สงครามจีน – พม่า ยุทธภูมิสยบมังกร


สงครามจีน – พม่า ยุทธภูมิสยบมังกร

จีนกับพม่ามีอาณาเขตติดต่อกันมาตั้งแต่ยุคสามก๊ก หลังจากที่เสนาบดีข่งหมิง (ขงเบ้ง) แห่งแคว้นสู่ (จ๊กก๊ก) ขยายอำนาจสู่ดินแดนทางใต้ (มณฑลหยุนหนาน หรือ ยูนนาน) ปราบปรามเมิ่งฮั้ว (เบ้งเฮก) ผู้นำชาวหมาน จนกระทั่งอีกเกือบพันปีต่อมา ในช่วงปลายราชวงศ์พุกาม ซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของชาวพม่าสงครามเต็มรูปแบบระหว่างจีนกับพม่าก็เกิดขึ้น โดยกองทัพจีนในยุคราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลได้เข้ารุกรานและล้มราชวงศ์พุกามลง ก่อนแบ่งดินแดนพม่าเป็นสองส่วนและขึ้นกับจีน จนต่อมา กลุ่มผู้นำพม่าเชื้อสายไทใหญ่ก็ขับไล่กองทัพจีน-มองโกล ออกไป

     ในยุคราชวงศ์ที่สองของพม่า คือ ราชวงศ์ตองอู ซึ่งตรงกับราชวงศ์หมิงอันเป็นราชวงศ์ของชาวจีนแท้ๆ พม่ากับจีนได้มีการทำสงครามกันหลายครั้ง โดยมากจะเป็นการปะทะกันบริเวณชายแดนแถบสิบสองปันนา จนกระทั่งถึงช่วงที่ราชวงศ์หมิงได้ล่มสลาย อู๋ซานกุ้ยแม่ทัพจีนที่สวามิภักดิ์ต่อชาวแมนจูได้นำกองทัพเข้าโจมตีพม่าเพื่อตามจับตัวอดีตจักรพรรดิหมิงที่มาลี้ภัยอยู่ที่พม่า

ซึ่งสงครามครั้งนั้น ทำให้พม่าเสียหายเป็นอันมากจากการรุกรานของกองทัพจีน


---
ทว่าสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของพม่าและจีนเกิดขึ้นในยุคราชวงศ์ชิงของชาวแมนจูที่เข้ามาปกครองแผ่นดินจีน โดยตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งต้าชิง ส่วนพม่านั้น ตรงกับสมัยของกษัตริย์มังระแห่งราชวงศ์คองบองซึ่งเป็นราชวงศ์ที่สามและราชวงศ์สุดท้ายของพม่า

      สงครามครั้งนี้ มีเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างพม่ากับจีนในเรื่องหัวเมืองไทใหญ่ ซึ่งกองทัพพม่าได้ยกเข้าดินแดนไทใหญ่ และรุกคืบไปเรื่อย ๆ ทำให้พวกเจ้าฟ้าไทใหญ่ได้ไปขอความช่วยเหลือจากจีน ใน ปี ค.ศ.1759 ทว่าในช่วงแรก ทางจีนมองว่า เป็นเพียงสงครามระหว่างพม่ากับไทใหญ่ที่ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงกับจีน องค์จักรพรรดิจึงไม่ทรงอนุญาตให้ส่งทัพเข้าแทรกแซง เพียงแค่ให้การสนับสนุนด้านเสบียงอาวุธแก่ฝ่ายไทใหญ่เท่านั้น จนเมื่อผ่านไปนานวันและสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้ราชสำนักจีนเริ่มระแวงว่า ทัพพม่าอาจได้ใจและรุกเข้ามาจนเป็นภัยคุกคามชายแดน

     ใน ปี ค.ศ.1764 หลังทราบว่า กษัตริย์มังระแห่งพม่าได้ส่งทัพใหญ่ไปทำสงครามกับสยาม (สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง) ราชสำนักชิงได้เห็นเป็นโอกาสที่จะกำราบความโอหังของพม่า จักรพรรดิเฉียนหลงจึงมีพระบัญชาให้เสนาบดีหลิวเจ้า นำกำลังพลจากกองธงเขียว (กองธงที่ทหารในหน่วยล้วนเป็นชาวฮั่น ซึ่งตั้งขึ้นหลังจากราชวงศ์ชิงครองแผ่นดินจีนแล้ว) 3500 นาย ไปช่วยพวกไทใหญ่ขับไล่กองทัพพม่า

