7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017


7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017

ขวบปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นพบครั้งสำคัญของวิทยาการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีความก้าวหน้าใหม่ ๆ ทางวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมาย ซึ่งบีบีซีไทยรวบรวมมาให้อ่านกันในช่วงสิ้นปีดังนี้

1. สุสาน "ซานตาคลอส" อาจอยู่ที่ตุรกี

นักโบราณคดีตุรกีค้นพบหลุมฝังศพที่เชื่อว่าอาจเป็นสุสานของนักบุญนิโคลัสแห่งไมรา หรือที่ทั่วโลกนิยมเรียกขานกันในชื่อของ "ซานตาคลอส" ที่โบสถ์นักบุญนิโคลัสในเมืองเดมเรทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศตุรกี


บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า เมื่อราวศตวรรษที่ 4 นักบุญนิโคลัสเคยดำรงตำแหน่งสังฆราชแห่งเมืองไมรา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดอันตัลยาของตุรกี โดยมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องในหมู่ชาวคริสต์จากความอ่อนน้อมถ่อมตนและความใจบุญสุนทานโดยเฉพาะกับเด็ก ๆ

อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่ากระดูกของนักบุญนิโคลัสถูกนำออกไปจากเมืองไมราตั้งแต่ปี 1087 เพื่อหนีการรุกรานของกองทัพชาวเติร์ก และถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่โบสถ์ในเมืองบารีของอิตาลี แต่การค้นพบของนักโบราณคดีชาวตุรกีในครั้งนี้ ชี้ถึงความเป็นไปได้ว่ากระดูกของนักบุญนิโคลัสอาจยังคงอยู่ในที่เก็บแห่งเดิม ซึ่งจะได้มีการตรวจสอบภายในสุสานนี้กันต่อไป


7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017

ด้านมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร ได้ตรวจสอบหาอายุที่แท้จริงของชิ้นส่วนกระดูกที่มีผู้อ้างว่าเป็นของนักบุญนิโคลัสชิ้นหนึ่ง โดยใช้วิธีคาร์บอนกัมมันตรังสีเป็นครั้งแรก และพบว่ามีความเก่าแก่เกือบ 1,700 ปี ซึ่งตรงกับสมัยที่ซานตาคลอสตัวจริงในประวัติศาสตร์ยังมีชีวิตอยู่

ศาสตราจารย์ทอม ไฮแฮม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการของอ็อกซ์ฟอร์ดที่ตรวจหาอายุของกระดูกดังกล่าวบอกว่า แม้ผลการตรวจด้วยคาร์บอน-14 ไม่อาจทำให้ทราบได้ว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกของนักบุญนิโคลัสจริงหรือไม่ แต่การที่พบว่ามีอายุเก่าแก่ตรงกับช่วงชีวิตของ "ซานตาคลอส" ตัวจริงในประวัติศาสตร์ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่ากระดูกชิ้นนี้มีโอกาสเป็นของจริงมากกว่ากระดูกชิ้นอื่น ๆ ที่มักพบว่าเป็นของทำเลียนแบบขึ้นในยุคหลัง

2. อียิปต์พบสุสานใหม่ใกล้หุบเขากษัตริย์และรูปปั้นฟาโรห์รามเสสที่สอง

นักโบราณคดีของอียิปต์ค้นพบสุสานโบราณแห่งใหม่หลายแห่งในหุบเขาใกล้เมืองลักซอร์ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ ห่างจากกรุงไคโรไปทางตอนใต้ราว 700 กิโลเมตร

ห้องลับที่เก็บมัมมี่เหล่านี้อยู่ในสุสานดราอาบูลนากา (Draa Abul Naga) ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาศพของขุนนางชั้นสูงในยุคอาณาจักรใหม่ที่มีความเก่าแก่ราว 3,500 ปี ตั้งอยู่ใกล้หุบเขากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เก็บซ่อนพระศพของฟาโรห์ที่มีชื่อเสียง

7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017

มัมมี่ที่ค้นพบในห้องเก็บศพทั้ง 3 ห้องยังอยู่ในสภาพดี โดยสันนิษฐานว่าเป็นร่างของขุนนางตำแหน่งอาลักษณ์ผู้หนึ่ง และร่างของช่างทองหลวง "อาเมเนมฮัต" พร้อมทั้งครอบครัวในอีกห้องหนึ่ง

การอ่านจารึกในบริเวณนี้ทำให้พบรายชื่อของผู้ตาย ซึ่งน่าจะมีสุสานตั้งอยู่ใกล้เคียงกันอีกหลายราย นักโบราณคดีจึงมีความหวังว่าน่าจะพบสุสานโบราณที่ซ่อนอยู่อีกจำนวนมากนอกจากนี้ ยังมีการค้นพบชิ้นส่วนรูปปั้นขนาดยักษ์ที่น่าจะมีอายุราว 3,000 ปี ใต้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในสลัมทางตะวันออกของกรุงไคโร โดยสันนิษฐานว่าเป็นรูปปั้นของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ซึ่งปกครองอียิปต์อยู่นาน 60 ปี และได้ขยายดินแดนอียิปต์ให้กว้างไกลออกไปมากขึ้นพื้นที่ซึ่งค้นพบรูปปั้นดังกล่าว ตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองเก่าเฮลิโอโปลิส

