วิพากษ์ประวัติศาสตร์ จริงๆแล้วคือ พระ นเรศวร หรือ พระนเรศ ?

พระนเรศวร หรือ พระนเรศ .

คำว่า "นเรศวร" ที่บางครั้งอาจสะกดเพี้ยนเป็น "นะเรศวร" หรือ "ณเรศวร" โดยรูปศัพท์แล้วมาจากการสนธิของคำว่า นร (คน) กับคำว่า อีศวร (พระอิศวร หรือความเป็นใหญ่)
.
แต่ในระยะหลัง เริ่มมีการตั้งข้อสงสัยว่าพระนาม "พระนเรศวร" อาจจะไม่ใช่พระนามที่ถูกต้องของพระองค์ ซึ่งเข้าใจว่าผู้ที่นำเสนอข้อสันนิษฐานนี้เป็นคนแรกคือ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ได้กล่าวปาฐกถาในงานรำลึกครบรอบ ๔๐๐ ปีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓
.
ทั้งนี้เพราะพระนาม "นเรศวร" นั้นเป็นพระนามที่ค้นพบแต่ในเอกสารที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นหลัก
.
เมื่อพิจารณาหลักฐานอื่นๆ ประกอบ จะพบว่าหลักฐานที่มีอายุถึงสมัยอยุทธยา ไม่มีฉบับไหนระบุพระนามว่า "พระนเรศวร" เลย ส่วนมากมักระบุพระนามว่า "พระนเรศ" และหลักฐานสมัยรัตนโกสินทร์หลายชิ้นก็ยังระบุพระนามแบบนั้นเช่นเดียวกัน ซึ่งจะยกตัวอย่างต่อไปนี้
.
- พระราชพงศาวดารพม่า ฉบับหอแก้ว (Hmannan Maha Yazawindawgyi) ระบุพระนามว่า พรนรจ์ (ဗြနရစ်) ออกเสียงตามสำเนียงพม่าว่า Bra Narit ซึ่งคงเพี้ยนมาจาก "พระนริศ" หรือ "พระนเรศ"
- ศิลาจารึกหมายเลข K27 หรือศิลาจารึกวัดโรมโลก ที่จังหวัดตาแก้ว ประเทศกัมพูชา จารึกเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองละแวกใน พ.ศ.๒๑๓๑ ระบุพระนามว่า "พฺระ นเรสฺส"
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเอกสารของล้านนาระบุพระนามว่า "พระนเรศ"
- โคลงมังทรารบเชียงใหม่ที่แต่งใน พ.ศ.๒๑๕๗ ระบุพระนามว่า "นอเรศ" หรือ "นอเรตย์"
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oost-Indische Compagnie-VOC) ประจำกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งเขียนใน พ.ศ. ๒๑๘๓ ระบุพระนามว่า "พระนเรศราชาธิราช" (Pra Naerith Raetsia Thieraij)
- สังคีติยวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพน เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมได้แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๑ ระบุพระนามในภาษามคธว่า "นริส์สราชา"
- พระไอยการกระบดศึก ปีขาล จุลศักราช ๙๕๕ (พ.ศ.๒๑๓๖) ในประมวลกฎหมายตราสามดวง ได้ระบุพระนามว่า "สมเดจ์บรมบาทบงกชลักษณอัคบุริโสดมบรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศเชษฐาธิบดี"
- เอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นคำให้การของเชลยไทยสมัยเสียกรุงครั้งที่ ๒ แปลจากภาษามอญ ระบุพระนามว่า "พระนเรศร์"
.
มีพระนามที่แปลกออกไปบ้างเช่นพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่ชำระใน พ.ศ. ๒๒๒๔ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ระบุพระนามว่า "สํมเดจพระณะรายบ่พิดรเปนเจัา" "สมเดจพระณรายเปนเจัา" หรือ "ส่มเดจพระณรัายบ่อพีตรเปนเจา" สันนิษฐานเป็นพระนามที่เรียกเฉลิมพระเกียรติเป็นพิเศษว่าทรงเป็นพระนารายณ์อวตาร ซึ่งยังในเอกสารอื่นๆ อย่างเช่นคำให้การชาวกรุงเก่า และตำนานพราหมณ์นครศรีธรรมราชก็เรียกพระองค์ว่า "พระนารายณ์เมืองหาง" เพราะพระองค์สวรรคตที่เมืองหาง
.
เอกสารสมัยรัตนโกสินทร์เอง แม้จะปรากฏพระนาม "นเรศวร" แล้ว แต่ก็มีพระนาม "นเรศ" อยู่ อย่างเช่น พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่มี "พระนเรศ" หรือ ฉบับบริติชมิวเซียมที่มี "พระนเรจ์" "พระณะเรศเจ้า" ซึ่งในฉบับที่ชำระต่อๆ มาถูกแก้เป็น "นเรศวร" ทั้งหมด หรือในพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ ๔ พระราชทานไปยังเซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ที่บุพระนามว่า "Naresr (นเรศร์)"
.
จะเห็นได้ว่าในหลักฐานส่วนใหญ่ของทั้งไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่เอกสารทั่วไปจนถึงพระนามแบบทางการอย่างที่พบในพระไอยการกระบดศึกจะระบุพระนามว่า "นเรศ" ซึ่งมาจากการสนธิของคำว่า นร (คน) กับคำว่า อีศ (ผู้เป็นใหญ่)
.
จึงทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่ว่าพระนามที่ถูกต้องน่าจะเป็น "พระนเรศ" มากกว่า "พระนเรศวร"
.
ซึ่งถ้าข้อสันนิษฐานดังกล่าวถูกต้องก็นำมาสู่ข้อสงสัยต่อมาว่าแล้วพระนามพระนเรศเป็นพระนามที่ถูกต้อง แล้วคำว่า นเรศ (นร + อีศ) กลายเป็น นเรศวร (นร + อีศวร) ไปได้อย่างไร
.
เรื่องนี้ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียรได้สันนิษฐานโดยอิงจากศิลาจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิหรือพระเฑียรราชาซึ่งเป็นพระอัยกา (ตา) ของสมเด็จพระนเรศวร
โดยในจารึกนั้นระบุพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่า "สํเดจพฺระปรมมหาจกฺกรพตฺติวรราชาธิราช (สมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช)"
.
ดร.วินัยได้สันนิษฐานว่สมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นพระนัดดา (หลาน) ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็น่าจะใช้สร้อยพระนาม "วรราชาธิราช" ต่อท้ายแบบเดียวกัน เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงสายสัมพันธ์กับพระอัยกา
.
โดยพระนามจริงของสมเด็จพระนเรศวร (ตามการสันนิษฐานของ ดร.วินัย) น่าจะเป็น สมเด็จพระนเรศ วรราชาธิราช
.
แต่เหตุที่กลายมาเป็น "นเรศวร" นั้น ดร.วินัยได้สันนิษฐานไว้ว่า เป็นการตัดคำผิดจาก นเรศ-วรราชาธิราช เป็น นเรศวร-ราชาธิราช

