100 ปี สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1: ย้อนรอยการเลือกข้างเพื่อความอยู่รอด


100 ปี สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1: ย้อนรอยการเลือกข้างเพื่อความอยู่รอด

    22 กรกฎาคม 1917 หรือเมื่อหนึ่งศตวรรษที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางซึ่งนำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี หลังจากคงท่าที 'เป็นกลางอย่างเคร่งครัด' มาเกือบ 3 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้น การเลือกข้างของสยามในท้ายที่สุดเป็นความจำเป็นทางการเมือง

     นี่เป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยและเสรีภาพในการค้าและการพาณิชย์กับชาติตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส เปิดทางสู่การยกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนธิสัญญาเบาว์ริง ที่มีเรื่อยมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งทำให้ชาติตะวันตกทำการค้าได้โดยเสรี มีเพดานภาษีส่งออกและนำเข้าเพียงร้อยละ 3 รวมไปถึงการตั้งสถานกงสุลอังกฤษในสยามและให้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

หลังสงครามสิ้นสุด สยามได้ก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งประชาคมโลก เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติเมื่อปี 1919 และประสบความสำเร็จในการยุติสนธิสัญญาที่มีต่อเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ตามมาด้วยสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกาในปี 1920 และกับอังกฤษในปี 1924 และฝรั่งเศสในปี 1925




*****
'ไม่มีความรักให้กับเยอรมนี'


ในช่วงแรกของสงคราม ความคิดเห็นทั่วไปของกลุ่มชนชั้นนำของสยามดูโอนเอนไปทางฝ่ายสัมพันธมิตร ดังจะเห็นได้จากรายงานของราชทูตอังกฤษประจำสยาม เซอร์ เฮอร์เบิร์ต เดอร์ริง ผู้กล่าวว่า "ท่าน[พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว]ไม่มีความรักให้กับเยอรมนี"

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีความเห็นว่า สยามยังอยู่ห่างไกลจากสงครามและนโยบายที่เหมาะสมคือการรักษา 'ความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด' ซึ่งจะเห็นได้จากการประกาศเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ปี 1914 ห้ามไม่ให้มีการสื่อสารบนเรือเดินสมุทรของประเทศคู่สงครามในน่านน้ำสยาม เพื่อป้องกันการละเมิดความเป็นกลางของสยาม รวมถึงการออกกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ปี 1914 เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก และรักษาความมั่นคงภายใน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า ถ้าเยอรมนีชนะสงครามและประสบความสำเร็จในการขยายอิทธิพล สยามจะตกอยู่ในฐานะที่ลำบากเนื่องจากทางรถไฟสายเหนือของสยามซึ่งกำลังก่อสร้างยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของนายช่างวิศวกรและผู้ควบคุมชาวเยอรมัน และธนาคารของรัฐบาลสยามที่เพิ่งก่อตั้งก็ตกอยู่ภายใต้การการบริหารของชาวเยอรมันเช่นกัน

สิ่งที่ทำให้สยามเริ่มไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเยอรมนีและเริ่มพยายามหาเหตุผลเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรคือข้อมูลจากรายงานลับของ เซอร์ เฮอร์เบิร์ต เดอร์ริง ราชทูตอังกฤษ ที่ส่งกลับไปให้ เซอร์ เอ็ดเวิร์ด เกรย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณกลางปี 1915

ทหารอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1ทหารอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1


********
รายงานนี้อ้างอิงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ชาวอินเดียประจำกองตำรวจสิงคโปร์ซึ่งเข้ามาสืบข่าวในกรุงเทพเมื่อต้นปี 1915 ซึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่ของสถานทูตเยอรมนีในกรุงเทพฯ เป็นผู้ปลุกปั่นชาวซิกข์ และชาวอินเดียที่เดินทางจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาในสยามให้กระด้างกระเดื่องต่อจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้เกิดการกบฏของทหารอินเดียในสิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์

ในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ในสถานกงสุลเยอรมนีก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการปลุกปั่นชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในสยามเพื่อที่จะทำการติดอาวุธและบุกเข้าไปในพม่า

