จดหมายที่(อาจ)เปลี่ยนโลก


จดหมายที่(อาจ)เปลี่ยนโลก

ทุกวันนี้ สหรัฐอเมริกาคือชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก หากแต่ย้อนไปในปี ค.ศ.1776 สหรัฐอเมริกายังคงเป็นเพียงอาณานิคมนิวอิงแลนด์ของอังกฤษที่ประกอบด้วยรัฐสิบสามรัฐ และกำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ภายใต้การนำของนายพล จอร์จ วอชิงตัน

     การผลักภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลอังกฤษมาให้ดินแดนอาณานิคม ด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดนโยบายต่าง ๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากชาวอาณานิคมส่งผลให้เกิดไม่พอใจอย่างมากในหมู่ประชาชนอาณานิคมนิวอิงแลนด์ จนนำไปสู่แนวคิดที่ว่า พวกเขาควรมีสิทธิในการกำหนดนโยบายที่ส่งผลต่อดินแดนของพวกเขาด้วยตัวเองแทนที่จะยอมรับคำสั่งจากรัฐบาลอังกฤษอย่างเดียว ทำให้ชาวอาณานิคมเริ่มต่อต้านประท้วงรัฐบาลอังกฤษ


เหตุการณ์ประท้วงที่นำไปสู่ความรุนแรงคือ กรณีงานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (Boston Tea Party) ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1773 ที่ชายฉกรรจ์ชาวอาณานิคมนับสิบแต่งกายเลียนแบบชาวอินเดียนแดง บุกขึ้นเรือสินค้าอังกฤษและเอาลังบรรจุใบชาจำนวนมากโยนทิ้งน้ำ เพื่อประท้วงการที่รัฐบาลอังกฤษขึ้นภาษีใบชาอย่างไม่ยุติธรรม ผลของเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลอังกฤษออกกฏหมายควบคุมชาวอาณานิคมอย่างหนักจนนำไปสู่การต่อต้านอย่างรุนแรง

     สถานการณ์ลุกลามจนนำไปสู่การปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างฝ่ายอาณานิคมและทหารอังกฤษที่เล็กซิงตันและคองคอร์ด ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1775 ซึ่งถือว่าเป็นการรบครั้งแรกในสงครามประกาศอิสรภาพของอาณานิคมอเมริกา

จดหมายที่(อาจ)เปลี่ยนโลก

ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1775 สิบสามรัฐของอาณานิคม ได้ลงมติให้ นายพล จอร์จ วอชิงตัน ขึ้นเป็นผู้นำทัพของอาณานิคมเพื่อทำสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ โดยมี นักกฎหมายหนุ่ม นาม โทมัส เจฟเฟอร์สัน เป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพ ทว่าเมื่อสงครามเริ่มขึ้น ฝ่ายอาณานิคมที่อ่อนด้อยกว่าทั้งด้านกำลังพลและอาวุธ ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ กองทัพอาณานิคมพ่ายแพ้ในการรบหลายครั้ง สูญเสียทั้งกำลังพลและกำลังใจเป็นอันมาก จนหลายรัฐเริ่มปฏิเสธที่จะส่งกำลังพล เสบียงและอาวุธให้กองทัพ ขณะที่ฝ่ายอังกฤษได้ส่งกำลังทหารมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนมีกำลังนับแสน ทั้งยังมีทหารรับจ้างเฮสเชียน (ทหารชาวเยอรมันจากแคว้นเฮสซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเยอรมันนี) หลายหมื่นนาย มาเสริมทัพ ส่งผลให้สถานการณ์อาณานิคมเลวร้ายลง

     ในปี ค.ศ.1776 กองทัพอาณานิคมเหลือกำลังพลพร้อมรบไม่ถึงหมื่นนาย ขณะที่กำลังรบส่วนใหญ่ที่เหลือขาดแคลนทั้งเสบียง อาวุธ แม้กระทั่งเครื่องแต่งกาย ทหารหลายพันล้มป่วยและเสียชีวิตในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ขวัญกำลังใจของกองทัพตกต่ำอย่างที่สุด ซึ่งในตอนนี้ สิ่งเดียว ที่จะเรียกขวัญกำลังใจของพวกเขากลับมาได้ มีเพียงชัยชนะเท่านั้น

 จอร์จ วอชิงตันในฐานะผู้นำทัพ เข้าใจถึงข้อนี้ดี ทว่าโจทย์ข้อนี้ก็ยากยิ่งนัก โดยเฉพาะในยามที่กองทัพของเขามีสภาพไม่ต่างอะไรจากคนป่วยอาการหนักเช่นนี้