โดยชิ้นส่วนลำตัวของรูปปั้นที่พบอยู่ในสภาพดี แม้จะจมอยู่ในโคลนใต้ดินมาเป็นเวลานานก็ตาม ทางกระทรวงโบราณคดีของอียิปต์ได้เคลื่อนย้ายรูปปั้นนี้ไปประกอบให้สมบูรณ์และตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงไคโรแล้ว

3. ดีเอ็นเอชี้ชาวเกาะอีสเตอร์ไม่ได้ก่อสงคราม-ทำลายสิ่งแวดล้อม

ผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากโครงกระดูกของชาวราปานุย ซึ่งเคยเป็นผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหญ่บนเกาะอีสเตอร์ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ พบว่าชาวราปานุยเผ่าต่าง ๆ ในอดีตไม่ได้รบราฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่นักโบราณคดีรุ่นก่อนได้สันนิษฐานไว้แต่อย่างใด

 


7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017

ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่า มีซากศพของชาวราปานุยที่ถูกฝังอยู่เพียง 2.5% เท่านั้น ที่มีร่องรอยว่าได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าชาวราปานุยไม่เคยทำสงครามแย่งชิงไม้และดินแดนกันจนจำนวนประชากรลดน้อยถอยลงอย่างมาก ต่างจากที่นักโบราณคดีรุ่นเก่าระบุว่า เคยมีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนักจนเป็นเหตุให้เกาะอีสเตอร์สูญสิ้นทรัพยากรทั้งพืชและสัตว์ป่า และเกิดสงครามตามมา

ผลการศึกษาใหม่เกี่ยวกับชาวราปานุยยังระบุว่า เรื่องการสู้รบระหว่างชนเผ่าในอดีตนั้นเป็นเพียงคำบอกเล่าของชนพื้นเมืองที่ชาวยุโรปบันทึกไว้เมื่อ 300 ปีก่อน ซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ ในขณะที่การจับตัวคนพื้นเมืองไปขายเป็นทาส การบังคับย้ายถิ่นฐาน และโรคติดต่อที่มากับชาวยุโรป น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรชาวราปานุยลดลง

4. พบสุสานผู้นำนักรบไวกิ้งคนแรกที่เป็นหญิง

ผลการตรวจดีเอ็นเอและลักษณะของกระดูกที่พบในสุสานนักรบไวกิ้งยุคศตวรรษที่ 10 บนเกาะ Bjorko ของสวีเดน ยืนยันว่าเจ้าของโครงกระดูกดังกล่าวเป็นหญิง โดยสิ่งของที่อยู่ในหลุมฝังศพชี้ว่าเธอเป็นนักรบและบุคคลสำคัญระดับสูงที่มีบทบาทในการวางแผนและบัญชาการรบด้วย


7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017

หลุมฝังศพแห่งนี้มีการค้นพบครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และมีการถกเถียงกันมานานว่า ร่างของนักรบที่อยู่ภายในนั้นเป็นชายหรือหญิงกันแน่ แต่ผลการวิเคราะห์ล่าสุดจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มชี้ว่า โครงกระดูกดังกล่าวไม่มีโครโมโซมวาย (Y) ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นเพศชาย

คณะนักโบราณคดีผู้ขุดค้นหลุมฝังศพดังกล่าวบอกว่า พบอาวุธและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับนักรบมืออาชีพอย่างครบถ้วนในหลุมฝังศพของนักรบหญิงไวกิ้งผู้นี้ ทั้งดาบ ขวาน หอก โล่ ลูกธนู และซากม้าที่เป็นพาหนะ นอกจากนี้ยังพบกระดานสำหรับเล่นเกมชนิดหนึ่งวางอยู่บนตักของเธอด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเธอคือผู้วางแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพไวกิ้ง

5. เมืองที่สาบสูญของอเล็กซานเดอร์มหาราช

การใช้โดรนสำรวจหาซากเรือจม หรือร่องรอยของโบราณสถานขนาดใหญ่เช่นเมืองทั้งเมืองที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน กำลังมาแรงในปีนี้ โดยล่าสุดมีการค้นพบเมือง Qalatga Darband ในพื้นที่เขตเคอร์ดิสถานของอิรัก ซึ่งคาดว่าเมืองนี้ก่อตั้งขึ้นโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อราว 400 ปีก่อนคริสตกาล และมีชื่อเสียงในเรื่องการค้าไวน์มาก่อน แต่ชื่อของเมืองดังกล่าวก็ได้หายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์ในอีกไม่กี่ร้อยปีต่อมา

