เจ้านายที่ถูกประหารชีวีตด้วยท่อนจันทร์พระองค์สุดท้าย

"..ถึงปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๑๐ พุทธศักราช ๒๓๙๑ เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลนี้ ครั้นมาถึงเดือนอ้าย พระยาธนูจักรรามัญ ทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย กล่าวโทษกรมหลวงรักษรณเรศว่า ชำระความไม่ยุติธรรม กดขี่บุตรชายว่าเป็นผู้ร้ายย่องเบาลักเอาเงินทองสมิงพิทักษ์เทวาไป สมิงพิทักษ์เทวาเป็นโจทก์ จึ่งโปรดให้ประชุมเสนาบดีชำระความใหม่ ก็ได้ความจริงว่าบุตรพระยาธนูจักรมิได้เป็นผู้ร้าย ผู้ร้ายนั้นคือบุตรเขยของสมิงพิทักษ์เทวาเอง ทรงขัดเคืองกรมหลวงรักษรณเรศเป็นอันมาก ตรัสบริภาษว่า ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง หวังจะให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยปฏิบัติราชกิจการต่างพระเนตรพระกรรณ ก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในยุติธรรมกดขี่หักหาญถ้อยความให้วิปริตผิดๆ เช่นนี้คงหลายเรื่องหลายคราวมาแล้ว ก็เพราะด้วยอ้ายพวกละครชักพาให้เสียคน

จึงโปรดฯ เกล้าให้ตุลาการค้นหาความอื่นขึ้นมาชำระอีกต่อไป ได้ความว่า กรมหลวงรักษรณเรศชำระความของราษฎรมิได้เป็นยุติธรรมสมกับที่ไว้วางพระราชหฤทัย ด้วยพวกละครและข้าในกรมรับสินทั้งฝ่ายโจทย์ฝ่ายจำเลย แล้วหักความเอาชนะจงได้ ในกรมเองก็เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ลอยกระทงก็ขึ้นไปลอยถึงกรุงเก่าบ้าง เมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง ทำเลียนธรรมเนียมในหลวงทรงลอย พวกละครก็ให้ห่มแพรสีทับทิมใส่แหวนเพชรเลียนหม่อมห้าม อีกทั้งเกลี้ยกล่อมขุนนางและกองรามัญไว้เป็นพวกพ้องก็มาก ผู้ใดไม่มาเข้าฝากตัวก็พยาบาทเคียดแค้น ตั้งแต่ริเล่นละคร ก็ไม่ได้บรรทมข้างใน อยู่แต่ที่เก๋งข้างท้องพระโรงด้วยพวกละคร จึงรับสั่งให้เอาพวกละครมาแยกกันไต่ถามค้นความ ก็ได้ความสมพ้องว่าได้เป็นสวาทไม่ถึงชำเรา แต่เอามือคนละครและพระหัตถ์ท่านกำคุยหฐานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ให้สำเร็จภาวะธาตุเคลื่อนพร้อมกันเท่านั้น

แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตุลาการถามกรมหลวง ว่าเป็นทรงชุบเลี้ยงเจ้าใหญ่นายโตถึงเพียงนี้ เล่นการเช่นนี้สมควรอยู่หรือ กรมหลวงรักษรณเรศให้การว่า การที่ไม่อยู่กับลูกเมียนั้นหาเกี่ยวข้องแก่การแผ่นดินไม่ ตุลาการถามอีกข้อ ๑ ว่า ที่เกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางไว้เป็นพรรคพวกมากนั้นจะคิดกบฏหรือ กรมหลวงรักษรณเรศให้การว่าไม่ได้คิกกบฏ จึงถามต่อไปว่า ถ้าไม่ได้คิดกบฏก็แล้วเกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกไว้เหตุใด กรมหลวงรักษรณเรศจึงตอบว่า คิดอยู่ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินไปแล้ว ก็จะไม่ยอมเป็นข้าของใคร ตุลาการถามอีกข้อ ๑ ว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วจะเอาเจ้านายพระองค์ใดเป็นวังหน้า กรมหลวงรักษรณเรศให้การว่าคิดอยู่ว่าจะเอากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ จึงจดคำถามตุลาการแลคำให้การของกรมหลวงรักษรณเรศขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงวินิจฉัยต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริปรึกษาด้วยพระราชวงศานุวงศ์เสนาบดีว่า กรมหลวงรักษรณเรศมีความผิดหลายอย่าง ทั้งบังเอาเงินเบี้ยหวัดและเงินวัดพระพุทธบาทปีหนึ่งหลายสิบชั่งไปเป็นอาณาประโยชน์ ครั้นจะเลี้ยงไว้ต่อไปก็ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เห็นควรอย่างไรดี พระราชวงศานุวงศ์และเสนาบดีกราบทูลว่า แม้จะไม่เอาโทษปล่อยไปเสีย ด้วยจะชุบเลี้ยงไว้ต่อไปก็ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เหมือนตีอสรพิษให้หลังหักระแวดระวังยาก