 โดยร่วมกับทัพไทใหญ่อีก 1500 นาย กองทัพชิงเปิดศึกกับพม่าใน ปี ค.ศ.1765 ที่เมืองเชียงตุง ทว่าหลิวเจ้าถูกเนเมียวสีหตู แม่ทัพพม่าประจำเชียงตุงซึ่งมีทหารเพียงสองพัน หลอกให้ทัพชิงเข้ายึดเมืองและไล่ตามเข้าไปในป่าเขาจนทหารจีนอ่อนกำลังและถูกตัดทางถอย ก่อนถูกทัพพม่าโจมตีจนแตกพ่ายและถอยกลับไปอย่างยับเยิน ทำให้หลิวเจ้าต้องปลิดชีพตนเองเพื่อหนีความอัปยศ

จักรพรรดิเฉียนหลงจักรพรรดิเฉียนหลง

--
ความพ่ายแพ้ที่เชียงตุง ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลง ทรงเห็นว่า เป็นความอัปยศของต้าชิง ที่ปล่อยให้แคว้นป่าเถื่อนเล็ก ๆ อย่างพม่ามาหยามหมิ่นได้ จึงทรงมีพระบัญชา ให้ หยางอิงจวี่ ขุนนางใหญ่ผู้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ เข้ารับตำแหน่งข้าหลวงอวิ๋นกุ้ยและปฏิบัติภารกิจพิชิตพม่าแทนหลิวเจ้า

     หลังรับพระบัญชา หยางอิงจวี่ก็นำทหารสองหมื่นห้าพันนาย โดยเป็นทหารกองธงเขียวหนึ่งหมื่นสี่พัน ที่เหลือเป็นทหารไทใหญ่ เดินทัพสู่แนวหน้าในฤดูร้อน ปี ค.ศ.1766 โดยหยางอิงจวี่ไม่เพียงจะช่วยพวกไทใหญ่ขับไล่ทัพพม่าเท่านั้น แต่ยังหมายจะพิชิตพม่าให้เด็ดขาดด้วยการจู่โจมกรุงอังวะ เมืองหลวงของพม่าด้วย

     ทว่าฝ่ายพม่ารู้ว่า ครั้งนี้ ต้าชิงจะต้องบุกมาถึงกรุงอังวะ เพื่อแก้แค้นความพ่ายแพ้ครั้งก่อนและเส้นทางที่จะรุกสู่อังวะจากทางเหนือได้เร็วที่สุด คือมาตามลำน้ำอิระวดี ราชสำนักพม่าจึงวางแผนรับศึก โดยให้แม่ทัพพลามินดิน มาตั้งมั่นที่เมืองปูเตา ริมแม่น้ำ อิระวดี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทัพชิงต้องผ่าน หากจะยกทัพมาทางน้ำ นอกจากนี้ ยังมีทัพของมหาสีหตูกับเนเมียวสีหตู คอยซุ่มกระหนาบทัพชิงและมีทัพของอะแซ หวุ่นกี้ คอยตัดทางถอย โดยเมื่อวางกำลังพร้อมแล้ว ทัพพม่าก็รอการมาของข้าศึกอย่างใจเย็น

     ทัพชิงเข้าโจมตีปูเตาอย่างดุเดือด ทว่าทหารพม่าได้ต่อต้านอย่างสุดกำลัง จนทัพชิงต้องล้มเหลวและเสียรี้พลไปมาก ประกอบกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและโรคมาลาเรียระบาด จึงทำให้ทหารเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก

ทหารพม่าสู้กับทหารจีนทหารพม่าสู้กับทหารจีน

เมื่อเห็นกองทัพจีนอ่อนกำลังจนถึงขีดสุด ทัพพม่าจึงฉวยโอกาสเปิดศึกทันที โดย เนเมียวสีหตูได้นำทัพเข้าจู่โจมทัพชิงที่ล้อมเมืองปูเตาอย่างดุเดือด ฝ่ายพลามินดินซึ่งรักษาปูเตา ก็นำทัพออกมาตีกระหนาบทัพชิง จนแตกพ่ายและล่าถอย ทว่ากองทัพจีนก็ถูกทัพของอะแซหวุ่นกี้ที่รออยู่ ตีกระหนาบซ้ำ จนเสียหายยับเยิน