"ถ้าหากว่า อาลักษณ์ในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งชำระพงศาวดารและได้พบเอกสารเก่าซึ่งเผอิญมีพระนามที่ถูกต้องของสมเด็จพระนเรศวรฯอยู่ ก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่จะตัดคำผิดเป็น ‘นเรศวร-ราชาธิราช' โดยเข้าใจว่า ‘ราชาธิราช' เป็นสร้อยวลียกย่องพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระนามว่า ‘นเรศวร' (นร + อีศวร)"
.
ข้อสันนิษฐานเรื่องการวรรคพระนามผิด รวมไปถึงประเด็นสร้อยพระนาม "วรราชาธิราช" นับว่าน่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน และ ดร.วินัยเองก็บอกเองว่าท่านแค่ "เดา" เท่านั้นครับ

"...กระผมขอเดาว่าสร้อยพระนาม ‘วรราชาธิราช' มีความสัมพันธ์ในเชิงสัญลักษณ์ซึ่งแสดงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรฯ กับสมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิ ผู้เป็นพระเจ้าตา."
.
สำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ การศึกษาเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ เป็นเรื่องที่สมควรทำ แต่ก็ยังไม่ควรสรุปทันทีว่าข้อสันนิษฐานนี้จะเป็นความจริงทั้งหมด และควรคิดวิเคราะห์ตามไปด้วยครับ
ดังนั้นแม้จะมีหลักฐานว่าพระนามจริงน่าจะเป็น "พระนเรศ" ก็ตาม แต่เราก็ยังไม่ควรสรุปชี้ชัดไปในทันทีว่า "พระนเรศวร" เป็นพระนามแปลกปลอมที่เกิดขึ้นในสมัยหลังแต่ประการเดียวครับ
ข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์เเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ ขึ้นกับหลักฐานใหม่ๆ ซึ่งอาจค้นพบได้อีกในอนาคตครับ

ขอบคุณที่มาจาก :: FB วิพากษ์ประวัติศาสตร์ 

วิพากษ์ประวัติศาสตร์ จริงๆแล้วคือ  พระ นเรศวร หรือ พระนเรศ ?


วิพากษ์ประวัติศาสตร์ จริงๆแล้วคือ  พระ นเรศวร หรือ พระนเรศ ?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์