เมื่อ ยา กับ อาหาร ไม่ถูกกัน

ภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ตภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ต


เมื่อกินยาที่ซื้อจากเภสัชกร ตามร้านขายยา หรือที่แพทย์สั่งให้จากโรงพยาบาล คงไม่ต้องห่วงเรื่องเวลากินยาเพราะส่วนใหญ่ระบุไว้ที่หน้าซอง หรือฉลากชัดเจนอยู่แล้ว

ยิ่งเดี๋ยวนี้สถาบันการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เวลารับยาจากห้องยาจะมีเภสัชกรคอยแนะนำวิธีกินยาให้คุณด้วย อันนี้เป็นเรื่องของเวลากินที่จะทำให้ยาได้ประสิทธิผลมากที่สุด และเป็นให้ผลข้างเคียงน้อยที่สุด ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไร แต่คุณเคยฉุกใจคิดบ้างไหมถึงการกินยากับอาหาร ว่ายาบางอย่างนั้นไม่ถูกกับอาหารบางชนิด กินยาพร้อมกับน้ำส้ม หรือนม หรือน้ำอัดลมได้หรือไม่ ทั้งนี้ยาหลายๆ ตัวออกฤทธิ์ได้แตกต่างกัน ซึ่งอาหารที่เรากินเข้าไปอาจมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของยาก็เป็นไปได้เหมือนกัน

แน่นอนที่สุดต้องมียาบางชนิดไม่ถูกกับอาหารบางประเภทเป็นแน่ ปฏิกิริยาของยากับอาหารจะแตกต่างกันไป

ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และรูปแบบของยาที่กิน (เช่น ยาเม็ด ยาน้ำ หรืออื่นๆ) โดยเรื่องของอายุ เพศ น้ำหนักตัว ภาวะโภชนาการ และโรคประจำตัว ของคนที่กินเข้ามาเกี่ยวพันด้วยเหมือนกัน ดังนั้นปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยากับอาหารจึงสามารถเป็นไปได้หลายอย่าง ทั้งนี้ถ้าคุณรู้ว่ายาที่คุณกินอยู่มีปฏิกิริยากับอาหาร ก็ควรที่จะปรับอาหารให้เข้ากับยา เพื่อให้ได้รับผลการรักษาที่ดีที่สุด เกิดผลข้างเคียงหรือความเสี่ยงน้อยที่สุด
 

วิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันการเกิดปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยากับอาหาร คืออย่างแรกหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร ว่ายาตัวนี้ที่ให้มาควรระวังอาหารชนิดไหน

ดังนั้นคุณก็ควรจะเป็นผู้ถามเสียเอง เพราะบางครั้งหมอหรือเภสัชกรก็อาจจะลืมนึกไปเหมือนกัน และหากคุณได้คำตอบว่าควรเลี่ยงหรือควรงดอาหารชนิดไหน ก็ควรจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หรือถ้าไม่มีข้อมูลด้วยกันทั้งสองฝ่าย วิธีที่ง่าย และเป็นไปได้ในการป้องกันการเกิดปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยากับอาหาร คือ กินยากับน้ำเปล่าให้ติดเป็นนิสัย เพราะแม้แต่กาแฟ หรือน้ำผลไม้ก็อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อยาได้ และดื่มน้ำให้มากกว่าปกติสักหน่อย


ภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ตภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ต


ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว

การที่เราจะทราบว่ายาชนิดไหนไม่ถูกกับอาหารประเภทใดนั้น ถ้าอ่านหรือจำเพียงชื่อยาคงไม่ถูกต้องนัก ที่ถูกคือควรทราบว่ายาที่คุณกินนั้นมาจากตัวยาอะไร มีชื่อสามัญทางยาว่าอะไร โดยดูได้จากฉลากยา หรือที่ข้างกล่องยา หากได้รับยาจากคลินิก หรือโรงพยาบาลแล้วเขาไม่ได้ระบุชื่อสามัญทางยามาให้คุณก็มีสิทธิ์ที่จะขอและถามได้ ไม่มียาหรืออาหารชนิดใดที่มีแนวโน้มต่อการเกิดปฏิกิริยาต่อกันมากกว่าชนิดอื่น ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนที่จะแบ่งว่ายากลุ่มไหนมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาต่ออาหารได้มากกว่า ในความเป็นจริงแล้ว ยาบางตัวในกลุ่มสามารถเกิดปฏิกิริยากับอาหารได้ แต่ยาตัวอื่นในกลุ่มที่ใช้รักษาโรคเดียวกันอาจจะไม่เกิดปฏิกิริยาต่ออาหารเลยก็ได้ นอกจากนี้ยาชนิดเดียวกันแต่รูปแบบยาต่างกัน พบว่าจะมีปฏิกิริยาต่ออาหารได้แตกต่างกันด้วย


ตัวอย่างปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยากับอาหารที่พบได้บ่อย