     เมื่อหนีกลับมาถึงยูนนานแล้ว หยางอิงจวี่ก็ส่งรายงานเท็จถึงราชสำนักว่า ตนได้รับชัยชนะยิ่งใหญ่ สังหารข้าศึกไปนับหมื่นและทางฝ่ายพม่าได้ขอเจรจาสงบศึก แต่จักรพรรดิเฉียนหลงมิทรงเชื่อ จึงมีพระบัญชาให้หยางอิงจวี่มาเข้าเฝ้าเมื่อสอบถามความจริง หยางอิงจวี่เมื่อรับราชโองการแล้ว ก็เกรงกลัวความผิดจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด
     หลังความพ่ายแพ้ถึงสองครั้ง จักรพรรดิเฉียนหลงทรงเห็นว่า เพียงกำลังพลและแม่ทัพชาวฮั่นยังมีศักยภาพไม่พอชนะศึก จึงควรให้ใช้กำลังทัพแปดธงอันเกรียงไกรของแมนจูออกโรงเอง ดังนั้น จักรพรรดิจึงทรงมีพระบัญชาให้พระนัดดา หมิงรุ่ย แม่ทัพแมนจูผู้เคยมีประสบการณ์สู้รบกับชาวเติร์กในเอเชียกลางมาแล้วอย่างโชกโชน รับตำแหน่งข้าหลวงอวิ๋นกุ้ยและแม่ทัพพิชิตพม่า

     หมิงรุ่ยเดินทางมาถึงยูนนาน พร้อมด้วยทหารจากทัพแปดธง สามหมื่นนายพร้อมทหารกองธงเขียวอีกหนึ่งหมื่นสองพัน มาสมทบกับกองทัพพันธมิตรเจ้าฟ้าไทใหญ่ ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1769 โดยมีไพร่พลรวมทั้งสิ้นห้าหมื่นนาย

     ทว่าแม้จะใช้กองทัพชั้นเยี่ยมอย่างทัพแปดธง แต่สภาพป่าเขาอันทุรกันดารของพม่าก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการรบของทัพชิง ทำให้ศักยภาพของกองทัพต้องด้อยลง

สงครามจีน – พม่า ยุทธภูมิสยบมังกร

อย่างไรก็ตาม ศึกนี้ ก็สร้างแรงกดดันใหญ่หลวงแก่พม่า เพราะนอกจากทัพชิงจะใหญ่และแข็งแกร่งกว่าครั้งก่อน ๆ แล้ว ยังมาในขณะที่พม่าขาดแคลนกำลังพล เนื่องจากทัพใหญ่ยังติดพันสงครามกับสยาม

     แม่ทัพหมิงรุ่ยได้แบ่งทัพเป็นสองส่วน โดยทัพที่หนึ่ง ซึ่งหมิงรุ่ยนำทัพเอง จะโจมตีทางแสนหวี ก่อนล่องใต้ตามลำน้ำนัมตู ส่วนทัพที่สองจะรุกตามเส้นทางเดิมของหยางจิงอวี่ ล่องใต้ตามลำน้ำอิระวดี โดยไปบรรจบกันที่กรุงอังวะ ขณะที่ฝ่ายพม่าได้ให้เนเมียวสีหตูไปรับทัพที่สองของต้าชิง ส่วนทัพที่หนึ่ง ให้เป็นหน้าที่ของอะแซหวุ่นกี้และมหาสีหตู

      เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1767 ทัพของหมิงรุ่ยได้ยึดแสนหวีเป็นที่มั่น โดยทิ้งทหารไว้ห้าพันและระดมกำลังหนึ่งหมื่นห้าพันนายบุกต่อไป โดยทัพของหมิงรุ่ยสามารถตีทัพพม่าถ่อยร่นและสามารถรุกเข้ามาอยู่ห่างกรุงอังวะเพียงสามสิบไมล์

     ทว่าการที่หมิงรุ่ยบุกลึกเข้ามา ไกลจากที่มั่นในแสนหวี เป็นระยะทางหลายร้อยไมล์ ทำให้การส่งกำลังบำรุงทำได้ลำบาก จึงเป็นโอกาสของอะแซหวุ่นกี้ในการตอบโต้ โดยส่งทหารซุ่มโจมตีกองลำเลียงของต้าชิงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สถานการณ์ของฝ่ายหมิงรุ่ยเริ่มย่ำแย่ ขณะเดียวกัน ทัพที่สองของต้าชิง ซึ่งเคลื่อนพลมาทางลำน้ำอิระวดี ก็เผชิญการต่อต้านอย่างหนักที่ปูเตา จนเสียหายอย่างมากและจำต้องถอยทัพกลับยูนนานโดยพลการ

