วีรกรรมของ เจิ้งเหอ คือการนำทัพเรือออกเดินทางตระเวนไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ตามพระราชประสงค์ของพระจักรพรรดิ์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ทุกชาติส่งเครื่องบรรณาการมาจีนอย่าได้ขาด เนื่องจากในช่วงนั้น จักรพรรดิ์หยงเล่อเพิ่งจะขึ้นครองราช จึงต้องสำแดงฤทธานุภาพให้ทุกชาติได้ประจักษ์
อีกจุดประสงค์หนึ่งก็คือ พระองค์ต้องการแผ่แสนยานุภาพให้กว้างไกลออกไป ให้ทั่วโลกได้รู้ถึงความยิ่งใหญ่ของจีน และต้องการบุกเบิกเส้นทางการเดินเรือ อีกทั้งยังหวังประโยชน์จากการค้าขายกับชาติเหล่านั้นอีกด้วย
นายพลเรือเจิ้งเหอออกเดินเรือทั้งหมด 7 ครั้ง แต่ละครั้งมีจุดประสงค์แตกต่างกัน แต่รวมๆแล้วเส้นทางครอบคลุมไปทั่วโลกกว่า 30 ประเทศ รอนแรมผ่านทางทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย ไปถึงประเทศอินเดีย ทวีปแอฟริกา และในการเดินเรือครั้งที่ 6 ปี ค.ศ.1421 ทัพเรือของเจิ้งเหอ ได้ไปค้นพบทวีปอเมริก ซึ่งเป็นการพบก่อนหน้าโคลัมบัสถึง 70 ปี
ในการเดินเรือทั้ง 7 ครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างลึกซึ้ง คือ ครั้งที่ 2 เนื่องจากในครั้งนั้น นายพลเรือผู้เกรียงไกรเสด็จมาเยือนกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของ สมเด็จพระรามราชาธิราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์อู่ทอง
และก่อนที่เจิ้งเหอ จะมาเยือนไทยนั้น ทั้งอู่ทองและสุพรรณภูมิ ต่างแก่งแย่งชิงอำนาจกันอย่างถึงพริกถึงขิง โดย 2 เจ้าอาณาจักร คือ สมเด็จพระรามราชาฯแห่งอู่ทอง และเจ้านครอินทร์แห่งสุพรรณภูมิ ถือเป็นคู่แค้นสายโลหิตอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากพี่ใหญ่จีนมากกว่าก็คือ เจ้านครอินทร์ เนื่องจากราชวงศ์สุพรรณภูมิมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับราชวงศ์หมิงมาแต่เดิม โดยเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีฯยังครองราชอยู่นั้น ความสัมพันธ์ไทย - จีนอยู่ในขั้นดีเยี่ยม ก่อนที่สุพรรณภูมิจะเสียบัลลังก์ให้กับอู่ทองไป
อีกทั้งตัวเจ้านครอินทร์เอง ทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ด้วย และเคยเสด็จไปเมืองจีนมาแล้วถึง 3 ครั้ง ดังนั้น ราชสำนักจีนจึงเป็นกองหนุนอย่างดีของสุพรรณภูมิ
เมื่อเจิ้งเหอ นำพระราชสาสน์จากจักรพรรดิ์จีนมาถึงเมืองไทย แทนที่จะตรงมาเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระรามราชาฯที่กรุงศรีอยุธยา กลับแวะไปอินทรบุรีเยี่ยมเจ้านครอินทร์ก่อน และต้อนรับขับสู้กันอย่างสนิทชิดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวกมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระรามราชาฯที่กรุงศรีอยุธยา เจิ้งเหอ กลับแสดงอาการเย็นชาใส่พระองค์ ทั้งๆที่ได้รับพระราชทานการต้อนรับอย่างเอิกเกริก
สิ่งนี้เอง เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ความอดทนของกษัตริย์แห่งราชวงศ์อู่ทองสิ้นสุดลง เมื่อเจิ้งเหอกลับไป สมเด็จพระรามราชาฯ จึงสั่งลุยทันที ด้วยการสั่งจับกุมทหารและพรรคพวกของเจ้านครอินทร์ทั้งหมด ทำให้เจ้านครอินทร์อดรนทนอยู่ไม่ไหว จำต้องยกทัพจากเมืองอินทร์มาบุกกรุงศรีอยุธยา
ผลปรากฏว่า ทัพของผู้มาเยือนเป็นฝ่ายมีชัยและยึดกรุงศรีฯได้ เจ้านครอินทร์จึงปราบดาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่าสมเด็จพระนครินทราธิราช หรือ พระอินทราชา และฟื้นฟูราชวงศ์สุพรรณภูมิกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับการสิ้นสุดลงของราชวงศ์อู่ทอง ความสัมพันธ์ไทย - จีนจึงกลับมาแน่นแฟ้นนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จะเห็นได้ว่า จีนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดอนาคตของไทย ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อม แม้ราชบัลลังก์ของไทย จีนก็ยังมีส่วนร่วมชี้ชะตา สำหรับตัวท่านเจิ้งเหอนั้น ทุกวันนี้ยังเป็นที่กราบไหว้กัน ของคนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งคนไทย โดยรู้จักกันดีในนามของพระซำปอกง
รองแชมป์ "แฟนพันธ์แท้" ความสัมพันธ์ไทย-จีน