7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017

นักโบราณคดีของอิรักและสหราชอาณาจักร ร่วมกันใช้โดรนออกสำรวจบริเวณที่พบในภาพถ่ายทางอากาศของซีไอเอเมื่อช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งปรากฎร่องรอยขอบเขตของเมืองโบราณอยู่ และได้ติดตามจนค้นพบซากเมืองดังกล่าว ซึ่งผลการขุดค้นล่าสุดพบรูปปั้นศิลปะเกรโก-โรมัน รวมทั้งเหรียญเงินของกรีกจำนวนหนึ่ง

6. ลำรางส่งน้ำของโรมันที่เก่าแก่ที่สุด

เมื่อช่วงปลายปี 2016 บรรดาคนงานก่อสร้างซึ่งกำลังขุดอุโมงค์ เพื่อวางเส้นทางรถไฟใต้ดินสายใหม่ในกรุงโรมของอิตาลี ได้พบซากหักพังของลำรางส่งน้ำโบราณ (Aqueduct) ในยุคโรมัน ซึ่งในปีต่อมานักโบราณคดีได้พิสูจน์ทราบว่า ลำรางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของลำรางส่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคโรมันโบราณ

ลำรางส่งน้ำที่พบดังกล่าวมีความยาว 32 เมตร และมีแนวขอบกั้นด้านข้างสูง 2 เมตร อยู่ลึกลงไปใต้ดิน 18 เมตร โดยคาดว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 2,300 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของ Aqua Appia ลำรางส่งน้ำในยุคโรมันที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่นักโบราณคดีในปัจจุบันทราบ โดยน่าจะสร้างขึ้นราว 312 ปีก่อนคริสตกาล

นักโบราณคดีจะได้ศึกษาซากสัตว์และเศษอาหารที่พบในลำรางส่งน้ำนี้ต่อไป เพื่อหาความรู้เรื่องสัตว์เลี้ยง อาหารการกิน โรคภัย และความเป็นอยู่ของชาวโรมันโบราณให้ได้มากยิ่งขึ้น

7. ฟรุตเค้กร้อยปีที่ทวีปแอนตาร์กติกา

องค์กรอนุรักษ์มรดกแอนตาร์กติกทรัสต์ (Antarctic Heritage Trust) ค้นพบขนมเค้กผลไม้แห้งหรือ "ฟรุตเค้ก" สไตล์อังกฤษชิ้นหนึ่งที่มีอายุถึง 106 ปี ที่กระท่อมเก่าแก่หลังหนึ่งบนแหลมเคปอาแดร์ ในดินแดนอันหนาวเหน็บใกล้ขั้วโลกใต้ โดยเชื่อว่าฟรุตเค้กก้อนนี้เป็นอาหารที่เหลืออยู่ของกัปตัน โรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์ นักสำรวจชาวอังกฤษที่รู้จักกันในฉายาว่า "สกอตต์แห่งดินแดนแอนตาร์กติก" นั่นเอง

แม้ว่ากระป๋องบรรจุฟรุตเค้กดังกล่าวจะมีสนิมเขรอะ แต่ผู้ค้นพบระบุว่าขนมยังอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม และกลิ่นก็บ่งบอกว่า "รับประทานได้"

7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017

กระท่อมเก่าแก่ที่ค้นพบฟรุตเค้กในครั้งนี้ สร้างขึ้นโดยคณะนักสำรวจชาวนอร์เวย์เมื่อปี 1899 และเคยถูกใช้โดยกัปตันสกอตต์ในปี 1911 ระหว่างดำเนินโครงการสำรวจแทร์ราโนวา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เชื่อกันว่าคณะนักสำรวจกลุ่มนี้ชื่นชอบการรับประทานฟรุตเค้ก ซึ่งผลิตโดยบริษัทสัญชาติอังกฤษชื่อ "ฮันท์ลีย์ แอนด์ พาล์เมอร์ส" เป็นพิเศษ โดยฟรุตเค้กเป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมชาวอังกฤษยุคนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ การใช้ชีวิตและทำงานในแอนตาร์กติกา ต้องอาศัยอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลปริมาณสูง ซึ่งฟรุตเค้กตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ยังไม่รวมถึงรสชาติที่เข้ากันดีหากว่าจะมีน้ำชาสักถ้วย


7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017

นักอนุรักษ์ยังได้ขุดค้นพบวัตถุโบราณหลายอย่างในกระท่อมหลังนี้กว่า 1,500 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือประเภทต่างๆ เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นเนื้อและปลาที่เน่าเปื่อย รวมทั้งแยมผลไม้ที่สภาพค่อนข้างดี

แม้กัปตันสกอตต์และเพื่อนร่วมคณะสำรวจชาวอังกฤษจะสามารถพิชิตขั้วโลกใต้ได้สำเร็จ แต่ก็ล่าช้ากว่าคู่แข่งจากคณะสำรวจชาวนอร์เวย์ ซึ่งล่วงหน้าไปก่อนแล้ว 33 วัน เรื่องที่น่าเศร้ากว่านั้น คือทีมนักสำรวจชาวอังกฤษเสียชีวิตทั้งหมดระหว่างการเดินทางกลับฐาน

Cr:: bbc.com/thai

7 เรื่องการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2017

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์