สงครามจีน – พม่า ยุทธภูมิสยบมังกร

----
ขณะนั้น ทัพใหญ่ของเนเมียวสีหบดีซึ่งเสร็จศึกที่อยุธยา ก็กลับมาถึงอังวะ ทำให้อะแซหวุ่นกี้สามารถระดมกำลังเข้ายึดแสนหวีคืนจากต้าชิงได้สำเร็จ ทัพจีนจึงถูกตัดทางถอยโดยปริยาย พอเข้าสู่เดือนมีนาคม ทัพหมิงรุ่ย ก็ต้องเผชิญกับโรคมาลาเรียระบาด ทำให้หมิงรุ่ยผู้เคยหมายจะกรีธาทัพเข้าสู่อังวะอย่างผู้ชนะ มาบัดนี้แม้จะกลับยูนนานก็ยังทำไม่ได้

ฝ่ายพม่าได้ระดมกำลังกว่าหมื่นคน เข้าปิดล้อมทัพของหมิงรุ่ยและทำการรบขั้นแตกหักที่เมย์เมียว ห่างจากกรุงอังวะห้าสิบไมล์ การสู้รบครั้งนี้ ดุเดือดรุนแรงขนาด เลือดไหลนองเป็นสายธาร ในที่สุดกองทัพของหมิงรุ่ย ก็พ่ายแพ้ยับเยิน
ความปราชัยครั้งนี้ ทำให้หมิงรุ่ยในฐานะแม่ทัพใหญ่ผู้มีผลงานในการศึกมาไม่น้อย ไม่มีหน้ากลับไปยังแผ่นดินจีนอีก ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจผูกคอตายล้างความอัปยศในครั้งนี้ ที่แดนพม่านั่นเอง

หลังทรงทราบข่าวความพ่ายแพ้ของหมิงรุ่ย จักรพรรดิทรงตกพระทัยและกริ้วยิ่งนัก จึงทรงมีรับสั่งเรียกตัวองคมนตรีฟู่เหิง ซึ่งเป็นลุงของหมิงรุ่ย ผู้เคยมีประสบการณ์ในการรบกับมองโกล พร้อมด้วยแม่ทัพแมนจูอีกหลายนาย เช่น เสนาบดีกรมกลาโหม อากุ้ย แม่ทัพอาหลีกุ่น รวมทั้งเอ้อหนิง สมุหเทศาภิบาลมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ให้เตรียมการยกทัพเข้าโจมตีพม่าเป็นครั้งที่สี่ โดยอาศัยกำลังทั้งจากทัพแปดกองธงและกองธงเขียว

ปี ค.ศ.1769 หลังเตรียมการพร้อมสรรพ ฟู่เหิงก็นำทัพมุ่งสู่แดนพม่า โดยแบ่งเป็นทัพบกและทัพเรือ โดยทัพบกเคลื่อนมาทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิระวดี ส่วนทัพเรือล่องมาตามแม่น้ำ โดยมีกำลังพลทั้งสิ้นหกหมื่นคน ประกอบด้วยทหารแปดธงสี่หมื่นและทัพธงเขียวกับทหารไทใหญ่อีกสองหมื่น

ฝ่ายพม่านั้น พระเจ้ามังระโปรดให้ อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพใหญ่ มีพลามินดินเป็นผู้ช่วย โดยยุทธศาสตร์หลักคือ ต้องยันทัพชิงไว้ที่ชายแดน ไม่ให้บุกลึกเข้ามาในพม่าได้อีก นอกจากนี้ ฝ่ายพม่ายังเตรียมกองทัพเรือเพื่อสู้ศึกกับทัพเรือต้าชิงและเสริมกำลังด้วยกองทหารปืนใหญ่ชาวฝรั่งเศส ที่นำ ปีแอร์ เดอ มิลลาร์ด อีกด้วย โดยเมื่อจัดทัพพร้อมแล้ว อะแซหวุ่นกี้ก็เคลื่อนพลทางเรือล่องตามลำน้ำอิระวดีสู่เมืองพะมอ ซึ่งเป็นชัยภูมิที่จะใช้ตั้งรับกองทัพต้าชิง

