‘ภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ’...ภัยเงียบที่ต้องระวัง

 ‘ภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ’...ภัยเงียบที่ต้องระวัง


แม้ปัจจุบันผู้คนจะหันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น แต่ก็ใช่ว่าโรคภัยไข้เจ็บจะลดน้อยลง โดยเฉพาะโรคภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นปุ๊บปั๊บอย่าง “ภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ” ซึ่งยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

    ดังนั้นคำตอบเดียวที่เหมาะสมในการบรรเทาเบาบางวิกฤตอาการเหล่านี้ คือ “ ถึงมือแพทย์เร็วที่สุด ดีที่สุด”

    โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ จึงได้เปิดตัว “ศูนย์การดูแลผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน” รวมทั้งยังขยายการให้บริการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจร และแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยที่อาจได้รับความเสี่ยงจากภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพนี้ 

  
ภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ คืออะไร

    นพ.โอรส ทรัพย์เจริญ อายุรแพทย์ด้านระบบประสาทและสมอง กล่าวว่า แบ่งเป็นอุบัติเหตุซึ่งมักปรากฏอาการมองเห็นได้ เช่น กระดูกหัก เลือดออก ภาวะที่เกิดขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บที่รู้ข้อมูล เช่น ภาวะขาดน้ำตาลรุนแรง สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือภาวะจากโรคที่ผู้ป่วยที่รู้ตัวอยู่แล้ว และภาวะที่อันตรายที่สุด คือ ภาวะที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบมาก่อน เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ และภาวะหัวใจขาดเลือดจนนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย เป็นต้น เนื่องจากสมองและหัวใจ คือ อวัยวะหลักของการดำเนินชีวิต หากทั้งสมองและหัวใจ ทำงานบกพร่องเสียแล้ว การดำรงชีวิตอย่างปกติสุขคงเป็นไปได้ยาก เพราะถ้าหัวใจหยุดทำงานก็คือเสียชีวิต และถ้าสมองไม่ทำงานก็เป็นมนุษย์ผัก หรือทำงานบกพร่องก็อาจเป็นอัมพฤกษ์ และอัมพาตก็เป็นได้

    โรคหัวใจล้มเหลว โรคร้ายแรงอันดับหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทยและคนทั่วโลกต่อเนื่องมาหลายปีซ้อน ซึ่งที่เป็นเช่นนี้นั้นไม่ได้หมายความว่าเครื่องมือการรักษาไม่ดี หรือแพทย์รักษาไม่ได้ แต่สาเหตุหลัก คือ การไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ภายหลังหัวใจหยุดเต้นเพียงไม่กี่นาที

    ในส่วนของโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ พบมากเป็นอันดับ 2 ของโรคที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน รองจากโรคหัวใจ โรคชนิดนี้มักเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย หรือคนอายุน้อยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูงมานานแล้ว และไม่ได้รับการรักษาหรือคนที่มีเส้นเลือดผิดปกติ หรือโป่งพองผิดปกติ ทำให้หลอดเลือดในสมองทำงานบกพร่อง จนตีบหรือแตก แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกทุกคนจะรู้ว่าตนเองมีประวัติเหล่านี้ หรือความเสี่ยงเหล่านี้มาก่อน เว้นแต่จะมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

    โดยเน้นการตรวจหาค่า Lab เฉพาะที่บ่งบอกถึงภาวะเสี่ยงดังกล่าว และแม้กระทั่งบางคนอาจไม่เคยปรากฏประวัติเหล่านี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ แต่ภาวะเครียดหรือพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน ซึ่งนาทีวิกฤตของสมองนั้น ก็แตกต่างกัน เพราะเราไม่อาจทราบได้เลยว่า หลอดเลือดในสมองที่เกิดอาการนั้น ตีบมากแค่ไหน หรือแตกตรงตำแหน่งไหน จนกว่าจะได้รับการตรวจจากเครื่องมือทางการแพทย์ประเภทเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยเครื่อง MRI ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที 

   กลุ่มเสี่ยงเป็นใครบ้าง

    โรคทางสมองนี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ในเด็กก็มีโรคที่เกี่ยวกับสมองได้เช่นกัน เช่น ภาวะชัก โดยอาจเป็นไข้ชัก หรือลมชัก ซึ่งกรณีไข้ชักนั้น ถึงแม้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสมองอย่างเฉียบพลัน แต่ว่าเมื่อเกิดครั้งแรกแล้วก็มักมีอาการเกิดซ้ำได้อีก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการพัฒนาระดับสติปัญญาในระยะยาว ในส่วนของลมชัก นับเป็นเรื่องที่อันตรายมากกว่า เพราะมีผลกับพฤติกรรม เป็นอุปสรรคต่อการเรียน การพัฒนาบุคลิกภาพ การเข้าสังคม และการรักษาก็อาจต้องใช้การผ่าตัดช่วย หากการใช้ยารักษาไม่สามารถให้ผลเป็นที่น่าพอใจ 

