อาชีพนักวิทยาศาสตร์สำคัญไฉน

อาชีพนักวิทยาศาสตร์สำคัญไฉน


เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ

มักจะเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับประเทศไทย แม้จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่การพัฒนาประเทศเท่าที่ผ่านมายังดำเนินไปไม่ได้เต็มที่ ทั้งนี้ เพราะขาดบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูงเป็นพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะทำการวิจัยศึกษา ค้นคว้า ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หรือทำการประดิษฐ์ คิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ หรือประยุกต์เทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมาจากต่างประเทศให้เหมาะสมกับสภาพการพัฒนาของประเทศ

แต่ทำไมคนไทยยังไม่รู้จักอาชีพนี้ดีเท่าที่ควรทั้งๆที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญ ส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพนี้อย่างจริงจัง แต่มีโครงการหนึ่งที่รัฐบาลสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้ให้ความสำคัญในการผลิตนักวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์โดยอนุมัติให้ดำเนินการโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือเรียกว่าโครงการ พสวท.ซึ่งปัจจุบันได้มีผลิตผลเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในหน่วยงานต่างๆแล้วจำนวน 290 คนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เหล่านี้ได้ให้ข้อคิดเห็นและทัศนคติต่ออาชีพนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยที่น่าสนใจ

อย่าง ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ นักวิจัย จาก NECTEC ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าอาชีพนักวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่สำคัญมากกับอนาคตของประเทศไทย

ที่ผ่านมาประเทศไทยเรามักจะซื้อเทคโนโลยีของต่างชาติเข้ามาประยุกต์ใช้งานซึ่งต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นจำนวนมากในปัจจุบันนี้ ประเทศเราเข้าสู่ยุควิกฤตทางเศรษฐกิจ เราต้องร่วมมือกันประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งประหยัดงบประมาณที่จะสั่งซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาใช้ด้วยดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญมากกับประเทศในยุค IMF ถึงเวลาแล้วที่เราคนไทยต้องหันหน้ามาพัฒนาเทคโนโลยีในสาขาต่างๆเพื่อใช้ภายในประเทศเราเอง และรวมถึงพัฒนาเพื่อการส่งออกด้วย

ส่วน ดร.ไพศาล เสตสุวรรณ นักวิจัย จาก MTEC ได้ให้มุมมองอีกด้านหนึ่งอย่างน่าสนใจว่านักวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่ถูกตามใจ

จนทำให้อาชีพนี้ในเมืองไทยไม่รุ่งเรือง เป็นอาชีพที่อิสระ แม้แต่ในเรื่องที่จะทำการวิจัย (โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย) และไม่มีการตรวจวัดผลงานที่ชัดเจน และขาดวามเข้มงวด ทำให้ประชาชนและแม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่มีความเชื่อมั่น หรือศรัทธาต่อผลงาน เนื่องจากผลงานวิจัยยากที่จะทำเพียงชิ้นเดียว แล้วจะนำไปสู่การใช้งานได้ หากจะทำให้เกิดผลกระทบในช่วงเวลาที่ไม่ยาวนาน จึงควรจะมีการแบ่งงานและทำงานร่วมกันจากนักวิจัยหลายๆ ด้าน

อาชีพนักวิทยาศาสตร์สำคัญไฉน


แต่ในประเทศไทยมีแต่การแบ่งแยกทั้งที่มีทรัพยากรอยู่น้อย และไม่มีผู้นำทางวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถมีอำนาจที่จะกำหนดแนวทางและแบ่งงานวิจัย

