รังนก...?

รังนก...?


"เฉพาะช่วงผสมพันธุ์"


หลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า นกจะกลับมานอนรังเป็นประจำทุกคืน เหมือนกับคนเราที่กลับมานอนบ้าน แต่ความเป็นจริงแล้วบ้านของนกหรือรังที่เราเคยเข้าใจกันนั้น จะมีอยู่เฉพาะในช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์ นกจะเลือกกิ่งไม้หรือพุ่มไม้เป็นที่หลับนอน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมีที่ประจำของมัน เราอาจจะสังเกตเห็นได้โดยดูจากร่องรอยกองมูลที่มันถ่ายทิ้งไว้ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากบริเวณพื้นดินด้านล่าง

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูกาลผสมพันธุ์ (Breeding Season) นกก็จะเสาะหาแหล่งสร้างรังสำหรับวางไข่ ส่วนใหญ่นกจะเริ่มสร้างรังเมื่อมันจับคู่กันเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากเราเปรียบเทียบลักษณะของรังนกกับรังสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น แมลง ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นกนับเป็นสัตว์ที่มีความชำนาญมากที่สุดในการสร้างรัง โดยมันจะใช้วัสดุหลายรูปแบบและหลายที่ตั้ง นกแต่ละชนิดที่จับคู่กัน ยังมีพฤติกรรมการสร้างรังที่แตกต่างกันออกไป

"ขึ้นอยู่กับชนิด"


บางชนิดทั้งตัวผู้ตัวเมียจะช่วยกันสร้างรัง บางชนิดตัวผู้สร้างรัง ตัวเมียหาวัสดุ หรือตัวเมียสร้างรังและหาวัสดุเอง โดยตัวผู้ไม่ได้ช่วยเหลือใด ๆ เลย แต่ก็มีบางชนิดที่นกไม่มีการสร้างรังเลย หลายคนอาจเคยเห็นรังนกมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย อาจจะสังเกตเห็นว่ารังนกที่พบในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้เพราะ นกแต่ละชนิดจะมีรังที่เป็นแบบฉบับของตนเอง โดยสามารถแบ่งตามลักษณะของวัสดุและตำแหน่งที่ตั้งได้หลายแบบ นกส่วนมากทำรังเป็นรูปถ้วย ไว้ตามง่ามไม้แม้เราถือว่ารังแบบนี้เป็นรูปแบบง่าย ๆ

แต่ก็มีความเหมาะสมมากที่สุด นกหัวขวานเจาะต้นไม้เป็นโพรง แต่นกกะเต็นและนกจาบคา เจาะผนังดินให้เป็นรูลึกเข้าไปเป็นรัง แต่นกบางชนิดไม่ทำรัง แต่มันจะวางไข่บนพื้นดินหรือใบไม้แห้ง โดยการพรางสีสันให้เหมือนกับสภาพแวดล้อมแทน รังนกที่ปราณีตที่สุด เห็นจะเป็นรังของนกกระจาบ ที่สามารถถักทอรังได้อย่างสวยงาม เพราะนกกระจาบตัวผู้จะใช้รังในการเกี้ยวพาราสีอีกด้วย แต่ที่น่าพิศวงที่สุดต้องยกให้ นกกาเหว่าและนกคัดคู ที่ไม่ทำรังเองแต่แอบไปออกไข่ให้นกชนิดอื่นเลี้ยง แม้รังนกจะมีมากมายหลายรูปแบบ

"สร้างรังเพื่อปกป้องไข่"


แต่ วัตถุประสงค์หลักของการสร้างรังนั้นก็เพื่อ เป็นการปกป้องไข่และลูกนกที่จะฟักออกมาให้รอดพ้นจากอันตรายต่าง ๆ เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากศัตรูตามธรรมชาติ หรือสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายภายนอก อันตรายจากศัตรูตามธรรมชาติก็ได้แก่สัตว์ผู้ล่าชนิดต่าง ๆ ที่เข้ามากินไข่ หรือลูกนกที่อยู่ในรัง นกมีการป้องกันโดยการเลือกหาตำแหน่งในการสร้างรัง ที่ศัตรูเข้าถึงยาก เช่น ตามปลายกิ่งไม้ หน้าผาสูงชัน นอกจากนี้นกจะพยายาม

สร้างรังให้ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด เพื่อเป็นการพรางรังจากศัตรู แต่เหยี่ยวและนกอินทรีขนาดใหญ่ เลือกทำรังบนยอดไม้สูงเพื่อจะได้เห็นศัตรูของมันอย่างเด่นชัด ส่วนการป้องกันสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายภายนอก นกจะเลือกต้นไม้กิ่งไม้ที่แข็งแรง พอจะรับน้ำหนักของไข่และลูกนกได้

"ความเหมาะสมในการสร้างรัง"


อุณหภูมิที่เหมาะสมที่ไข่จะฟักเป็นตัว และลูกนกมีการเจริญเติบโตอย่างเป็นปกตินับเป็นปัจจัยสำคัญ นกหลายชนิดทำรังแบบปิดอย่างเช่น รังของนกกระจอกบ้าน

นกที่ทำรังแบบปิดนี้โดยส่วนใหญ่ ลูกนกที่ฟักออกมาจะเป็นตัวอ่อนที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และยังไม่มีขนปกคลุมลำตัว นกพญาปากกว้างซึ่งเป็นนกที่มีรังแบบปิดเหมือนกันมีวิธีการควบคุมความชื้นภายในรัง ให้พอดีโดยการคาบเอาใบไม้สดมาใส่ไว้ในรังด้วย ส่วนนกที่สร้างรังแบบเปิดเช่นรังของไก่ป่า ที่ทำเป็นแอ่งตามพื้นดิน เสี่ยงต่ออันตรายมากกว่า ลูกนกที่ฟักออกมาจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทันที คือเดินได้และมีขนปกคลุมลำตัว ลูกนกจึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศมากนัก ดังนั้นพอสิ้นฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่ รังนกก็แทบจะไม่มีความหมายสำหรับนกอีกต่อไป เพราะมันจะไม่กลับมานอนรังอีกแล้ว...


แหล่งข้อมูล : ไทยทูเบิร์ด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์