ดาวเคราะห์เหลือเพียง 8 ดวงแล้ว

ดาวเคราะห์เหลือเพียง 8 ดวงแล้ว


เอเจนซี/บีบีซีนิวส์/เอพี/ไอเอยู – นักดาราศาสตร์ลงมติถอด “พลูโต” ออกจากสถานภาพ “ดาวเคราะห์” และจัดชั้นให้เป็น “ดาวเคราะห์แคระ” ส่งผลให้ต้องปรับตำราดาราศาสตร์กันใหม่ทั้งโลก ต่อไปนี้ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์เพียงแค่ 8 ดวงเท่านั้น อีกทั้งยังมีการนิยามและจัดประเภทวัตถุบนท้องฟ้าใหม่

ที่ประชุมสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือไอเอยู (International Astronomical Union's : IAU) ซึ่งมีนักดาราศาสตร์จาก 75 ประเทศร่วมประชุมอยู่ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเชค ได้ลงมติถอดยศ “ดาวพลูโต” ออกจาก หมู่ “ดาวเคราะห์ชั้นเอก” แห่งระบบสุริยะ เมื่อวานนี้ (24 ส.ค.) โดยได้ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,500 คนได้โหวตด้วยการยกบัตรสีเหลืองเพื่อแสดงความเห็นด้วยในประเด็นต่างๆ หลังจากถกถึงนิยามของดาวเคราะห์ และสถานะของ “พลูโต” กันอย่างถึงพริกถึงขิงมานานกว่าสัปดาห์

“พูลโต” ถูกค้นพบโดยไคลด์ ทอมบอกจ์ (Clyde Tombaugh) แห่งหอดูดาวโลเวล รัฐอริโซนา (Lowell Observatory in Flagstaff, Arizona) ในปี 1930 และได้รับการพิจารณาให้เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะจักรวาล นับเป็นดาวเคราะห์ในกลุ่มที่อยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุด แต่ตลอดเวลาก็ได้รับการถกเถียงว่าดาวดวงนี้เหมาะที่จะเป็นดาวเคราะห์หรือไม่

เพราะ “พลูโต” มีลักษณะต่างจากดาวเคราะห์อีก 8 ดวงที่อยู่ในระบบมาก ไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์และมีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์อีก 8 ดวง

และตั้งแต่หลังช่วงปี 1990 เป็นต้นมา นักดาราศาสตร์ก็เริ่มค้นพบวัตถุที่มีขนาดใกล้เคียงกับพลูโตที่แถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) วงแหวนวัตถุน้ำแข็งบริเวณดาวเคราะห์ชั้นนอก ทำให้สถานภาพของพลูโตสั่นคลอนเข้าไปอีก

ก่อนจะมีการโหวตตัดสินชะตากรรมของดาวพลูโตในครั้งนี้ นักดาราศาสตร์ที่มาร่วมประชุมตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ร่วมกันนิยามความหมายของ “ดาวเคราะห์” กันใหม่ให้ชัดเจน โดยได้ข้อสรุปว่า “ดาวเคราะห์” (planet) ต้องมีคุณสมบัติ คือ 1.เป็นวัตถุบนท้องฟ้าที่โคจรรอบดาวฤกษ์ แต่ตัวเองต้องไม่ใช่ดาวฤกษ์ 2.มีมวลมากพอที่จะมีแรงโน้มถ่วงดึงดูดตัวเองให้อยู่ในสภาวะสมดุลอุทกสถิต (hydrostatic equilibrium) และ 3. มีวงโคจรที่ชัดเจนและสอดคล้องกับดาวข้างเคียง

เมื่อไอเอยูนิยามลักษณะดาวเคราะห์ออกมาเช่นนี้ก็ทำให้ “พลูโต” หลุดออกจากข่ายทันที เพราะมีวงโคจรเป็นวงรีที่ทับซ้อนกับดาวเนปจูน ส่วนดาวเคราะห์ที่เหลืออีก 8 ดวง อันได้แก่ ดาวพุธ, ดาวศุกร์, ดาวโลก, ดาวอังคาร, ดาวพฤหัส, ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน นั้นให้ระบุลงไปด้วยว่า เป็น “ดาวเคราะห์ชั้นเอก” (classical planet)