เพื่อที่จะให้เกิดการนำทรัพยากรบุคคล และเครื่องมือมาใช้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ ความเชื่อที่มีมาจากรูปแบบของประเทศอเมริกาในรูปแบบที่ให้อิสระ ไม่สามารถนำมาใช้กับประเทศที่มีขนาดเล็กกว่ามาก และมีทรัพยากรน้อยกว่ามากเช่นกัน ปัจจุบันประเทศที่มีขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จต้องมาจากการวางแผนและการจัดการโดยรวมที่ดี หรือไม่ก็มีอดีตการทำวิจัยที่ยาวนานมาก ดังนั้น แบบอย่างที่เราลอกมาจากประเทศที่เจริญแล้ว เป็นการลอกมาโดยไม่ได้ดูพื้นฐานที่แท้จริงเปรียบเทียบทั้งหมดนี้ทำให้อาชีพนักวิทยาศาสตร์ไม่รุ่งเรืองในเมืองไทย ทำให้นักวิทยาศาสตร์เก่งๆ หลายท่านที่มีโอกาสไปทำงานต่างประเทศ และประสบความสำเร็จในผลงาน ซึ่งไม่สามารถทำได้เช่นนั้นในประเทศไทย ทั้งที่ก็มีเงินทุนและเครื่องมือวิจัยที่ใช้ได้

ส่วนมุมมองของคนมหาวิทยาลัยอย่าง ดร.วิภาวี ภูวนารถนุรักษ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าอาชีพนักวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่ต้องมีความตั้งมั่น อยู่ในอุดมการณ์ ต้องมีความอดทน และเสียสละเป็นอย่างยิ่ง ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ จัดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตนเองมีความภูมิใจที่จะได้มีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์นี้เป็นอย่างมาก

นักวิจัย จากสำนักสัตว์ทดลอง มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ดรุณี บุรีภักดี เห็นว่าเป็นอาชีพที่พัฒนาความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติและเทคโนโลยี ซึ่งจะทำประโยชน์อย่างมหาศาลให้แก่ กลุ่มคนหรือสังคมที่ให้การสนับสนุนการใช้ความสามารถและความสนใจทางวิทยาศาสตร์ของผู้ประกอบอาชีพนี้อย่างเต็มที่

และมุมมองของ ดร.ภควรรณ หนองขุ่นสาร จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังคงเป็นอาชีพที่ได้รับความเข้าใจจากผู้คนทั่วไปถึงความสำคัญไม่เพียงพอ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์พื้นฐานนอกจากนั้น ในปัจจุบันยังคงไม่เอื้อให้คนยุคหนึ่งสามารถทุ่มเทให้กับงานด้านนี้

สำหรับ ดร.สุธี วัฒนศิริเวช นักวิจัยจาก MTEC อาชีพนักวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่ยังไม่เป็นที่รู้จักและยอมรับมากนักในประเทศไทยขณะนี้ แต่มีความสำคัญและท้าทายมาก นักวิทยาศาสตร์ต้องมีใจรักและสนุกกับงาน และที่สำคัญต้องมีใจ ”เมตตา” คนรุ่นใหม่ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องช่วยกันสร้างผลงานให้สังคมและความรู้พื้นฐานให้แน่น วิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจึงจะมีโอกาสพัฒนาไปในทางที่ดีได้ต่อไป


จากทัศนคติและมุมมองของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ เป็นอาชีพที่ท้าทายความสามารถ

เป็นอาชีพที่เห็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าทำให้มีคุณค่า เป็นอาชีพที่เห็นสิ่งที่มีประโยชน์น้อยทำให้มีประโยชน์มาก เป็นอาชีพที่สร้างสรรค์ทรัพยากรให้มีคุณค่า เป็นอาชีพที่คนทั่วไปมองไม่เห็นแต่นักวิทยาสาสตร์มองเห็นหรืออาจจะเห็นก่อนใคร เป็นอาชีพที่มองเห็นจุดของแสงสว่างก่อนใครในท่ามกลางแห่งความมืด เป็นอาชีพที่มีความอิสระเชิงความคิด เป็นอาชีพที่สร้างสิ่งที่เป็นองค์ความรู้สู่มวลชนอย่างไม่มีขอบเขตและเป็นอาชีพที่สร้างสรรค์โลกเพื่อความเป็นมวลแห่งอารยธรรม

ดังนั้นอาชีพนักวิทยาศาสตร์จึงเป็นอาชีพที่รอคอยคนดีและมีความสามารถสูงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาชาติไทยและสร้างสรรค์โลกที่ท้าทายใบนี้ให้น่าอยู่ตลอดไป


พรชัย อินทร์ฉาย

นักวิชาการ

สาขา พสวท. และ สควค. สสวท.

ขอขอบคุณสาระดีดีจาก วิชาการ.คอม ค่ะ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์