ด้วยความที่อังกฤษเป็นคู่สงครามพอดี เยอรมนีจึงให้การสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษนี้ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วภูมิภาคเอเซีย

แต่ถึงกระนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่เห็นโอกาสหรือเหตุผลสมควรที่จะประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง เนื่องจากยังไม่มีชาวสยามถูกสังหาร ไม่มีเรือสยามที่ถูกโจมตี หรือลูกเรือชาวสยามที่ถูกจับเป็นนักโทษแต่อย่างใด

มีหลักฐานว่า ฝรั่งเศสต้องการจะขอสัมปทานทำทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับอินโดจีนของฝรั่งเศส และนี่น่าจะเป็นสาเหตุของฝรั่งเศสในการจะดึงสยามเข้าร่วม โดยฝรั่งเศสก็คงเล็งเห็นอยู่แล้วว่าสยามเองก็ต้องการเข้าร่วมสงครามเพราะนี่จะทำให้สยามมีสิทธิ์และเสียงที่ในการต่อรองมากขึ้นหลังสงครามสิ้นสุดลง

อีกเหตุผลหนึ่งของการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรคือรัฐบาลสยามมีความกังวลต่อรัฐบาลญี่ปุ่นที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หลักฐานจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนการที่จะให้มีการอภิเษกสมรสระหว่างรัชกาลที่ 6 กับหนึ่งในพระราชธิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น และมีการจับตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นสายลับของญี่ปุ่นในป่าทางภาคใต้ของสยาม

ด้าน เซอร์ เฮอร์เบิร์ต เดอร์ริง ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงครามเพราะอาจเป็นเหตุให้สยามมีข้ออ้างขอแก้ไขสนธิสัญญา ดังจะเห็นได้จากโทรเลขจากกระทรวงต่างประเทศอังกฤษที่มีไปถึง เซอร์ จอร์จ บูแคนัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเปโตรกราด หรือนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน ว่า "แรงกดดันจากฝ่ายสัมพันธมิตรอาจจะได้รับการตอบสนองที่ไม่พึงประสงค์จากสยามในการที่จะใช้เป็นข้อต่อรองในการแก้ไขเรื่องภาษีศุลกากรและสิทธิพิเศษเหนือดินแดน"

'สยามส่งกองทัพในสงครามโลกครั้งที่ 1'

ท่าทีรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดของสยามเปลี่ยนไปหลัง เคานต์ โยฮานน์ ฟอน แบนชตอร์ฟ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะทำสงครามทางเรือดำน้ำแบบไม่มีข้อจำกัด (unrestricted submarine warfare) ซึ่งคือการโจมตีเรือโดยไม่บอกกล่าวก่อนตามธรรมเนียมการสู้รบทางเรือ และเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี 1917

รายงานลับเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ในสถานกงสุลเยอรมนีมีส่วนเกี่ยวข้องในการปลุกปั่นชาวอินเดีย ปี 1915รายงานลับเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ในสถานกงสุลเยอรมนีมีส่วนเกี่ยวข้องในการปลุกปั่นชาวอินเดีย ปี 1915

********
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงคาดการณ์ว่า เยอรมนีจะแพ้สงครามและพระองค์ก็ตระหนักถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตร จากบันทึกลับเรื่องความคิดที่จะให้กรุงสยามเข้าร่วมในสงคราม พระองค์ทรงแจ้งต่อคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 1917 ว่า สยามมีโอกาสเสี่ยงต่อการสููญเสียมากกว่าหากยังดำรงความเป็นกลาง มีความเป็นไปได้ที่เยอรมนีจะแพ้สงคราม และถ้าอังกฤษและฝรั่งเศสตัดสินใจเข้ายึดทรัพย์สินและสิทธิพิเศษของเยอรมนีในสยาม สยามก็จะไม่สามารถทำอะไรได้

แต่หากเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร สนธิสัญญาใด ๆ ที่สยามทำกับเยอรมนีก็จะถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และฝ่ายสัมพันธมิตรอาจยินยอมให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกันซึ่งมีผลผูกมัดสยามตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19

สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบกและเป็นนายทหารกิตติมศักดิ์ของกองทหารม้าฮุสซาร์ของรัสเซีย และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เห็นว่าสยามควรจะเข้าร่วมสงคราม

