การคล้องช้างอันยิ่งใหญ่ต้อนรับเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ


การคล้องช้างอันยิ่งใหญ่ต้อนรับเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
เป็นหนึ่งในบางตอน ของหนังสือชุด "ศาสตร์แห่งการจับช้างของชาวสยาม"
อัษฎางค์ ชมดี และคณะ ได้เรียบเรียงขึ้นจากเอกสารและการพบปะพูดคุยกับผู้รู้ในพื้นที่ต่างๆ ในหลายปีที่ผ่านมา

การคล้องช้างอันยิ่งใหญ่ต้อนรับเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ สมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกก่อตั้งได้ ๑๘ ปี นิตยสารของสมาคม ฉบับที่ ๑๒ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๙ (ค.ศ.๑๙๐๖) ได้พิมพ์เผยแพร่สารคดีและภาพถ่ายประเทศสยามเป็นครั้งแรก (ขณะนั้นนิตยสารราคาเล่มละ ๒๕ เซ็นต์) สารคดีเรื่องนั้นชื่อว่า "The Greatest Hunt in the World" หรือ "การคล้องช้างอันยิ่งใหญ่" บันทึกถ้อยคำโดย "อีไลซา รูหะเมาะห์ สกิดมอร์" (Eliza Ruhamah Scidmore) กล่าวถึงเรื่องราวการคล้องช้างที่เพนียดอันยิ่งใหญ่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕

อีไลซา รูหะเมาะห์ สกิดมอร์ จรดปากกาเขียนบันทึกด้วยอาการตื่นตะลึงในสิ่งที่ได้พบเห็น

การล่าสัตว์หรือการไล่ต้อนสัตว์ใดทั้งปวงมิอาจเทียบการคล้องช้างของพระเจ้ากรุงสยาม การคล้องช้างเป็นธรรมเนียมโบราณของเมืองสยามที่มากสีสัน แม้วันเวลาล่วงมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ แต่ก็ยังคล้องช้างตามแบบแผนโบราณ เป็นที่โปรดปรานของบรรดาราชสำนักชาวพระนคร และชาวบ้านที่พำนักอยู่ริมน้ำรายรอบกรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา แม้พระเจ้ากรุงสยามจะเคยรับสั่งให้คล้องช้างปีละครั้ง แต่ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงสยามพระองค์นี้ว่างเว้นไปบ้าง เนื่องจากทรงเสด็จประพาสยุโรปด้วยพลานามัยไม่สมบูรณ์ และความวุ่นวายในกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส

สยามกำลังเร่งรัดพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัย ความเจริญก้าวหน้าและการเกษตรสมัยใหม่ การขยายเส้นทางรถไฟและการชลประทานได้เปลี่ยนป่าดงกลับกลายเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ เสียงหวูดรถไฟแผดสะท้านกลบเสียงร้องคำรามของช้างป่า และขับไล่ช้างป่ากระเจิงเข้าป่าลึกไป

เมื่อล่วงถึงปี พ.ศ.๒๔๔๕ เมืองสยามมีทั้งรถยนต์และรถม้าจากอังกฤษ ที่หน้าพระบรมมหาราชวังก็จัดตั้งปืนกลแบบญี่ปุ่น ช้างในงานราชการมีไว้เพียงประดับพระเกียรติยศ การใช้ช้างคงมีเพียงงานชักลากไม้ออกจากป่าและสำรวจเส้นทางทุรกันดารตามป่าเขา เนื่องจากช้างมีพละกำลังมหาศาลและฉลาดหลักแหลมกว่าเครื่องจักรกลของชาวอเมริกัน

การคล้องช้างครั้งนั้นจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ ที่เพนียดหลวงพระนครศรีอยุธยา อดีตราชธานีของสยาม เพื่อความสำราญในพระราชหฤทัยในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จนิวัติพระนครหลังทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และทรงเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา การคล้องช้างครั้งนั้นเป็นที่ตื่นตาตื่นใจอย่างมาก

ก่อนวันคล้องช้างหลายสัปดาห์ พนักงานกรมช้างออกไปไล่ต้อนช้างป่ามาจากทางเหนือและทางตะวันออก มีช้างต่อโอบล้อมช้างป่ามาราวสองสามร้อยตัว แล้วต้อนมาทางริมน้ำรอข้ามลำน้ำเพนียดไปยังเพนียดหลวง