         
          ถึงวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๓ ค่ำ ปีวอกสัมฤทธิศกนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ตุลาการทำกระทู้ซักถามกรมหลวงรักษรณเรศว่า ที่ตัวได้เป็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุกๆ พระองค์ จึงได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้นๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ ๒๕ ปีแล้ว บัดนี้ก็ปรารถนาถึงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ตัวระลึกถึงความหลังดู แต่ก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้และกรมหมื่นสุรินทรรักษ์กับตัวก็ได้ทำราชการมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ สมเด็จพระบรมชนกนาถ จนถูกหนังสือทิ้งฟ้องกล่าวหามาด้วยกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้สำคัญพระราชหฤทัยว่าได้เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากกันมา ฝ่ายกรมหมื่นสุรินทรรักษ์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ยังอยู่แต่ตัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงไว้วางพระราชหฤทัยให้ช่วยราชการแผ่นดินต่อมา ตัวประพฤติการคดๆ โกงๆ เอาสินบนในการชำระถ้อยความและตั้งขุนนาง ก็ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่บ้าง ได้ทรงเตือนสติหลายครั้งหลายคราว ว่าอย่าทำให้ราษฎรเขาติฉินนินทาหมิ่นประมาทได้ อย่าให้ชื่อชั่วช้าตราตรึงอยู่กับแผ่นดิน เหมือนตัวประพฤติการที่ไม่อยู่กับเมียดังนี้ ก็มีผู้มาพูดว่าทั้งผู้ชายผู้หญิง ข้างผู้ชายนั้นกรมขุนรามอิศเรศเป็นต้น จนกระทั่งมหาดเล็กเด็กชา ฝ่ายผู้หญิงนั้นเมียของตัวที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดก็มาเล่าให้ฟังออกเซ็งแซ่ ว่าตัวไม่อินังขังข้อกับลูกเมีย ไปหลงรักอ้ายคนโขนคนละคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ จึงทรงพระราชดำริว่าจะชอบใจอย่างเจ้าปักกิ่งเตากวางรักงิ้ว จะซ่องเสพผู้ชายบ้าง ผู้หญิงบ้างกระมัง ครั้นจะทรงห้ามปรามว่ากล่าวให้รู้สึกตัวว่า กระทำดังนี้ไม่ดีไม่งามความก็จะอื้ออึงออกไป เหมือนจะแกล้งประจานให้ญาติได้รับอัปยศ แล้วทรงพระราชดำริว่า แต่ก่อนกรมหลวงเทพพลภักดิ์ก็ประพฤติไม่อยู่กับลูกเหมือนกัน สมเด็จพระบรมวงศาธิราชซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในราชวงศ์ก็ทรงทราบทุกพระองค์ ก็หาได้ว่ากล่าวกรมหลวงเทพพลภักดิ์ประการใดไม่ 

คราวนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมิได้เอาพระราชหฤทัยเป็นธุระ ด้วยสำคัญว่าเขาประพฤติให้เหมือนพี่ชาย เป็นพืชพันธุ์ลูกอียายเดนเกือก เป็นคนอุบาทว์บ้านอุบาทว์เมือง แล้วมิหนำซ้ำกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกเส้นหญ้าใบไม้ ด้วยโลภเจตนา ให้ขายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้นของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ทั้งขายหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยความชั่วของตัวฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไปทั่วนานาประเทศทั้งปวง หาควรไม่เลย ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก แล้วยังมาคิดทักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่างว่าแต่มนุษย์เขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดให้ถอดเสียจากกรมหลวง ให้เรียกว่าหม่อมไกรสร ลงพระราชอาญาแล้วให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ที่วัดปทุมคงคา ณ วันพุธเดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำนี้ บ่าว ๓ คน กับขุนวุทธามาตย์ขุนศาลคน ๑ เป็น ๔ คนด้วยกัน เอาไปประหารชีวิตที่สำเหร่ในวันเดียวกัน"

ราว พ.ศ.๒๓๙๑ ซึ่งเป็นปีที่หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษ มีผู้นำพระพุทธรูปหินทรายจากชวามาถวายพระวชิรญาณภิกขุ พระองค์พระราชทานนามว่า 'พระไพรีพินาศ' 

ภายหลังปรากฏแผ่นกระดาษในพระเจดีย์ไพรีพินาศมีพระราชหัตถเลขาว่าว่า 

"พระสถูปเจดิยสิลาบัลลังองค์จงมีนามว่าพระไพรีพินาศเทิญ' ด้านหลังมีข้อความว่า 'เพราะตังแต่ทำแล้วมาคนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ" 

เพราะว่าหม่อมไกรสรในอดีตนั้นก็มีเรื่องเล่าว่าเคยระรานเจ้าฟ้ามงกุฎอยู่ตลอดมา พอสิ้นไปแล้วก็เท่ากับ 'ไพรีพินาศ' แล้วนั่นเอง

เจ้านายที่ถูกประหารชีวีตด้วยท่อนจันทร์พระองค์สุดท้าย

ภาพ : ศาลหม่อมไกรสร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษรณเรศ )
อ้างอิง : พงศาวดารฉบับรัตนโกสินทร์
ที่มาจาก:: ร้อยเรื่องราว ไปกับ เจ้าคุณปราบสุราพินาศ

เจ้านายที่ถูกประหารชีวีตด้วยท่อนจันทร์พระองค์สุดท้าย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์