นมาในคราวนี้คือมะละกอนั้น มีปัญหาใหญ่ ที่เกษตรกรหนักอกหนักใจกันตลอดมาคือ ไวรัสโรคใบด่างจุดวงแหวน (papaya ring spot virus) ซึ่งลดผลผลิตเป็นอย่างมาก และแพร่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

มีความพยายามที่จะใช้เทคนิคหลายๆ อย่างในการต่อสู้กับโรคจากไวรัสดังกล่าว แต่ก็ไม่พบว่ามีวิธีใดที่ใช้งานได้ดีเลย จนมีนักวิชาการที่สนใจจะทดสอบดูว่า หากใส่โปรตีนส่วนหนึ่งของไวรัสดังกล่าวเข้าไปในมะละกอแล้ว จะช่วยให้มะละกอต้านทานต่อโรคนี้มากขึ้นหรือไม่ (คล้ายๆ กับการ “ฉีดวัคซีน” โรคดังกล่าวให้มะละกอนั่นเอง) ซึ่งผลการทดลองเบื้องต้นที่นักวิจัยไทยทำไปแล้ว ก็พบว่า มะละกอดัดแปลงพันธุกรรมให้ผลผลิตมากกว่ามะละกอทั่วไปถึงราว 20 เท่า!

คำถามที่มักจะถามกันมากก็คือ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า การนำส่วนหนึ่งของไวรัสไปใส่ในมะละกอแล้วจะยังปลอดภัยต่อมนุษย์อยู่หรือเปล่า? คำตอบก็ตรงไปตรงมาคือ มีการนำมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวไปให้สัตว์ทดลองกินก็พบว่า สัตว์ดังกล่าวปกติดี นอกจากนี้ การทดสอบอื่นๆ ที่ใช้ทดสอบอาหารว่าปลอดภัยหรือไม่ ก็พบว่า มะละกอดังกล่าวไม่ได้แตกต่างไปจากมะละกอทั่วไปแต่อย่างใด

อันที่จริงตรรกะทางวิทยาศาสตร์ที่ง่ายๆ ก็คือ ทุกวันนี้ทุกคนที่กินมะละกอ (ที่คิดกันว่าปกติและปลอดภัยนั้น) แทบจะหนีไม่พ้นที่จะกินไวรัสดังกล่าวเข้าไปตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ที่ไม่ต้องกังวลกันนักเพราะว่า ไวรัสดังกล่าวมี “ความจำเพาะ” กับมะละกอและพืชที่ใกล้เคียงกันบางชนิดเท่านั้น

ขอขอบคุณสาระดีดี จาก วิชาการ.คอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์