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงกล่าวว่า จะเป็นประโยชน์ต่อสยามอย่างมากถ้าส่งกองทหารไปยังทวีปยุโรปเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและตั้งใจที่จะเป็นพันธมิตรที่แข็งขัน และจะช่วยเพิ่มโอกาสในการปรับแก้สนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้


1 มิถุนายน 1917 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายกับคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ว่า การจะรอให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาเชิญเพื่อให้เข้าร่วมสงครามคงจะเป็นไปได้ยาก จากนั้นพระองค์ได้กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่สยามจะดำเนินนโยบายของตัวเอง และในตอนเช้าของวันที่ 22 กรกฎาคม 1917 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน ปี 1917 สยามได้ออกประกาศรับอาสาสมัครเข้าประจำการในกองทหารอาสาสมัครที่จะไปช่วยรบประมาณ 1,250 คน ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยขนส่งยานยนต์ บุคลากรทางการแพทย์ และนักบิน โดยก่อนหน้าที่จะส่งทหารอาสาไปแนวรบด้านตะวันตก(Western Front) ซึ่งเป็นบริเวณการสู้รบหลักของสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งคณะทูตทหารซึ่งนำโดย นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้บัญชาการ กองพลที่ 4 ไปประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรปไปก่อนแล้

ทหารฝรั่งเศสในสงครามในช่วงปี 1916ทหารฝรั่งเศสในสงครามในช่วงปี 1916

********

วันที่ 30 กรกฏาคม ปี 1917 เรือเอ็มไพร์ซึ่งได้บรรทุกกองทหารอาสาได้เทียบท่าที่ท่าเรือมาร์กเซย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส หลังจากได้รับการตอนรับจากผู้บัญชาการทหารภาคที่ 15 ประจำมาร์กเซย กองบินของกองทหารอาสาสยามเดินทางไปฝึกที่โรงเรียนการบินที่เมืองอิสทร์ ในเดือนสิงหาคม ปี1917 นักบินสยามที่ผ่านการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานก็ถูกส่งไปยังโรงเรียนฝึกอบรมเฉพาะทางอีกหลายแห่ง แต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ยุติลงเสียก่อน

แม้ว่ากองบินของสยามจะไม่ได้ผ่านการต่อสู้ในสงครามแต่กองบินนี้ก็ได้กลายเป็นแกนหลักในการก่อตั้งกองทัพอากาศไทยในเวลาต่อมา

สำหรับกองทหารบกรถยนต์ได้ถูกส่งไปโรงเรียนฝึกอบรมที่เมืองลียง และเมืองดูร์ดอง เมือวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1918 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กันยายน ของปีเดียวกัน กองทหารบกรถยนต์ได้ถูกส่งไปที่เขตวิลมัวแย็น ซึ่งตั้งอยู่ประมาณ 50 กิโลเมตรจากแนวหน้าสู้รบ เพื่อฝึกอบรมยุทธวิธีทหารเพิ่มเติม

ในระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน ปี 1918 กองทหารบกรถยนต์ประสบความสำเร็จในการการขนส่งทหารจำนวน 3,600 นาย รวมทั้งเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์จำนวนมากถึง 3 พันตันไปที่แนวหน้าสู้รบ จากนั้น กองทหารบกรถยนต์ได้ย้ายที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองแวร์เดิง ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน จนถึงวันสงบศึกวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 1918

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ทางกองบัญชาการขนส่งทางบกกองทัพฝรั่งเศส ได้นำเหรียญเกียรติยศฝรั่งเศส คัว เดอ แกร์ (Croix de Guerre) มามอบให้นายทหารสยามในกองทหารบกรถยนต์ และต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1918 กองทหารบกรถยนต์ได้เดินทัพรวมกับกองทัพสัมพันธมิตรเพื่อเข้ายึดครองเมืองนอยชตัด ในเยอรมนี

CR:::: bbc.com/thai

บทความจาก Bangkok Daily Mail รายงานถึงการมาถึงของกองทหารอาสาสยามในยุโรป ปี 1918บทความจาก Bangkok Daily Mail รายงานถึงการมาถึงของกองทหารอาสาสยามในยุโรป ปี 1918

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์