พระเจ้ากรุงสยาม เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระราชวังบางปะอิน พร้อมกับทูตและแขกชาวต่างประเทศ แล้วเสด็จฯ ไปอยุธยาด้วยเรือครอบประทุนอันสะดวกสบาย ชาวกรุงเทพฯ โดยสารรถไฟไปกันแน่นขนัด ชาวบ้านที่พำนักอยู่ริมน้ำพายเรือมาตามลำน้ำลำคลองมุ่งหน้าสู่เพนียดหลวง กรุงเก่าอยุธยาที่เงียบสงัดวังเวงกลับครึกครื้นคล้ายเมื่อครั้งเคยเป็นราชธานีอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชีย

เจ้าพนักงานกรมช้างต้อนโขลงช้างออกจากป่าดงลงน้ำในคลองเพนียด เรือนับร้อยลอยลำทอดระยะห่างจากโขลงช้างลงเล่นน้ำด้วยหวั่นเกรงอันตราย เมื่อช้างป่านับร้อยลงเล่นน้ำครึกโครม ฝูงคนก็โห่ร้องตะโกนจนช้างป่าแตกตื่นร้องคำรามก้อง บางตัวสะบัดงวงพ่นน้ำท่าทางน่ากลัว รายรอบโขลงช้างป่ามีช้างต่อยืนขนาบล้อมป้องกันช้างป่าแตกโขลงหนี ช้างต่อยืนส่ายงาไปมาและโบกสะบัดใบหู เมื่อได้สัญญาณ ช้างต่อก็ต้อนโขลงช้างป่าเดินผ่านทุ่งหญ้าเข้าเพนียด

เพนียดจัดทำเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกก่อเชิงเทินเป็นรูปสี่เหลี่ยมหนา ๖ ศอกมั่นคงแข็งแรง ด้านในปักเสาไม้ซุงสูง ๑๒ ฟุต รัดด้วยเหล็กแน่นหนา ระหว่างเสาไม้ซุงเว้นช่องเพียงให้ชาวสยามร่างบางเล็ดลอดหลบจากเพนียดได้ทันหากถูกช้างไล่

พระที่นั่งสำหรับทอดพระเนตรและให้บรรดาทูตและแขกชาวต่างประเทศทอดทัศนาการคล้องช้างปลูกคร่อมเชิงเทินด้านตะวันตกของเพนียด พระเจ้ากรุงสยามโปรดฉายพระรูป จึงให้สร้างพลับพลาขึ้นอีกด้าน เนื่องจากทิศตะวันตกเป็นทำเลไม่เหมาะกับการตั้งกล้องถ่ายรูป ที่พลับพลามีกล้องใหญ่น้อยหลายตัว พระเจ้ากรุงสยามทรงฉายภาพในเพนียดและทูตที่ทรงคุ้นเคยเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย ผู้ที่มาชมการคล้องช้างมีกล้องถ่ายรูปมาด้วยแทบทั้งนั้น แต่ไม่มีผู้ใดกล้าถ่ายภาพพระเจ้ากรุงสยามและพระบรมวงศานุวงศ์ เว้นแต่จะมีพระบรมราชโองการหรือบัญชา อันเป็นธรรมเนียมที่ยังคงยึดถือปฏิบัติกันอยู่แม้ในยุคที่สยามกำลังพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัย

เมื่อโขลงช้างป่าเดินตามปีกกามาถึงทางเข้าเพนียดก็แตกตื่นเบียดเสียดส่งเสียงร้องอึงอล เนื่องจากต้องเดินเข้าประตูทีละตัว แม้ปิดประตูแล้ว แต่ช้างต่อยังต้องช่วยพยุงช้างป่าที่เจ็บให้เดินต่อ และงัดช้างป่าที่ล้มตายให้พ้นทาง การคล้องช้างทุกครั้งมักมีช้างป่าถูกเบียดจนถึงซี่โครงหัก หรือไม่ก็ล้มตายเสมอ เป็นเพราะว่าระหว่างเดินเข้าประตูซองช้างป่าเบียดเสียดกันปั่นป่วนวุ่นวาย ตัวที่เล็กกว่ามักบาดเจ็บหรือล้มตาย