นอกจากนี้ ก็มีการนิยามประเภทของดาวขึ้นมาใหม่อีกนั่นคือ “ดาวเคราะห์แคระ” (dwarf planets) ซึ่งคล้าย กับดาวเคราะห์น้อย (minor planets) ดาวเคราะห์แคระมีคุณสมบัติคล้ายๆ กับดาวเคราะห์ แต่ต่างกันตรงที่วงโคจรนั้นสามารถทับซ้อนกับดาวใกล้เคียงได้และไม่ได้เป็นจันทร์บริวารของดาวใด

อีกทั้งยังมีการนิยามถึงวัตถุขนาดเล็กที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยระบุให้เป็น “วัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ” (Small Solar System Bodies) ซึ่งในชั้นนี้หมายรวมถึงดาวเคราะห์น้อย (asteroids), ดาวหาง (comets), วัตถุขนาดใหญ่นอกวงโคจรของดาวเนปจูน (Trans-Neptunian Objects-TNO) และวัตถุขนาดเล็กอื่นๆ


ดาวเคราะห์เหลือเพียง 8 ดวงแล้ว


ด้วยนิยามนี้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่าคงจะมีการค้นพบดาวเคราะห์แคระเพิ่มขึ้นอีกมากมายภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

แต่ ณ ปัจจุบันนับจากนี้ไปตำราวิชาดาราศาสตร์ทั้งในโรงเรียนและระดับอุดมศึกษาก็จะต้องลบชื่อดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะออกไป ส่วนพลูโตก็กลายเป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ

นอกจาก สถานภาพของ “พลูโต” แล้ว ในการประชุม ไอเอยูได้เสนอญัตติที่จะเลื่อนขั้นดาวอีก 3 ดวงให้เข้าข่าย “ดาวเคราะห์” ซึ่งดาวทั้ง 3 ได้แก่ ดาวเคราะห์น้อยซีเรส (Ceres), ดวงจันทร์ชารอน (Charon) จันทร์บริวารดวงใหญ่ที่สุดของพลูโตและ 2003 ยูบี313 (2003 UB313) หรือซีนา ที่มีขนาดใหญ่กว่าพลูโต แต่ที่ประชุมยังคงคัดค้าน

โรบิน แคชโพล (Robin Catchpole) สถาบันดาราศาสตร์ในแคมบริดจ์ (Institute of Astronomy in Cambridge) สหราชอาณาจักร เผยความคิดส่วนตัวว่า ควรจะปล่อยพลูโตให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ เขามีโอกาสพบไคลด์ (เสียชีวิตไปเมื่อปี 1997) และรู้สึกดีที่ได้จับมือกับผู้ที่ค้นพบดาวเคราะห์

“แต่เมื่อไอเอยูนำประเด็นดาวเคราะห์ดวงใหม่หลายดวงมาเสนอ ผมก็คัดค้าน มันจะทำให้เกิดความสับสนเข้าไปอีก ทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้คือถ้าจะลดระดับพลูโต ก็ปล่อยให้ดาวเคราะห์หลักยังคงเป็นไปตามเดิม นับเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่า จะเพิ่มดาวเคราะห์เข้าไปอีก” แคชโพลกล่าว

ทางด้านหลุยส์ ฟรีดแมน (Louis Friedman) ผู้อำนวยการบริหารสมาคมระบบดาวเคราะห์ ในแคลิฟอร์เนีย (Planetary Society in California) แสดงความเห็นว่า การแบ่งชั้นหรือจัดลำดับดาวต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ ทั้งพลูโตและวัตถุอื่นๆ ในระบบสุริยะล้วนเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ มนุษย์เราต้องพยายามสำรวจและทำความเข้าใจ

แต่ไม่ว่าพลูโตจะเป็นวัตถุบนท้องฟ้าประเภทไหนก็ตาม ยานอวกาศไร้มนุษย์ “นิว ฮอไรซอนส์” (New Horizons) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ซึ่งกำลังเดินทางอยู่ในอวกาศมีกำหนดถึงดาวพลูโตและแถบไคเปอร์ในปี 2015 เพื่อเก็บข้อมูลอดีตดาวเคราะห์และวัตถุอื่นในระบบสุริยะ

ขอขอบคุณ
eduzones.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์