โรคหัวใจเล่นงานเด็กไทย เร่งฝึกพยาบาลลดอัตราตาย

โรคหัวใจเล่นงานเด็กไทย เร่งฝึกพยาบาลลดอัตราตาย


พบเด็กไทยเกิดมาป่วยเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นประมาณ 8,000 รายต่อปี เป็นที่มามูลนิธิโรคหัวใจในพระอุปถัมภ์ฯ กับ สปสช. ต้องเร่งพัฒนาทักษะคัดกรองโรคหัวใจในเด็กให้พยาบาลทั่วประเทศ

ศ.น.พ.บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ประธานมูลนิธิโรคหัวใจในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 7,000-8,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8-1.0 ของการเกิดมีชีวิตเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ในจำนวนดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 5 ที่ป้องกันได้เพราะทราบสาเหตุ เช่น เกิดจากมารดา อีกร้อยละ 95 ไม่ทราบสาเหตุ

"เด็กเกิดใหม่ที่เป็นโรคหัวใจร้อยละ 50 หรือกว่า 3,500-4,000 คน ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด หรือต้องใช้สายสวนหัวใจ ร้อยละ 20 ต้องได้รับการผ่าตัดภายในอายุ 1 ขวบ หรือบางรายภายใน 1 เดือน มิฉะนั้นจะเสียชีวิตหรือผ่าตัดไม่ได้" ศ.น.พ.บุญชอบ ระบุ

ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ จึงร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำโครงการอบรมพัฒนาทักษะในการคัดกรองโรคหัวใจในเด็กให้แก่พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 76 จังหวัด

เพื่อฝึกและพัฒนาทักษะการคัดกรองโรคหัวใจเบื้องต้นให้แก่พยาบาล สถานีอนามัย โรงเรียน และพนักงานสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยหรือ ร.พ.ชุมชน และเร่งสร้างเครือข่ายการให้บริการแก่เด็กผู้ป่วยโรคหัวใจระหว่างสถานีอนามัย ร.พ.ชุมชนและสถาบันต่างๆทั่วประเทศ

น.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขั้นตอนในการฝึกปฏิบัตินี้จะมีการตรวจคัดกรองเด็ก เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะครบ 76 จังหวัด ซึ่งจะทำให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้และทักษะการคัดกรองโรคหัวใจเพิ่มขึ้น เด็กที่ได้รับการตรวจพบความผิดปกติก็ได้รับการดูแลที่เหมาะสมทันสถานการณ์ ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายการดูแลโรคหัวใจเด็กครบวงจร

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์