   ช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างไร

    หากญาติหรือคนใกล้ชิดสังเกตเห็นว่า ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง เดินเซ พูดไม่ชัด สับสน ซึม ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล ระหว่างนี้ให้งดน้ำ งดอาหาร เพราะคนไข้อาจจะสำลัก หรือหากต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัด จะลดความเสี่ยงในการเกิดการสำลัก ซึ่งหากโรงพยาบาลนั้นมีความพร้อมและแพทย์มีความชำนาญ วินิจฉัยได้เร็วและรักษาอย่างทันท่วงที คนไข้ก็มีความทุพพลภาพน้อยลงและมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว 

  
แนวทางการรักษา

    โดยเฉพาะช่วงเวลา 3 ชั่วโมงแรก หลังจากที่ผู้ป่วยแสดงอาการ การให้ยาละลายลิ่มเลือดในกรณีเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลัน จะให้ผลการรักษาที่ดีในช่วงนี้ หากมีข้อบ่งชี้และไม่มีข้อบ่งชี้ห้ามใช้ กระบวนการเตรียมการให้พร้อมตั้งแต่การรับผู้ป่วย การตรวจวินิจฉัย และการรักษาหากมีภาวะแทรกซ้อน เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลคำนึงถึง 
 
  
 
ดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรค

    การดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าวควรเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดัน ไขมัน ตับ ตรวจเช็กหัวใจเป็นประจำ รับประทานอาหารให้สมดุล ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างเช่นไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ “การใช้ชีวิตให้มีความสมดุลและดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง เป็นหนทางนำไปสู่การมีสุขภาพดี อย่างเช่นวันนี้ต้องทานเนื้อมาก มื้อต่อไปก็เน้นทานผักให้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าทานแต่ผักไม่ทานเนื้อ ก็อาจทำให้ขาดโปรตีนได้”

    ในกรณีที่คนไข้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญไม่อาจละเลยได้ นั่นคือ กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพ กล้ามเนื้อและอวัยวะภายในต่างๆ เช่น ปอด, หัวใจ, ทักษะการพูด เป็นต้น ซึ่งกระบวนการนี้ก็ต้องพึ่งความรวดเร็วอีกเช่นเดียวกัน

    นพ.วิศาล คันธารัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า หัวใจหลักของการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย คือ การวางเป้าหมาย และการมีทัศนคติที่ดีของคนไข้ “ปัญหาของการฟื้นฟู คือ คนไข้ไม่รู้ว่าขั้นตอนการรักษาจะจบเมื่อไหร่ บางคนเกิดการท้อแท้ ดังนั้นการวางเป้าหมายในการรักษาอย่างชัดเจน บวกกับกำลังใจที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากคนไข้ได้รับการประเมินอาการ ได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกวิธี ให้ความร่วมมือในการรักษา รวมถึงได้รับความร่วมมือจากทางญาติ โอกาสที่ร่างกายจะกลับมาสมบูรณ์ได้ก็มีมาก แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับช่วงทองของการฟื้นฟู คือ คนไข้ได้รับการรักษาอย่างดีตั้งแต่ต้นทาง และส่งต่อมาอย่างรวดเร็ว โอกาสจะฟื้นฟูก็เร็วขึ้น

    เมื่อคนไข้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เป้าหมายหรือจุดหลักสำคัญ คือ การให้ผู้ป่วยกลับคืนสภาพปกติหรือสภาพที่ดีที่สุด แต่บางรายวิถีการดำเนินชีวิตก็จะเปลี่ยนไป บางคนถึงกับต้องปรับปรุงบ้านใหม่ ซื้อเตียงใหม่ เปลี่ยนห้องน้ำใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือ การให้ความร่วมมือจากญาติพี่น้องและคนใกล้ชิด

     “การฟื้นฟูไม่จำเป็นต้องมาทำที่โรงพยาบาลทุกวัน ญาติต้องเข้าใจคนไข้ให้มากที่สุด บางทีเราไม่ได้เป็นเอง เราไม่รู้ ดังนั้นญาติต้องใจเย็น ควรให้กำลังใจ ต้องร่วมมือในการฝึกกายภาพ คอยสังเกตอาการของคนไข้ให้มากที่สุด ที่สำคัญอย่าตามใจคนไข้ ญาติบางคนใช้วิธีนำผู้ป่วยมาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล แล้วรีบไปทำงาน การเปลี่ยนแปลงของคนไข้ก็จะไม่เห็นผล การฟื้นฟูทางร่างกายทำได้ที่โรงพยาบาล แต่การฟื้นฟูด้านจิตใจจำเป็นต้องได้รับจากคนใกล้ชิดและญาติพี่น้อง”

   
แม้คุณจะไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือยังเป็นคนหนุ่มสาวไฟแรง ก็อย่าชะล่าใจ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกๆ ปี และดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ ที่สำคัญเมื่อภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพได้เกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ชิด ก็ควรตั้งสติและไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

FW


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์