การรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนโดยไม่ผ่าตัด

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนโดยไม่ผ่าตัด



     หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท นับว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกับคนวัยทำงานมากขึ้นทุกวัน เช่น พอเราเอี้ยวตัวยกของผิดจังหวะ ผิดท่า ก็มีอาการปวดหลัง ปวดตะโพก ฝืนทำบ่อย ๆ เข้าบ้างก็มีอาการชาไปที่ขา บางทีก็ไปที่เท้า นั่งทำงานก็นั่งได้ไม่นาน ยืนก็ไม่ได้นานเหมือนคนอื่น เดี๋ยวก็มีอาการชาหรือปวดร้าวไปที่ขา ทิ้งไว้นานเข้าเริ่มมีอาการเดินเอียง ๆ จนเพื่อนทักว่าทำไมเดินเป๋ พอลองยืนใส่กางเกงด้วยขาข้างเดียวก็ทำไม่ได้ ต้องนั่งใส่ เพราะไม่มีแรงจะทรงตัว  ไปหาหมอ เอกซเรย์แม่เหล็ก (MRI) หมอบอกว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน เป็นที่กระดูกสันหลังปล้องที่ 4 ที่ 5 ต้องผ่าตัดไม่อย่างนั้นเดี๋ยวขาจะลีบ เรื่องใหญ่ล่ะทีนี้ ทำยังไงดี

     ไม่ใช่เรื่องใหญ่แล้วสมัยนี้ ด้วยความเจริญทางการแพทย์ทำให้มีทางเลือกสำหรับการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอนรองกระดูกสันหลังที่เพิ่งจะเป็น หรือมีอาการมาไม่นาน การรักษาโดยใช้ยานับว่าเป็นการรักษาที่ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ยาลงไปยังตำแหน่งที่มีอาการอักเสบของเส้นประสาท อันเกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับ ก็เหมือนกับจะยิงลูกศร ก็ต้องให้แม่นยำ ให้ตรงตำแหน่ง ตรงใจกลางของบริเวณที่มีปัญหา  ฤทธิ์ของยาจึงจะมีประสิทธิภาพที่สูงสุด ได้ผลที่แน่ นอน จึงเป็นที่มาของการฉีดยาเข้าไปยังบริเวณหมอนรองกระดูกที่เคลื่อน และบริเวณที่มีอาการอักเสบ เรียกว่า การฉีด   ยาระงับการอักเสบเข้าไปที่ช่องสันหลัง (Epidural Spinal Injection) ที่ได้รับ การยอมรับกันทั่วโลก
   
จะว่ากันไปแล้วนับว่าเป็นการให้ทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจทำการผ่าตัดหมอนรองกระดูก วิธีการก็ไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด ไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล วิธีการนี้ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ก็เสร็จสมบูรณ์ หลังฉีดเสร็จก็สามารถกลับไปทำงาน ขับรถได้ตามปกติ ค่าใช้จ่ายก็ไม่สิ้นเปลืองเพราะไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล ไม่ต้องทำในห้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้เอกซเรย์ หรือฉีดสีให้ยุ่งยาก และไม่ต้องเสี่ยงต่อการแพ้สารทึบรังสี การตอบสนองต่อการรักษา หรือฉีดแล้วอาการปวดทุเลาลงมากถึง 70% การฉีดยาไม่ได้เจ็บปวดอะไรนัก เพราะใช้ยาชาเฉพาะที่ช่วยร่วมกับการรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด ปรับท่าทางการใช้หลังใหม่ ให้ถูกท่าทาง ฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อหลัง ให้มีการทำงานสัมพันธ์กัน ประกอบกับต้องกลับไปจัด Office ใหม่ ปรับที่นั่งให้เหมาะสม ไม่นั่งติดต่อกันนาน โดยไม่ได้ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบท เหล่านี้จะทำให้หมอนรองกระดูกอยู่รับใช้เราได้อีกนานเท่านาน

ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์จิระเดช  ตุงคะเศรณี ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์