‘พระเมรุมาศ’ ในประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศ

ในห้วงยามแห่งความโศกเศร้าครั้งยิ่งใหญ่ สนามหลวงอันเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญโดยมีฉากหลังตระการตาเป็นภาพความงดงามวิจิตรของพระบรมมหาราชวัง กำลังถูกปรับเพื่อเป็น “ทุ่งพระเมรุ” อีกครั้ง ท่ามกลางคราบน้ำตาที่ยังไม่เหือดหาย

ตามธรรมเนียมแต่เก่าก่อน การสร้างพระเมรุมาศ จะถูกเตรียมการทันทีที่พระเจ้าอยู่สวรรคต โดยมีข้อกำหนดตามโบราณราชประเพณีที่สืบต่อยาวนาน แล้วมีพัฒนาการในแต่ละยุคสมัยภายใต้คติความเชื่อและวัฒนธรรมอันซับซ้อน

จำลอง ‘เขาพระสุเมรุ’ ส่งเสด็จคืนสรวงสวรรค์

พระเมรุมาศ เป็นสถาปัตยกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีพระบรมศพ นับเป็นสิ่งแสดงพระเกียรติยศที่สร้างขึ้นตามความเชื่อในศาสนาพุทธและพราหมณ์ที่ฝังรากลึกในแดนสยามมาแต่ครั้งอดีตกาล ด้วยคติที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเปรียบเสมือน “สมมุติเทพ” เมื่อสวรรคต จึงมีการสร้างสถานที่ในการพระบรมศพโดยจำลองจาก “เขาพระสุเมรุ” อันเป็นศูนย์กลางจักรวาล รายล้อมด้วยสัตบริภัณฑ์ทั้ง 7 ในขอบเขตยังมีป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสรรพสัตว์นานาชนิด

ดังที่ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า

“ด้วยคติของพวกพราหมณ์ ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเปนพระอิศวรหรือพระนารายณ์แบ่งภาคลงมาบำรุงโลก ….‚‚.เมื่อสิ้นชาติในโลกนี้แล้ว ย่อมกลับคืนไปสู่สวรรคเทวโลกตามเดิม เพราะเหตุนี้ ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินแลเจ้านายกลับเปนเทวดาตั้งแต่เวลาสิ้นพระชนมชีพ จึงแต่งศพเปนเทวดา ประเพณีที่ใส่โกษฐตั้งบนฐานแว่นฟ้า และเรียกที่ถวายเพลิงพระศพว่า เมรุ ก็น่าจะเนื่องมาแต่คติที่ถือว่าเปนเทวดานั้นเอง”

องค์ประกอบของพระเมรุมาศ จึงเป็น “กุฎาคาร” หรือเรือนยอด คือ มีหลังคาต่อกันเป็นยอดแหลม เช่น ยอดปรางค์ เหตุที่เรียกเมรุมาศ เพราะใช้สีทองประดับ

นอกเหนือจากตัวเรือนยอด พระเมรุมาศ ยังประกอบด้วยอาคารอีกหลายหลัง เปรียบดังโรงพระราชพิธีพระบรมศพ เช่น “พลับพลา” เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร, “สำซ่าง” คือ พื้นที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม สดับปกรณ์ เลี้ยงพระ รวมไปถึงโรงครัว, ศรีสำราญ (ห้องน้ำ), โรงมหรสพ และระทาดอกไม้เพลิง เป็นต้น

‘พระเมรุมาศ’ ในประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศ

เมรุมาศ ประวัติศาสตร์แห่งพระเกียรติยศ

พลิกปฏิทินกลับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อราว 400 ปีที่ล่วงผ่าน เชื่อกันว่า นั่นคือเวลาที่พระเมรุมาศหลังแรกได้ถือกำเนิดขึ้นในสยาม เมื่อครั้งแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ราวพุทธศักราช 2181

สุจิตต์ วงษ์เทศ เจ้าของผลงาน “พระเมรุ แรกมียุคกรุงศรีอยุธยา” ระบุว่า พระเมรุถูกสร้างขึ้นเลียนแบบนครวัด “วิษณุโลก” ที่จำลองเขาพระสุเมรุ โดยก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ว่างทางใต้พระวิหารมงคลบพิตร แล้วมีพระราชพิธีบริเวณ “สนามหน้าจักรวรรดิ” ซึ่งอยู่ระหว่าง พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท กับวัดธรรมิกราชและหนองโสน (บึงพระรามในปัจจุบัน)

“งานพระเมรุ เป็นสิ่งอลังการอย่างมหัศจรรย์ แสดงความเป็นราชอาณาจักรของยุคแรกมีในกรุงศรีอยุธยา ราชอาณาจักรสยาม แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แล้วยังแสดงให้เห็นความเป็นมหาอำนาจทางการค้าทางทะเลนานาชาติในยุคนั้น แล้วตกทอดสืบเนื่องเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันประภัสสรจนทุกวันนี้”

ร่องรอยหลักฐานเกี่ยวกับพระเมรุมาศยุคกรุงเก่า ยังปรากฏใน “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ซึ่งบอกเล่าถึงภาพอันวิจิตรอลังการของพระเมรุมาศที่แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบต่างๆ ประดุจเขาพระสุเมรุ สมกับสถานะสมมุติเทพ ในเมรุเขียนลายธงข้าวบิณฑ์เทพนม บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำทองตะโก เพดานแขวนนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีเครื่องตั้งบูชาทำด้วยทองคำทั้งสิ้น