ข้างฝ่ายทัพบกของฟู่เหิงก็เริ่มพบความยากลำบากในการเคลื่อนทัพ เนื่องจากเข้าฤดูฝน ทำให้เส้นทางส่วนใหญ่ซึ่งเป็นป่าเขา เต็มไปด้วยโคลนเลน การขนย้ายสัมภาระทำได้ลำบาก ซ้ำยังเกิดโรคระบาดต่าง ๆ โดยเฉพาะมาเลเรียตามมา อีกทั้งเจอการต้านทานอย่างหนักจากกองทหารพม่า ฟู่เหิงจึงเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพ โดยข้ามแม่น้ำมาทางตะวันออกแทน ส่วนทัพเรือต้าชิงก็ต้องสู้รบกับกองทหารพม่าตามจุดต่าง ๆ ในแถบลุ่มอิระวดีมาอย่างต่อเนื่องขณะที่เคลื่อนทัพมา

วันที่ 10 ตุลาคม ทัพจีนและพม่าเปิดศึกกันที่ซินเจีย ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี โดยทัพเรือได้ปะทะกันก่อน กองเรือพม่าได้ถอยลงไปทางใต้ ยึดสันดอนทรายเป็นที่มั่นและหันกลับมาสู้กับทัพเรือต้าชิงอย่างดุเดือด สามารถสังหารทหารชิงได้สองพันกว่านาย จมเรือรบได้หกลำ ขณะเดียวกัน ทางบก ฝ่ายต้าชิงก็ส่งทัพม้าเข้าปะทะกับทัพพม่าอย่างดุเดือด สังหารข้าศึกไปพันห้าร้อยกว่าคน หลังการรบ ทัพพม่าได้ถอยลงใต้ ทำให้ทัพชิงเข้ายึดซินเจียได้

กองทัพต้าชิงยังรุกต่อทั้งทางบกและทางน้ำ แต่ก็ถูกทัพพม่าต้านทานอย่างเหนียวแน่น และเมื่อน้ำในแม่น้ำอิระวดีเริ่มแห้งขอด ทัพเรือชิงก็ติดสันดอนทราย จนไม่อาจเคลื่อนที่ได้ ขณะกองทัพบกก็ถูกกองทัพพม่าปิดล้อม ทัพชิงได้ทุ่มกำลังเพื่อตีฝ่าวงล้อม แต่ก็ถูกทัพพม่าวางกลซุ่มโจมตีจนต้องล่าถอย

การรบยืดเยื้อถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1769 ทหารพม่าก็ได้ส่งทูตมาเจรจาขอพักรบชั่วคราว ทางฝ่ายต้าชิงก็เหนื่อยล้าเต็มทีเช่นกัน จึงตัดสินใจยอมรับการเจรจา เพราะต่างเห็นแล้วว่า การทำศึกยืดเยื้อต่อไปไม่เป็นผลดี

กองทัพชิงในแดนพม่ากองทัพชิงในแดนพม่า

ถึงตอนนั้น ทัพต้าชิงได้รับความเสียหายหนัก ตลอดการสู้รบที่ผ่านมา ทหารกว่าสามหมื่นนายเสียชีวิตเพราะการรบและการเจ็บป่วย แม้แต่ตัวฟู่เหิงกับอาหลีกุ่นผู้เป็นแม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพใหญ่ก็ยังล้มป่วยด้วยไข้มาเลเรีย

     การเจรจาสงบศึกเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1770 จากนั้นทัพชิงก็เคลื่อนกลับปักกิ่ง ส่วนฟู่เหิงกับอาหลีกุ่น ซึ่งกำลังป่วยหนักอยู่นั้น ไม่นานก็ถึงแก่อสัญกรรมทั้งคู่ และแม้ว่า ทั้งจักรพรรดิเฉียนหลงและพระเจ้ามังระจะไม่พอพระทัยกับการสงบศึกที่แม่ทัพสองฝ่ายกระทำไว้ แต่สองฝ่ายก็ไม่ได้ทำสงครามกันอีก จากนั้นอีกเกือบยี่สิบปีต่อมา จีนและพม่าจึงได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้ง โดยพม่ายอมส่งบรรณาการให้ต้าชิง ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงทรงอ้างชัยชนะในสงครามครั้งนี้ ทว่า ชัยชนะนี้ ก็แลกมาด้วยชีวิตของแม่ทัพนายกองพร้อมกับไพร่พลอีกกว่าเจ็ดหมื่นคนที่ต้องมาทิ้งไว้ในสมรภูมิแห่งอิระวดี นับว่าเป็นสงครามชายแดนที่มีความสูญเสียมากที่สุดของราชวงศ์ชิง 

Cr:::komkid.com

สงครามจีน – พม่า ยุทธภูมิสยบมังกร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์