โรคหน้าแดง โรซาเซีย

โรคหน้าแดง โรซาเซีย



      เอ่ยชื่อโรคหน้าแดง “โรซาเซีย” เชื่อว่าผู้อ่านเกือบทั้งหมด น่าจะยังไม่รู้จักกับโรคนี้ ทั้งนี้เพราะคนไทยเป็นกันน้อย แต่หมอผิวหนังก็พบโรคนี้ประปราย 
   
       รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้เจอคนไข้ 2 ราย เป็นผู้หญิง 1 คนอายุประมาณ 30 กว่า ๆ และผู้ชาย 1 คน อายุ 40 กว่า ๆ มาหาหมอเพราะหน้าแดง บวม คือ คนไข้จะรู้ตัวว่าหน้าแดง แต่คนอื่นอาจมองไม่ออก ซึ่งการวินิจฉัยโรคนี้ค่อนข้างยากพอสมควร เนื่องจากคนไทยผิวคล้ำ ทำให้หมอบางคนวินิจฉัยโรคผิด และไปรักษาแบบผิด ๆ เช่น วินิจฉัยว่าคนไข้เป็นสิว เพราะผู้ป่วยโรคนี้บางคนอาจจะมีสิวร่วมด้วย โดยผิวคนไข้กลุ่มนี้จะไวมาก
   
อย่างกรณีคนไข้ผู้หญิงที่มาหาตัวหมอ ได้รับการวินิจฉัยว่ามีตัวไร คนไข้กินยาอยู่นานมาก อาการก็ไม่ดีขึ้น พอไปรักษาอีกแห่งก็มีการยิงเลเซอร์ถึง 7 ครั้งก็ไม่หาย ดังนั้นถ้าเป็นโรคนี้ ถ้าได้รับการรักษาแบบผิด ๆ จะเสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ รวมทั้งเกิดปัญหาทางสุขภาพใจตามมาด้วย
   
      ปกติอาการหน้าแดงในคนทั่วไป จะเกิดจากเส้นเลือดฝอยขยายตัว ผิวหนังบริเวณใบหน้าและคอจะแดงไวกว่าบริเวณอื่น รอยแดงอาจเป็นชั่วคราว เพื่อระบายความร้อน เช่น อากาศร้อน แสงแดด หรือร้อนเป็นไข้ สุรา อาหารร้อนเผ็ด ยาหลายอย่างก็กระตุ้นให้หน้าแดง การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ เช่น โกรธ อายก็ทำให้หน้าแดง
   
แต่โรคหน้าแดง “โรซาเซีย” จะเป็นการแดงแบบถาวร พบบ่อยในฝรั่ง โดยเฉพาะคนผิวขาว อายุ 30-40 ปี ในคนไทยพบน้อย บริเวณที่เป็นผื่นแดงเรื้อรัง คือ ส่วนกลางของใบหน้า คือตรงบริเวณ จมูก แก้ม คาง หน้าผาก
   
โรคนี้อาจพบในวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยที่พบโรคสิวบ่อย ถ้าแพทย์วินิจฉัยผิดว่าเป็นสิว รักษาด้วยยาทา เช่น เบนซอยเปอร์ออกไซด์ ยาทากรดวิตามินเอ ยาทาซึ่งมีแอลกอฮอล์ผสม จะทำให้ผื่นเห่อกำเริบ เพราะจะระคายง่าย หลายคนใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและเครื่องสำอางไม่ได้เลย ทำให้ผู้ป่วยกังวลใจว่ามีความผิดปกติ
   
สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด เข้าใจว่ามีความผิดปกติของหลอดเลือดฝอยขยายตัวผิดปกติเพราะพบผู้ป่วยเป็นไมเกรนร่วมด้วยสูง 2-3 เท่า อาจเป็นผลจากสารหลั่งกระตุ้นหลอดเลือดฝอย เช่น ฮีสตามีน (พรอสตาแกลนดิน) หรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดด ความร้อน ความเครียด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว และเกิดการรั่วของสารหลั่งตามมา เมื่อชั้นหนังแท้ถูกกระตุ้นเกิดการอักเสบแบบเรื้อรัง ผิวหนังจะบวมหนาขรุขระ และมีการอักเสบในต่อมขน
   
ผื่นในระยะแรกพบผื่นเป็นรอยแดงของผิวหน้าจากการขยายตัวของหลอดเลือด มีอาการแสบคันยิบ ๆ และเปลี่ยนเป็นตุ่มแดงและตุ่มหนองคล้ายสิวร่วมกับผิวหน้าแดง เมื่อเป็นเรื้อรังนาน ๆ หนังจะหนาไม่เรียบเป็นตุ่มเป็นก้อนตะปุ่มตะปา   
   
เนื่องจากผิวของผู้ป่วยจะระคายง่าย ดังนั้นต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เช่น แสงแดด เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ อาหารร้อนจัด เผ็ดจัด ควบคุมอารมณ์ไม่เครียด ควรพักผ่อนและออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกใช้สบู่อ่อนที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และถ้ายังมีอาการระคายอาจใช้เพียงน้ำเปล่าล้าง
   
การรักษาส่วนใหญ่จะให้ยารับประทาน คือ   เตตราซัยครินช่วยลดการอักเสบ ยารับประทานกลุ่มกรดวิตามินเอควรใช้เฉพาะราย ส่วนยาทาที่ปลอดภัย คือ ยาเมโทรนิคาโรล หรือแป้งน้ำคาลาไมด์ทาให้เย็น ไม่ควรใช้ยาทาสเตียรอยด์ เพราะจะทำให้ผิวเห่อมากขึ้น
   
           ถ้าทำใจได้ว่าผิวหน้าแดงก็เป็นความปกติ เมื่อผิวเห่อมากให้ใช้ผ้าเย็นประคบจะช่วยลดอาการแสบคันยุบยิบได้ และอย่าคิดว่าอาการยุบยิบเป็นการเคลื่อนไหวของไร เพราะโรคความกลัวจะทำให้เกิดความเครียดตามมาทำให้ผื่นเห่อซ้ำเติม.

นวพรรษ บุญชาญ

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์