ครั้นเวลาล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ยังคงรักษารูปแบบการจัดวางเหมือนครั้งกรุงเก่า โดยสร้างขึ้นที่ “ทุ่งพระเมรุ” หรือที่ทุกวันนี้รู้จักในชื่อ “สนามหลวง”

พระเมรุมาศ จะถูกสร้างขึ้นทาง “ทิศใต้” ของสนามเท่านั้น

ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการสร้างพระเมรุมาศตามตำรา วัสดุสำคัญคือไม้ โดยเฉพาะไม้ใหญ่เพื่อทำเสาพระเมรุ ซึ่งจะเกณฑ์จากหัวเมืองแล้วล่องแพตามแม่น้ำ ชักลากเข้ามาในคลองรอบกรุงด้านที่ติดกับวังหน้า

‘พระเมรุมาศ’ ในประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศ

นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เรียบเรียงหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” อธิบายว่า แบบแผนดังกล่าวถูกใช้เรื่อยมาจนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ความยิ่งใหญ่ของพระเมรุมาศตามแบบแผนครั้งกรุงเก่าเปลี่ยนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยไม่ก่อสร้างเมรุมาศให้ยิ่งใหญ่ดังเช่นยุคก่อน ปรับเปลี่ยนวัสดุบางอย่าง เช่น เสาไม้เป็นโลหะ ซึ่งต่อมาเป็นโครงสร้างหลักมาจนถึงยุคปัจจุบัน รูปแบบโปรดให้เป็นดั่งเมรุทองวิจิตร ภายในมีแท่นพระจิตกาธานรองรับพระบรมโกศที่จะประกอบพระโกศจันทน์ในวันถวายพระเพลิง สำหรับมณฑลพิธี โปรดให้มีพระที่นั่งทรงธรรมพร้อมที่พักพอสมควร มีรั้วราชวัตรมั่นคงนับแต่นั้นมา พระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ดำเนินตามแบบแผนใหม่นี้”

ไม่เพียงรูปแบบด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น หากแต่แนวคิดบางประการก็ถูกปรับเปลี่ยน เช่น โปรดให้งดทำศพเป็นการรื่นเริง ด้วยเหตุนี้โรงมหรสพต้นกัลปพฤกษ์ทิ้งทาน และดอกไม้เพลิงนานาชนิดรอบพระเมรุมาศจึงถูกยกเลิกตั้งแต่บัดนั้น

‘พระเมรุมาศ’ ในประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศ

พระเมรุมาศรัชกาลที่ 9

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้เร่งปรับพื้นที่ทางด้านทิศเหนือของสนามหลวง เพื่อย้ายจุดอำนวยการ และเตรียมพื้นที่รองรับพสกนิกรที่หลั่งไหลเดินทางจากทั่วสารทิศเข้ามายังท้องสนามหลวง รอคอยเวลาเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ฝั่งทิศใต้ของสนาม จะถูกใช้เป็นพื้นที่หลักในการสร้างพระเมรุมาศ ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมโบราณที่พระเมรุมาศจะต้องสร้างทางทิศดังกล่าว โดยในครั้งนี้จะมีการใช้พื้นที่ถึง 40 ไร่จาก 75 ไร่ คิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่สนามหลวงทั้งหมด

ส่วนการดำเนินงานคาดว่าจะเริ่มขึ้นหลังปีใหม่ ในพุทธศักราช 2560

รัฐบาลสั่งการให้ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ติดตามความคืบหน้าทุกขั้นตอน รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประสานงานกับช่างพื้นบ้านที่มีความสามารถทั่วประเทศเข้ามาร่วมดำเนินงาน คาดว่าการก่อสร้างจะใช้เวลามากกว่า 1 ปี เนื่องงานเป็นงานที่ต้องทำด้วยความประณีตบรรจง

สำหรับรูปแบบพระเมรุมาศ มีการออกแบบเสร็จสิ้นแล้ว โดยขอรับพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพและงานด้านจดหมายเหตุพระราชพิธีก่อน

ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเทียบเคียงจากของเดิม แต่ออกแบบขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สมพระเกียรติ ยิ่งใหญ่ และมีความเหมาะสม

นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์พระมหาพิชัยราชรถ พระเวชยานตราราชรถ ราชน้อย 3 พระองค์ และพระยานมาศสามลำคาน 2 พระองค์ รวมถึงลงรักปิดทองราชรถใหม่บางส่วน เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้วจะทดสอบระบบการขับเคลื่อน คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีเช่นกัน

พระเมรุมาศที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นในอีกไม่นานนี้ คือหนึ่งหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ใช่เพราะความงดงามอลังการของสถาปัตยกรรม หากแต่เพราะเป็นสถานที่เสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศคืนสู่สรวงสวรรค์ พระราชาผู้จะสถิตอยู่ในใจของคนไทยตราบชั่วนิจนิรันดร์

‘พระเมรุมาศ’ ในประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศ


‘พระเมรุมาศ’ ในประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์