กินเค็มเกิน...เพิ่มความดัน อาจถึงขั้นหัวใจวาย!!

กินเค็มเกิน...เพิ่มความดัน อาจถึงขั้นหัวใจวาย!!


อาหารรสชาติเค็มเป็นอีกรสชาติหนึ่งที่ใครหลาย ๆ คนชื่นชอบที่จะรับประทาน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าความเค็มนั้นมีผลเสียต่อสุขภาพมากเพียงใด โดยเฉพาะอาหารไทยบ้านเรามีส่วนผสมของเกลือในปริมาณที่สูง เช่น ของแห้ง ของหมักดอง และขนมขบเคี้ยว ถ้าบริโภคมากเกินไปนอกจากจะทำให้เป็นโรคไตแล้วยังก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงที่มีผลร้ายตามมาคือ เป็นโรคหัวใจและถึงขั้นหัวใจวายตายได้อีกด้วย

ความดันโลหิตมีความสัมพันธ์กับการกินเค็ม ถ้าเรากินเค็มมากจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายถึงผลเสียของการรับประทานอาหารรสชาติเค็มและบอกว่า อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้มีทั้งเค็มจัด หวานจัด และมัน จัด ซึ่งเป็นนิสัยของคนไทยที่ชอบรับประทานอาหารรสจัดกัน อยู่แล้ว

“ผมมองว่ารสเค็มมีปัจจัยสำคัญ เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าคนประเทศในแถบยุโรปชอบรับประทานอาหารประเภททอด มีไขมันสูง และใส่เกลือมาก โดยเฉพาะในมันฝรั่งทอด รวมทั้งอาหารประเภทอื่น ๆ จึงทำให้เกิดโรคความดันและไขมันอุดตัน แต่คนประเทศญี่ปุ่นมีพฤติกรรมการกินที่แตกต่างออกไปคือจะดูแลสุขภาพมากและเลือกกินเนื้อปลา หรือสาหร่ายทะเลที่ไม่มีไขมัน แต่คนญี่ปุ่นก็ยังมีสถิติเป็นโรคความดันอยู่ดี นั่นเป็นเพราะประเทศเขายังคงชอบรับประทานอาหารรสเค็มที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงอยู่นั่นเอง”

จากการคาดการณ์พบว่าใน ปี 2553 โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดจะเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของการตายทั้งหมดทั่วโลก

นอกจากนี้ทุก ๆ ปี ถ้ามองในภาพรวมประชากรโลกอย่างน้อย 20 ล้านคน จะเป็นโรคความดันซ่อนเร้นเหมือนฆาตกรเงียบ และโรคหลอดเลือดหัวใจ และอัมพาตสมอง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อไปอีกเป็นระยะ เวลานาน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงและทำงานได้น้อยลง โรคความดันโลหิตสูง เราอาจจะมองว่าไม่รุนแรงไม่ถึงขึ้นเสียชีวิต มีอาการเบื้องต้นแค่ปวดศีรษะช่วงบ่าย วิงเวียนศีรษะบ้าง แต่ทราบหรือไม่ว่าหัวใจกับความดันมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง โดยทั่วไปความดันโลหิตสูงตัวบนไม่ควร เกิน 140 มม.ปรอทและความดันล่างไม่ควรเกิน 90 มม. ปรอท ไม่ว่าจะอายุเท่าใด ถ้าต้องการทราบว่าความดันโลหิตตัวบนปกติแต่ละอายุ อาจคำนวณได้โดย
ใช้อายุจริงบวกกับ 100 จะเท่ากับความดันที่เหมาะสมของเรา

ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการมีความดันโลหิตสูง คือ สายตาเสื่อม เนื่อง จากหลอดเลือดในตาอาจตีบตันหรือแตกมีการตกเลือดในตาหรือบวมในชั้นตาที่รับภาพ

อาการทางสมอง
หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก มีผลทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะรุนแรงอาจชักไม่รู้ตัวและเป็นอัมพาตได้ถ้ารักษาไม่ทัน หัวใจล้มเหลว จากอาการที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น จึงทำให้หัวใจพองโต เกิดอาการเหนื่อยหายใจลำบาก และยังทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ รวมถึง เส้นเลือดแดงใหญ่ โป่งพองและอาจแตกได้ ความดันโลหิตสูงส่งผลต่อหัวใจอย่างไร นายแพทย์สุขุมให้ความรู้เพิ่มเติมว่า มีผล ทำให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดการแข็งตัวและตีบแคบลง ส่งผลให้เสียหายอย่างรุนแรงต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจต้องบีบตัวแรงและทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ โดยหัวใจจะมีขนาดโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจวายและเสีย ชีวิตในที่สุด

แต่หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและหันมาดูแลหัวใจให้มากขึ้นก็จะไม่ต้องเสี่ยงกับโรคดังกล่าว เช่น ลดกินเค็มลง ซึ่งปกติควรรับประทานเกลืออย่างน้อย 6 กรัมต่อวันก็ลดลงเหลือเพียง 3 กรัมต่อวัน

โดยเฉพาะพริกน้ำปลาที่ชอบกันจนติดเป็นนิสัยต้องเหยาะใส่ข้าวเปล่าก็เลิกซะ เพราะในกับข้าวต่าง ๆ มีการปรุงรสด้วยน้ำปลาอยู่แล้ว นอกจากนี้ควรบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำหรือไม่มีไขมันเลยยิ่งดี รับประทานธัญพืชให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา  การดูแลหัวใจนั้นสำคัญเช่นกัน นพ.สุขุม แนะนำว่า ทางโรงพยาบาลเป็นสถานรักษาผู้ป่วยก็จริงแต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้นเราต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นด้วยจึงมีแนวคิดทำ “โครงการคนรักษ์หัวใจให้พอเพียง” ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทาน แก่ปวงชนชาวไทย เป็นปรัชญาที่สอนให้เราดำรงอยู่ด้วยสติ มีเหตุผล รู้จักตัวเอง รู้จักพอประมาณ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ป้องกันไว้ดีกว่ามานั่งแก้ไข

โครงการนี้มีการจัดทำเอกสารแผ่นพับ และจัดสาธิตการดูแลหัวใจและปรับตามฐานต่าง ๆ คือ

1. ฐาน “ไม่ตีบ ไม่ตันรับประกันปลอด ภัย”
คือ จัดทำการตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจเช็กระดับความดันโลหิต

2. ฐาน “รู้ทันบุหรี่ ปอดดี หัวใจแข็งแรง”
จัดทำคลินิกอดบุหรี่ ปรึกษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ บริการน้ำยาอดบุหรี่ ประเมินสมรรถภาพปอด

3. ฐาน “สลัดไขมันออกจากตัว จะมัวรอช้าอยู่ทำไม”
เช่น วัดแรงบีบมือ ความอ่อนตัว แรงเหยียดขา ประเมินปริมาณไขมันใต้ผิวหนัง หาค่าดัชนีมวลกาย วัดรอบเอวหาความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ แนะนำการออกกำลังกาย และ

4. ฐาน “อาหารปลอดภัย อาหารไร้ไขมัน”
มีการยกตัวอย่างอาหาร ปริมาณไขมันและการสาธิตทำอาหาร ทั้งหมดนี้เราจัดทำให้ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์

ถ้าเรารู้จักดูแลหัวใจ หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำรวมทั้งบริโภคอาหารให้ถูกหลักอนามัย ไม่กินเค็มมากเกินไป หวานมากเกินไป หรือมันมากเกินไป รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะไม่มีคำว่า “สายเกินไป” สำหรับการมีสุขภาพร่างกายที่ดีและแข็งแรง.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์