ภายหลังช้างป่าเข้าเพนียด หมอช้างขึ้นช้างต่อคัดช้างป่าลักษณะดีแล้วคล้องเชือกบาศผูกหลักไว้ กรมช้างจะเลือกช้างป่าไว้หัดใช้งานหลวงจำนวนไม่มากนัก ที่เหลือเป็นช้างงานลากซุงและเดินป่าสำรวจ

ช้างป่าและช้างต่อปะปนกันอยู่ในเพนียด แต่จำแนกช้างป่าจากช้างต่อได้ไม่ยาก ช้างต่ออ้วนท้วนสมบูรณ์ สงบเสงี่ยมเชื่อฟังหมอช้าง ขยับเคลื่อนไปทางใดก็คล่องแคล่ว ส่วนช้างป่าค่อนข้างผอมโซ บางตัวมีราขึ้นบนหนังเป็นด่างดวงน่าสังเวช แต่ช้างเหล่านี้หากเลี้ยงดูชุบชูให้ดี เพียงไม่กี่สัปดาห์ก็อ้วนท้วนงดงามและเชื่องเชื่อ

ชาวสยามชำนาญการดูลักษณะช้าง ใครหลายคนที่ยืนอยู่ข้างเพนียดโจษจันเกี่ยวกับช้างเอ็ดอึง ช้างงามต้องตามตำราผิวหนังงดงามไร้ริ้วรอยบาดแผล รอยย่นบนผิวหนังเป็นลายสม่ำเสมอ สีผิวยิ่งอ่อนจางยิ่งงดงาม เล็บเท้าควรมีสีดำ หางต้องไม่แหว่งหรือขาด ช้างดีที่เหมาะกับการเป็นพาหนะเดินทางต้องมีจังหวะการก้าวเท้าสม่ำเสมอ ช้างลักษณะไม่ดีจะถูกต้อนออกจากเพนียดกลับคืนป่า

หลังจากคัดเลือกช้างตามต้องการแล้ว กรมช้างก็ใช้เชือกบาศคล้องช้างป่าผูกไว้กับหลัก บางตัวแม้ถูกโยงกับหลักก็ยังดิ้นหลุดออกมาได้ ตัวที่หลุดตื่นคะนองทำท่าจะกระโจนเข้าใส่คน กรมช้างต้องโขยกช้างต่อโจนเข้าขวางปะทะกันเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ฝูงคนดูโห่ร้องดังก้องไปทั้งเพนียด

เมื่อคล้องช้างป่าได้ตามต้องการ กรมช้างก็ต้อนช้างป่าที่เหลือไปปล่อยให้กินหญ้ากินน้ำก่อนจะปล่อยกลับคืนป่า พระเจ้ากรุงสยามเสด็จฯ กลับทางเรือ ฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศชุดขาวสะอ้าน ทรงเร่งฝีพระบาทยามเสด็จพระราชดำเนิน พนักงานกางพระกลดต้องรีบก้าวเท้าตามให้ทัน ชาวสยามคุกเข่าถวายบังคมกันถ้วนหน้า ทูตหลายคนชื่นชมพระบารมีพระเจ้ากรุงสยามว่ามีพระวรรณะงดงามเป็นสง่าราศี บางคนพูดว่าทรงเป็นบุรุษรูปงามที่สุดในเอเชีย

เมื่อพระเจ้ากรุงสยามเสด็จฯ กลับแล้ว ชาวสยามที่ดูการคล้องช้างด้วยความสำราญก็หยิบหมากคำใหม่ใส่ปากเคี้ยวอย่างสบายอารมณ์ ลุกขึ้นยืนจัดผ้านุ่งให้เรียบร้อย บางคนเดินลุยน้ำกลับ บางคนลงเรือแล้วจ้ำพายกลับ กรุงเก่าอยุธยาที่ครึกครื้นด้วยผู้คนล้นหลามก็พลันกลับกลายเป็นชุมชนริมน้ำใกล้กับวัดร้างกลางป่าเช่นเดิม

ขอบคุณ คุณ ในนามสุรินทร์สโมสร


การคล้องช้างอันยิ่งใหญ่ต้อนรับเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์