     เดือนธันวาคม ปีเดียวกัน วอชิงตัน ตัดสินใจเข้าโจมตี เมืองเทรนตัน ในนิวเจอร์ซี ซึ่งมีกองทหารเฮสเชียน 1,500 นาย ภายใต้การควบคุมของพันเอก โยฮัน รอลตั้งมั่นอยู่ ทว่าแม้กองทัพของวอชิงตันจะมีกำลังพลอยู่ 2,400 นายแต่ทหารส่วนใหญ่ก็อ่อนแอและหิวโหย ทั้งยังมีกระสุนดินดำเพียงน้อยนิดเท่านั้น

จดหมายที่(อาจ)เปลี่ยนโลก

จอร์จ วอชิงตัน วางแผนเข้าโจมแบบไม่ให้ข้าศึกตั้งตัว โดยในคืนวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1776 เขาได้นำกำลังพลทั้งหมด พร้อมปืนใหญ่ 18 กระบอก ลงเรือเหล็กท้องแบนสำหรับขุดแร่ ข้ามแม่น้ำเดลาแวร์ เพื่อเข้าตีค่ายเฮสเชียนในตอนเช้า

     ท่ามกลางความมืดและหนาวเหน็บ แสนหดหู่ นายพลจอร์จ วอชิงตันก้าวลงเรือขุดแร่ และไปยืนข้าง ๆ พันเอกเฮนรี นอกซ์ นายทหารร่างอ้วนใหญ่ ที่หนักถึง 135 กิโลกรัม และพูดว่า "ขยับก้นไปหน่อย แฮรี่ แต่เบา ๆ นะ ไม่งั้นน้ำจะเข้าไอ้เรือเจ้ากรรมนี่" ซึ่งคำพูดแฝงอารมณ์ขันในยามนั้นของท่านแม่ทัพ ทำให้นายทหารทั้งหลายในเรือที่กำลังหดหู่ รู้สึกดีขึ้น

     ทว่าการเคลื่อนทัพของฝ่ายอาณานิคมในคืนนั้น ได้ถูกชาวนาซึ่งเป็นฝ่ายฝักใฝ่อังกฤษผู้หนึ่งพบเห็นเข้า ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย เขารีบตรงไปยังค่ายที่เทรนตันและขอพบ พันเอก โยฮัน รอล หากแต่ทหารที่เฝ้าหน้าค่ายไม่ยินยอมให้เขาเข้าไป ชาวนาผู้นั้นจึงฝากจดหมายแจ้งข่าวการเคลื่อนทัพของวอชิงตันไปยังผู้พัน

     แต่คืนนั้น ทั้งค่ายกำลังฉลองงานคริสต์มาสกัน ผู้พันโยฮันเอง ก็กำลังขะมักเขม้นกับเกมส์ไพ่ และเมื่อทหารนำจดหมายมาให้ เขาก็พับมันไว้ในเสื้อนอกโดยไม่ได้อ่านและเพลิดเพลินกับการฉลองจนลืมจดหมายนั้นไป

     สิบโมงเช้าวันรุ่งขึ้น หิมะที่ตกหนักมาตลอดคืนได้หยุดลง พื้นดินและดงไม้ขาวโพลนด้วยหิมะหนา กองทหารของวอชิงตันได้เคลื่อนกำลังมาถึงหน้าค่ายเฮสเชียน และเปิดฉากโจมตีทันที หิมะที่ตกตลอดคืน ทำให้ดินปืนเปียกชื้น ทหารอาณานิคมส่วนใหญ่ต้องบุกด้วยดาบปลายปืนหรือใช้ปืนแทนกระบอง ขณะที่บรรดาทหารเฮสเชียน ซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากการฉลองเมื่อคืน ยังไม่ทันตั้งตัว การรบดำเนินไปอย่างรุนแรงและจบลงในเวลาอันสั้น โดยฝ่ายอาณานิคมเสียกำลังพลไปสองนาย ส่วนทหารเฮสเชียนตายในที่รบยี่สิบสองนาย บาดเจ็บ 83 นาย และถูกจับเป็นเชลยกว่าเก้าร้อยนาย ส่วนที่เหลือได้แตกพ่ายหนีไป