ผู้ที่กินยายับยั้งการสร้างเอนไซม์ Monoamine oxidase (MAO) จะมีข้อจำกัดด้านอาหารหลายอย่าง ซึ่งการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะช่วยลดอันตรายที่เกิดจากปฏิกิริยาต่ออาหารได้ โดยความดันโลหิตอาจเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็วอันนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ถ้ามีการกินอาหารที่มีไธรามีน (tyramine) สูง ได้แก่ เนย โคล่า เนื้อรมควัน มิโซ (ถั่วเหลืองหมัก ที่ใช้ทำซุปในอาหารญี่ปุ่น) และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ร่วมกับยายับยั้งการสร้างเอนไซม์ MAO ยารักษาโรคหอบหืด theophylline ไม่ควรกินร่วมกับอาหารที่ย่างด้วยถ่าน เนื่องจากจะไปเพิ่ม เมตาบอริซึ่มของยา ทำให้ระดับของยาในเลือดลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาและควบคุมอาการหอบหืดลดลงด้วย


ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด warfarin ไม่ควรกินร่วมกับอาหารที่มีวิตามินเคสูง

เช่น ผักใบเขียว ตัวอย่างเช่น ผักขม บร็อกโคลี่ ชาเขียว หรือกะหล่ำปลี เป็นต้น ตับหมู และตับวัว เนื่องจากวิตามินเคจะเพิ่มการแข็งตัวของเลือด ซึ่งจะต้านฤทธิ์กัน ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง เช่นเดียวกันที่ไม่ควรกินยาแก้อักเสบกับนม ที่จะต้านฤทธิ์กัน หรือที่อันตรายคือ ห้ามกินยานอนหลับกับแอลกอฮอล์ เพราะตัวยาจะตีกันเป็นอันตรายได้


เวลาในการกินยา

ยาที่กินควรกินตามเวลาที่แพทย์ หรือเภสัชกรแนะนำ และอย่าลืมอ่านรายละเอียดที่ฉลาก หรือข้างกล่องยาด้วย เนื่องจากอาหารแม้ในปริมาณน้อย ก็สามารถมีผลกระทบต่อฤทธิ์ของยาบางชนิดได้ โดยอาจจะเพิ่ม ลด หรือทำให้ออกฤทธิ์ช้าลง ตัวอย่างเช่น การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของยารักษาวัณโรค isoniazid (INH) และ rifampicin จะช้าลงหรือลดลง ถ้ามีอาหารอยู่ด้วย ดังนั้นจึงควรกินตอนท้องว่าง นั่นคือ กินก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง ในทางกลับกัน การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของยายับยั้งเชื้อรา griseofulvin และยายับยั้งเชื้อแบคทีเรีย nitrofurantoin จะเพิ่มขึ้นถ้ามีอาหารอยู่ด้วย

ตามปกติยาก่อนอาหารควรกินล่วงหน้าก่อนถึงมื้ออาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง และยาหลังอาหารควรกินหลังอาหาร 1 ชั่วโมง แต่ก็ยังมียาอีกหลายชนิดที่ระบุว่าต้องกินหลังอาหารทันที หรือระหว่างอาหาร คุณควรใส่ใจในการกินยาให้มากขึ้นด้วย


ถ้ารู้สึกผิดปกติหลังกินยา

ควรไปหาหมอทันที ถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยา เพราะอาจมีหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ เช่น คุณเองแพ้ยา ยาที่กินลงไปตีกันเอง หรือเกิดจากปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยากับอาหาร โดยอาการที่เกิดอาจเป็นน้อยๆ ตั้งแต่ มีผื่น คัน ปวดศีรษะ มึนงง รู้สึกร้อนวูบวาบ ซึ่งสามารถหายไปได้เองหรือจากการกินยารักษา บางครั้งปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยากับอาหาร อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงเช่นอาเจียน ความดันโลหิตลดต่ำลง หรือจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงไม่ควรชะล่าใจถ้ารู้สึกมีความผิดปกติเกิดขึ้น


เปลี่ยนยา

การหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยากับอาหาร อาจทำได้โดยการเปลี่ยนยา ทำตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ไม่ควรเปลี่ยนยาที่กินเอง แต่เป็นหน้าที่ของหมอที่คุณไปปรึกษา เป็นคนตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือเปลี่ยนยาให้เหมาะสม ที่ยังมีฤทธิ์ในการรักษาเหมือนเดิม แต่ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับบางอย่าง เช่น ยาที่เปลี่ยนให้ใหม่อาจมีประสิทธิภาพน้อยลง ราคาแพงขึ้น หรือมีอาการข้างเคียงอย่างอื่นแทน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเองร่วมด้วย โดยควรถามหมอของคุณให้ละเอียด


กินยาอย่างปลอดภัย

- อ่านฉลากยาก่อนใช้ทุกครั้ง ถ้าสงสัยควรถามแพทย์หรือเภสัชกร
- อ่านวิธีการใช้ คำเตือน ปฏิกิริยาที่มีต่ออาหารหรือยาตัวอื่น ข้อระวัง ในเอกสารยาที่แนบมา
- กินยาพร้อมน้ำเปล่า 1 แก้วเต็ม เพื่อเพิ่มการดูดซึม ยกเว้นมีระบุไว้เป็นอย่างอื่น
- ไม่ควรผสมยาลงในอาหารที่กิน เนื่องจากอาจไปเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยาได้
- ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนที่จะกินวิตามินหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะอาจมีผลต่อยาที่กินได้
- ไม่ควรผสมยากับเครื่องดื่มร้อน เพราะจะทำลายประสิทธิภาพของยา
- ห้ามกินยากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


เมื่อ ยา กับ อาหาร ไม่ถูกกัน

ขอขอบคุณสาระดีดี จาก


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์