เตือนมะเร็งต่อมน้ำเหลือง กลับมาเป็นซ้ำแถมรุนแรง


เตือนมะเร็งต่อมน้ำเหลือง กลับมาเป็นซ้ำแถมรุนแรง


ปัจจุบันหากจะตั้งข้อสงสัยว่า...โรคอะไรน่ากลัวที่สุด? คำตอบที่จะได้ยินว่า "โรคมะเร็ง" คงจะเป็นหนึ่งในโรคที่หลายท่านกลัวมากที่สุด เพราะเจ้าเซลล์ร้ายนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย โดย 1 ใน 6 ของรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย คือ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยจนติดอันดับ

ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย และผอ.รพ.เซนต์หลุยส์ บอกให้ฟังว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองปัจจุบันถือว่าเป็นมะเร็งที่พบได้ทุกเพศทุกวัย ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญและตื่นตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin lymphoma (NHL) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin disease (HD) โดยในประเทศไทยพบชนิด NHL บ่อยที่สุด

เมื่อถามว่าโรคนี้พบบ่อยแค่ไหนในประเทศไทย สถานการณ์ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปีละกว่า 3,000 ราย หรือราว 8 ราย/วัน ซึ่งจำนวนสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 60-70 ปี ทั้งนี้อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด นอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin lymphoma) หรือ NHL จะสูงขึ้นตามอายุ และปัจจุบันพบได้ในเด็ก หรือกลุ่มอายุน้อยมากขึ้นด้วย แต่เพศชายจะพบบ่อยกว่าเพศหญิง ขณะที่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด ฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) หรือ HD จะพบบ่อยในช่วงอายุ 20-30 ปี


เตือนมะเร็งต่อมน้ำเหลือง กลับมาเป็นซ้ำแถมรุนแรง


ด้วยอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก ซึ่งตรวจพบผู้ป่วยใหม่ถึงปีละ 600,000 ราย ทั่วโลกจึงยกให้วันที่ 15 ก.ย. ของทุกปี ตรงกับ "วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก" เพื่อสร้างความตระหนักและหาทางป้องกันรักษา แต่ถึงแม้จะพบมากก็เป็นโรคมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ โดยยาเคมีบำบัดร่วมกับยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี การฉายแสง และการปลูกถ่ายไขกระดูก (สเต็มเซลล์) แต่อย่างไรก็ตามมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด และยาแอนติบอดีได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น

 

 

โดยในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของโรคในทุกรายได้อย่างชัดเจน แต่พบมีความสัมพันธ์กับหลายภาวะ ได้แก่ การติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ติดเชื้อไวรัส EBV (Epstein-Barr Virus) หรือภาวะพร่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรค SLE และการสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง แต่ปัญหาของผู้ป่วยในระยะแรก คือ "คนไข้เขาจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนะ" ซึ่งเหลุผลที่เป็นแบบนั้น เพราะอาการของโรคจะเหมือนอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น การติดเชื้อ ภูมิแพ้ เหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นไข้ และน้ำหนักลดผิดปกติ

 

สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 4 ระยะ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดถึงร้อยละ 70-90% ส่วนผู้ป่วยที่รับการรักษาในระยะที่ 2-4 มีโอกาสหายขาดร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ โดย 60% ตอบสนองกับการรักษามาตรฐาน อีกกว่า 40% ไม่ตอบสนองกับการรักษา ซึ่งแบ่งเป็น 15% ที่ดื้อต่อการรักษา และอีก 25% ที่จะกลับมาเป็นซ้ำภายในระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งจะมีอาการของโรคมากขึ้น เกิดภาวะดื้อยาไม่ตอบสนองกับการรักษา

 

 

จุดนี้เองทำให้ปัจจุบันในคนไข้กลุ่มที่ไม่ตอบสนองการรักษา ได้มีวิธีการรักษารวมไปถึงยาที่ได้รับการพัฒนา เข้ามาเป็นทางเลือกให้คนไข้กลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลการรักษาได้ผลดีในระดับที่น่าพอใจ และหลังจบการรักษาผู้ป่วยควรดูและตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญอย่าชะล่าใจไม่มาพบหมอตามนัด เพราะโรคมะเร็งอาจจะยังไม่ลืมผู้ป่วย

 

แต่อย่างไรก็ดี เราสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ด้วยตัวเอง เพราะต่อมน้ำเหลืองที่คลำได้ง่ายมักพบบ่อยที่คอ รักแร้ เต้านม หรือขาหนีบ นอกจากนี้ยังมีอวัยวะอื่น ๆ ที่จัดอยู่ในระบบน้ำเหลืองอีก ได้แก่ ต่อมทอนซิล ม้าม และต่อมไทมัส เมื่อต่อมน้ำเหลืองทำงานผิดปกติไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม มักจะเกิดปัญหาตามมา "ภูมิคุ้มกันต่ำลง" และจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยก้อนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นมักจะไม่เจ็บ

ฉะนั้นความรู้ทั้งหมดในสัปดาห์นี้ที่นำมาบอกต่อกัน ก็เพื่อให้คนไข้ทุกคนมีคุณภาพชีวิต และแรงบันดาลใจที่ดี ก้าวข้ามผ่านโรคร้ายไปให้ได้ และรู้สึกว่าถึงจะป่วยแต่ก็ป่วยอย่างมีความสุข


เตือนมะเร็งต่อมน้ำเหลือง กลับมาเป็นซ้ำแถมรุนแรง


เตือนมะเร็งต่อมน้ำเหลือง กลับมาเป็นซ้ำแถมรุนแรง

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์