สงครามยุทธหัตถี


สงครามยุทธหัตถี (พ.ศ. 2136)
ฉบับอูกาลาและฉบับหอแก้ว (พงศาวดารพม่า)

ทัพมหาอุปราชานั้นเคลื่อนมาถึงกรุงศรีอยุธยา ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 พระมหาอุปราชานั้นทรงพระคชาธารนามเยโปงโซง *(๑) เบื้องขวาพระองค์ยืนด้วยพระคชาธารและกำลังไพร่พลของพระอนุชาตะโดธรรมราชา *(๒) ส่วนเบื้องซ้ายยืนด้วยพระคชาธารและไพร่พลของนัตชินนอง *(๓) แลตัดออกไปเบื้องขวาไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระคชาธารแห่งมหาอุปราชานั้นยืนด้วยช้างของเจ้าเมืองซามะโร *(๔) ซึ่งกำลังตกน้ำมันหนักถึงกับต้องใช้ผ้าคลุมหน้าช้างไว้

ข้างพระนเรศวรกษัตริย์อยุธยาทรงพระคชาธารชื่อพระลโบง *(๕) จึงนำไพร่พลทแกล้วทหารเป็นจำนวนมากออกมาจากพระนคร หมายเผด็จดัสกร

ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชา ก็ไสพระคชาธารเข้ายังตำแหน่งที่จอมทัพพม่านั้นประทับอยู่โดยแรงเร็ว ฝ่ายเจ้าเมืองซามะโรครั้นเห็นพระนเรศวรขับพระคชาธารตรงรี่หมายเข้าชิงชนช้างประทับ ก็เปิดผ้าคลุมหน้าช้างพระหนะแห่งตนออก หมายมุ่งพุ่งสกัดช้างทรงองค์นเรศวร แต่ช้างตกน้ำมันเชือกนั้นกลับหันรีหันขวาง แลกลับตัวเข้าแทงโถมเอาช้างทรงองค์อุปราชาโดยกำลังแรง พระมหาอุปราชาจึงจำต้องขับพระคชาธารเข้ารับไว้ ซึ่งช้างทรงองค์จอมทัพพม่าถึงจามสนั่น (ด้วยบาดเจ็บสาหัส) แลขณะนั้นข้างอยุธยาก็ระดมยิงปืนสวนทางมากระสุนถูกเอาองค์อุปราชาโดยถนัด จนสิ้นพระชนม์ซบกับคอคชาธาร คุเยงพละกลางช้างพระที่นั่งเห็นมหาอุปราชาต้องปืนใหญ่ *(๖) ก็เข้าพยุงพระศพไว้ และบังคับช้างเข้ากำบังในพุ่มไม้ ข้างพระนเรศวรยังไม่ทรงทราบว่ามหาอุปราชาหาพระชนม์ชีพไม่ จึงไม่ทรงขับพระคชาธารตามติดปะทะ เพียงยั้งรออยู่

ขณะนั้นนัตชินนองซึ่งทรงพระคชาธารนามอูบอตะกะ อยู่เบื้องซ้ายก็ไสพระคชาธารเข้าชนพระคชาธารทรงองค์นเรศวรกษัตริย์อยุธยา พระนเรศวรจำต้องถอยร่น แลตะโดธรรมราชา เห็นจอมทัพอยุธยาเพลี่ยงพล้ำร่นถอยก็กวัดแกว่งของ้าวขับช้างนำรี้พลตามติดเข้าตี ข้างองค์นเรศวรเมื่อถอยถึงคูพระนครก็รีบนำทัพเข้าภายในอาศัยพระนครนั้นตั้งรับ ข้างฝ่ายพม่าที่ไล่ตามติดมีเจ้าเมืองโทงโบและเจ้าเมืองเวงยอ ถลำรุกรบล่วงเลยเข้าไปมากจึงถูกจับเป็นเชลยสิ้น แต่ฝ่ายอยุธยานั้น อำมาตย์ออกญาเปะ และออกญาจักรีก็ถูกทหารนัตชินนองล้อมจับได้ทั้งเป็น

เมื่อเกิดเหตุจนมหาอุปราชาถึงสิ้นพระชนม์แล้ว ตะโดธรรมราชา แลเหล่าทหารน้อยใหญ่ทั้งหลายต่างก็ถอยทัพไปประชุมพลอยู่ไกลว่าถึงกว่าหนึ่งตาย จากตัวพระนครโดยประมาณ (ระยะ 2 ไมค์) และนายทัพทั้งหมดทั้งสิ้นต่างก็หันหน้าปรึกษาราชการศึกว่า ครั้งนี้ยังจะจัดการพระศพองค์อุปราชาเสียในแดนโยธยาและระดมตีกรุงต่อไป หรือจะนำพระบรมศพกลับคืนสู่พระนคร ....ฯลฯ

*(๑) ส่วนหลักฐานไทยระบุนามช้างทรงนี้ว่า พัทธะกอ
*(๒) เจ้าเมืองแปร
*(๓) โอรสพระเจ้าตองอู
*(๔) ฝ่ายไทยว่าเป็นพระพี่เลี้ยงชื่อจาปะโร
*(๕) ฝ่ายไทยว่าพระยาไชยานุภาพ
*(๖) ปืนที่ยิงมหาอุปราชานั้น ฉบับอูกาลาระบุว่า คือ ปืนชนิดเดียวกับที่เรียกว่า Jingal ในภาษาอังกฤษ

สงครามยุทธหัตถี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์