โรคจอประสาทตาเสื่อม..ภัยเงียบในผู้สูงอายุ

ภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ตภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ต


โดยธรรมชาติของคนเรา เมื่อตัวเลขอายุเพิ่มขึ้น หลาย ๆ คนคงรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย เรียกว่า อะไร ๆ ก็จะดูเสื่อมถอยลง ไม่ว่าจะเป็น ความแข็งแรงของกระดูก ความแข็งแรงกล้ามเนื้อที่ลดลง รวมถึงผิวพรรณ หน้าตา และความไม่สมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ

“ดวงตา” ถือเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่พบว่ามีการเสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อคนเราอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะโดยธรรมชาติสัดส่วนของสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายของคนเราจะแปรผันไปตามอายุที่มากขึ้น ยิ่งเมื่อบวกกับพฤติกรรมการใช้สายตาของคนยุคนี้ที่ต้องเผชิญกับมลภาวะ ทางแสง และการใช้สายตาทำงานหนักอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ทำให้ต้องใช้สายตาเพ่งมองมากขึ้น ซึ่งหากได้รับสารอาหารและวิตามินที่มีส่วนช่วยบำรุงสายตาไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ก็จะก่อให้เกิดภาวะสายตาเสื่อมได้เร็วขึ้น

ข้อมูลจาก รศ.นพ.วิชัย ประสาทฤทธา หัวหน้าหน่วยจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า โรคจอประสาทตาเสื่อม หรือ โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ (Age-related Macular Degeneration) เป็นโรคร้ายทางตาของผู้สูงอายุ พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุ สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ดังนั้น การทำความรู้จักโรคและหาวิธีการป้องกันไว้ตั้งแต่ต้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้

ปัญหาของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุก็คือ

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่ามีอาการของโรคดังกล่าวเกิดขึ้น จนกว่าจะสังเกตได้ว่าการมองเห็นผิดปกติไปจากเดิม เช่น ตาพร่ามัว ความชัดเจนในการมองเห็นลดลง มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นตรงกลางของภาพไม่ชัดเจน ดังนั้นหากรู้สึกว่าเกิดอาการผิดปกติเหล่านี้ขึ้นกับดวงตา ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่ซับซ้อน ควรต้องใส่ใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ทางที่ดีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาทุก 1-2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติ ใด ๆ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ก็เริ่มจะมีปัญหาเรื่องสายตาเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาที่ไม่แสดงอาการ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก การตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก จะสามารถเยียวยาให้ดวงตาสามารถใช้งานได้ต่อไป

รศ.นพ.วิชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมจากอายุนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ขบวนการเสื่อมสภาพของร่างกาย พันธุกรรม การติดเชื้อ สายตาสั้นมาก ๆ การสูบบุหรี่ ซึ่งมีหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และมีโอกาสเกิดโรคนี้เร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 ปี นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและมีระดับไขมันในเลือดสูง รวมถึงผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานฮอร์โมนทดแทน ก็พบว่ามีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้เช่นกัน

โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ แบ่งได้ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

แบบแห้ง (Dry AMD) และ แบบเปียก (Wet AMD) ซึ่งรูปแบบที่พบได้มากที่สุด คือ แบบแห้ง เกิดจากการเสื่อมสลายและบางลงของบริเวณศูนย์กลางรับภาพของจอประสาทตา (Macula) จะทำให้การมองเห็นค่อย ๆ ลดลง และเป็นไปอย่างช้า ๆ

ส่วนแบบเปียกนั้น แม้จะพบได้ประมาณ 15-20% ของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด แต่ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตาบอดอย่างรวดเร็ว เกิดจากการที่มีเส้นเลือดผิดปกติงอกขึ้นมา หากเส้นเลือดที่เปราะบางเกิดการรั่วซึม จะทำให้จุดรับภาพบวม ภาพเริ่มพร่ามัว และตาบอดในที่สุด

ผู้ที่เข้าข่ายสงสัยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม อาจทด สอบสภาพจอประสาทตาด้วยวิธี Amsler Grid ดังนี้

1.เมื่อจะทดสอบการมองเห็น ไม่ต้องถอดแว่นตา หรือ คอนแทคเลนส์ที่ใส่อยู่ออก

2.ติดแผ่นภาพนี้ในระดับสายตา บนผนังที่มีแสงสว่างเพียงพอ

3.ยืนห่างจากแผ่นภาพ 14 นิ้ว ใช้มือปิดตาข้างหนึ่งไว้ มองที่จุดสีดำตรงกลางแผ่นภาพ ด้วยตาข้างที่เปิดอยู่ ทำซ้ำเช่นเดียวกับตาอีกข้าง

4.ถ้าท่านมองเห็นลายเส้นบนแผ่นภาพเป็นคลื่น บิดเบี้ยว ขาดจากกัน พร่ามัว หรือบางพื้นที่หายไปจากพื้นที่ที่มองเห็น ควรรีบไปปรึกษาจักษุแพทย์ทันที

สำหรับการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุนั้นมีหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ การฉีดยาเพื่อยับยั้งเส้นเลือดใหม่ที่งอกขึ้นมา หรือแม้กระทั่งการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.วิชัย แนะนำว่า การดูแลสุขภาพดวงตา และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของโรคตั้งแต่ยังหนุ่มสาว นับว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด โดยควรปฏิบัติตนดังนี้

1) งดการสูบบุหรี่

2) หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด โดยเฉพาะในวัยอายุน้อย ๆ

3) ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง และรับประทานผักใบเขียวและผลไม้ทุกวันและ

4) มีผลการวิจัยในต่างประเทศ พบว่า การรับประทานสารอาหารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ลูทีน และซีแซนทีน จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมอย่างได้ผล นอกจากนั้นการรับประทานสารอาหารเพื่อต้านกระบวนการอนุมูลอิสระ ก็จะสามารถช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนไข้แบบแห้ง (Dry AMD)

รศ.นพ.วิชัย ยังฝากย้ำเตือนด้วยว่า ปัจจุบันมีผลิต ภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อดวงตา ที่มีลูทีน และซีแซนทีนเกิดขึ้น มากมาย

ผู้บริโภคควรเลือกซื้อด้วยความระมัดระวัง อย่าซื้อเพียงเพราะโฆษณาอย่างเดียว ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์จึงจะดีที่ สุด หรือหากต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เอง ก็ควรเลือกจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ อ่านฉลากกำกับให้ละเอียด และเลือกที่มีสารอาหาร ที่ให้ประโยชน์เกี่ยวกับดวงตาโดยตรง เช่น วิตามินซี วิตามินอี สังกะสี เบต้าแคโรทีน โอเมก้า 3 ลูทีน ซีแซนทีน เป็นต้น และควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลการวิจัยและเอกสารทางการแพทย์รับรองประสิทธิภาพ ฉะนั้น ในฐานะผู้บริโภคจึงควรคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

อยากมีสุขภาพดวงตาที่ดีมองเห็นภาพที่สดใสไปนาน ๆ อย่าลืมเอาใจใส่ดูแลและถนอมดวงตาของเราทุก ๆ วันนะครับ

ข้อมูลจาก ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ ประธานมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์