จดหมายที่(อาจ)เปลี่ยนโลก

พันเอกโยฮัน รอล ได้รับบาดเจ็บสาหัส และก่อนเสียชีวิต จดหมายฉบับนั้นได้ร่วงลงมาจากกระเป๋าเสื้อ ซึ่งเนื้อความของมันแจ้งถึง ข่าวการเคลื่อนทัพของนายพลวอชิงตัน ที่จะเข้ามาโจมตีเทรนตัน โดยถ้าผู้พันโยฮันได้อ่านจดหมายนั้น เขาก็จะรู้ตัวล่วงหน้าและมีเวลาเตรียมตัวทั้งคืน ซึ่งเป็นไปได้มากว่า จะทำให้การโจมตีของวอชิงตันต้องล้มเหลว

       หลังชัยชนะในเทรนตัน วอชิงตันได้รวบรวมกำลังพลขึ้นมาใหม่ ขณะที่อังกฤษได้ส่งนายพลคอนวอลลิส แม่ทัพที่มีฝีมืออันดับต้นๆ มาเป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคสนามในอาณานิคม และสามารถโจมตีกองทัพอาณานิคมแตกพ่ายได้หลายครั้ง ทว่า สถานการณ์การรบของสองฝ่าย อยู่ในรูปผลัดแพ้ผลัดชนะ แต่เวลานี้ ความคิดที่จะสู้เพื่ออิสรภาพได้แพร่ไปทั่วในสิบสามรัฐของอเมริกาแล้ว อีกทั้งยังมีทหารอาสาจากยุโรปมากมายเดินทางมาร่วมทัพด้วย ทำให้ฝ่ายอเมริกายังคงยืนหยัดสู้ได้ จนกระทั่งเมื่อฝรั่งเศส ศัตรูเก่าของอังกฤษ ได้เข้ามาสนับสนุนด้านอาวุธและเสบียง ทำให้กองทัพอเมริการะดมพลทั้งทหารและอาสาสมัครได้เกือบสองแสน รวมกับกำลังเสริมจากฝรั่งเศสกว่าหกหมื่นนาย ขณะที่ฝ่ายอังกฤษแม้จะมีกำลังทหารรวมกว่าสามแสนแต่ก็บาดเจ็บล้มตายและเริ่มอ่อนแอลง จากการรบที่ยาวนาน จนทำให้อเมริกาสามารถเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะมากขึ้นและรุกคืบได้เรื่อยๆ

จดหมายที่(อาจ)เปลี่ยนโลก

เดือน กันยายน ปี ค.ศ.1781 กองทัพอเมริกาภายใต้การนำของนายพลจอร์จ วอชิงตัน ร่วมกับกองทัพเรือฝรั่งเศสได้เข้าปิดล้อมกองทัพของนายพล คอร์นวอลลิส ที่ยอร์คทาวน์ จนสุดท้ายในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ.1781 นายพลคอร์นวอลลิสและกองทัพอังกฤษได้ยอมแพ้ โดยหลังสงครามสงบ ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการเจรจาต่อกัน จนเมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี ค.ศ.1783 สหรัฐอเมริกาก็ได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการโดยสมบูรณ์ จากนั้นในปี ค.ศ.1789 สหรัฐอเมริกาจึงได้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกและจอร์จ วอชิงตันก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

จดหมายที่(อาจ)เปลี่ยนโลก

ถ้าหากว่า ในตอนเที่ยงคืนของวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1776 พันเอกโยฮัน รอลเปิดอ่านจดหมายที่แจ้งข่าวของวอชิงตันแล้ว กองทัพเฮสเชียนที่เทรนตันอาจเป็นฝ่ายชนะกองกำลังที่อ่อนเปลี้ยของวอชิงตันได้ และทำลายขวัญของกองทัพอเมริกาจนหมด หรือหากจอร์จ วอชิงตันถูกจับ หรือเสียชีวิตในการรบวันนั้น ก็คงทำให้การประกาศอิสรภาพของอเมริกาต้องจบลง เนื่องจากในเวลานั้น กองกำลังที่วอชิงตันใช้โจมตีเทรนตัน แทบจะเป็นกำลังรบหน่วยสุดท้ายที่ยังยืนหยัดสู้ และอเมริกาคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้อิสรภาพจากอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่า ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาคงเปลี่ยนไปอีกแบบ และบางที อเมริกาอาจไม่ได้ก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำโลกในวันนี้ ก็เป็นได้

จึงเรียกได้ว่า จดหมายฉบับนั้น คือจดหมายที่(อาจ)เปลี่ยนโลก จริง ๆ

Cr:::komkid.com

จดหมายที่(อาจ)เปลี่ยนโลก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์