เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย สาระที่น่าสนใจจากวรรณกรรมสี่แผ่นดิน ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช วรรณกรรมที่ถูกนำมาถ่ายทอดเป็น ละครโทรทัศน์,ละครเวที, และ ภาพยนต์มาแล้วหลายครั้ง .....

เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

"การเข้าเฝ้าถวายตัวในพระราชสำนักฝ่ายใน"

เมื่อแม่แช่มพาพลอยมาถึงตำหนักเสด็จแล้ว ได้พักผ่อนคุยกับคุณสายสักครู่ คุณสายก็จัดเตรียมพานทอง แลธูปเทียนแพ แม่แช่มถามว่า "นั่นคุณทำอะไรคะ" คุณสายตอบว่า "ก็จัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียนให้พลอยถวายตัวเสด็จไงเล่า"

การเข้าเฝ้าถวายตัวในพระราชสำนักฝ่ายใน คือการถวายตัวเป็นข้าทูลละอองพระบาทในเจ้านายตำหนักต่างๆ เจ้านายแต่ละพระองค์จะมีผู้นำบุตรหลานมาเข้าเฝ้าถวายตัวเพื่อรับใช้ และเพื่อจะได้มีโอกาสศึกษาขนบธรรมเนียม กิริยามารยาท ตลอดจนวิชาการต่างๆ ของกุลสตรีเป็นการเพิ่มพูนคุณสมบัติของสตรีนั้นให้มีคุณค่ายามเมื่อทูลลาจากไปเพื่อมีครอบครัว

สมัยโบราณถือว่า วังคือมหาวิทยาลัยสำหรับกุลสตรี หากได้เข้ามาอยู่ในวังเท่ากับได้เข้ามาศึกษาความรู้ในระดับมหาวิทยาลัย

วิธีการเข้าเฝ้าถวายตัว เป็นข้าหลวงหรือเป็นผู้อยู่ในพระอุปการะของเจ้านายแต่ละพระองค์ หรือแต่ละตำหนักมีวิธีการคล้ายคลึงกันจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ขึ้นอยุ่กับพระบารมีและพระอัธยาศัยแห่งเจ้านายพระองค์นั้น เช่น การถวายตัวในตำหนักสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) จะมีระเบียบการวิธีปฏิบัติเพิ่มขึ้น คือจะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาก่อน เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเฝ้าจึงจะนำเข้าเฝ้าได้ ท่านข้าหลวงชั้นผู้ใหญ่จะกราบทูลเบิกให้ทรงทราบว่าเป็นบุตรผู้ใดสกุลใดก่อนจะเชิญพานดอกไม้ธูปเทียนคลานเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์


สำหรับเจ้านายพระองค์อื่นๆ ระเบียบปฏิบัติอาจะลดลง คือ บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ ซึ่งทรงรู้จักคุ้นเคย จะเป็นผู้นำบุตรหลานเข้าเฝ้า ถวายพานดอกไม้ธูปเทียน กราบบังคมทูลฝากฝังบุตรหลานของตนไว้อยู่ในพระอุปการะ เมื่อทรงรับดอกไม้ธูปเทียนแล้ว เป็นอันเสริ็จพิธีเข้าเฝ้าถวายตัว ดังเช่นแม่แช่มนำพลอยเข้าถวายตัวกับเสด็จ


เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

การนุ่งห่มสีตามวันของสาวชาววัง

- วันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อนห่มน้ำเงิน หรือห่มบานเย็น หรือ นุ่งน้ำเงินนำพิราบห่มจำปาแดง
- วันอังคาร นุ่งสีปูน (ปูนแดงกินกับหมาก) หรือม่วงเม็ดมะปราง ห่มโศก (สีใบอ่อนต้นอโศก) หรือนุ่งโศก/เขียวอ่อน ห่มม่วงอ่อน
- วันพุธ นุ่งสีถั่วหรือสีเหล็ก ห่มจำปา
- วันพฤหัสบดี นุ่งเขียวใบไม้ ห่มแดงเลือดนก หรือ นุ่งแสดห่มเขียวอ่อน
- วันศุกร์ นุ่งน้ำเงินแก่ห่มเหลือง
- วันเสาร์ นุ่งเม็ดมะปราง ห่มโศก หรือนุ่งผ้าลายพื้นม่วงห่มโศกเหมือนกัน
- วันอาทิตย์ นุ่งห่มเหมือนวันพฤหัสได้ หรือ นุ่งเขียวห่มแดง หรือ นุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่หรือเลือดหมูห่มโศก
การนุ่งห่มเพื่อไว้ทุกข์
- นุ่งผ้าลายพื้นม่วง ห่มผ้าสีนวล

เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

จักรยานหรือไบซิเกิล เข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ ราว ร.ศ.๑๑๘ หรือในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ 

ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่โปรดปรานและเป็นที่สนใจกันมากในหมู่เจ้านายฝ่ายในรวมไปถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ อีกด้วย

เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

คลองบางหลวง – พวกฟากข้างโน้น

ในเรื่องสี่แผ่นดิน ผู้ประพันธ์ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สมมติให้เจ้าคุณพ่อของพลอยคือพระยาพิพิธฯ ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองบางหลวง

คลองบางหลวง คือ อีกชื่อหนึ่งของคลองบางกอกใหญ่ สาเหตุที่เรียกว่า คลองบางหลวง สันนิษฐานว่า เมื่อที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ข้าราชสำนักซึ่งถือว่าเป็นคนของหลวง พากันไปตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่นสองฟากฝั่งคลองบางกอกใหญ่คนทั่วไปจึงเรียกชื่อคลองตอนที่คนของหลวงตั้งบ้านเรือนอยู่ว่า คลองบางหลวง

มีผู้สันนิษฐานอีกประการหนึ่งว่า ชื่อ "คลองบางหลวง" อาจมาจากชื่อ "บางหลวง" ซึ่งเป็นชื่อสถานที่หนึ่งซึ่งบางกอกใหญ่ทอดผ่าน จึงมีผู้เรียกตามชื่อสถานที่นั้นว่า "คลองบางหลวง" อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังคงมีผู้คนเรียกกันติดปากในชื่อคลองบางหลวงและคลองบางกอกใหญ่ตามความคุ้นเคย
ส่วนคำว่า "บ้านฟากข้างโน้น" ในเรื่องสี่แผ่นดิน ใช้แทนคำเรียกพระยาพิพิธฯ พ่อของพลอย

ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าในสมัยนั้น "บ้านฟากข้างโน้น" หมายถึง "บ้านของตระกูลบุนนาค" ซึ่งมีประวัติตระกูลเก่าแก่ สืบเชื้อสายจากเฉกอาหมัด พ่อค้าชาวเปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายในไทยสมัยอยุธยา ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเอกทศรถ และเลยตั้งบ้านเรือนอยู่ถาวร ทำคุณประโยชน์ไว้แก่บ้านเมืองมากมาย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาเฉกอาหมัดรัตนราชมนตรี มีบุตรหลานสืบต่อมา จนถึงนายบุนนาคถือเป็นต้นตระกูลบุนนาค เป็นสหายสนิทกับนายทองด้วง (รัชกาลที่ ๑) ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย เมื่อนายทองด้วงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นายบุนนาคทำหน้าที่เป็นทนายหน้าหอ รับใช้ใกล้ชิดร่วมทำศึกกับพม่าหลายครั้ง ภายหลังภรรยาเสียชีวิต นายบุนนาคได้สมรสกับคุณนวล ซึ่งเป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงนาคภรรยาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตรยิ์ศึก จึงมีความสนิทสนมผูกพันเพิ่มขึ้นตามลำดับนอกจากความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนแล้วยังได้กลายเป็นญาติสนิทกันไปโดยปริยายในฐานะเขย
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๑ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ นายบุนนาคได้สนองพระเดชพระคุณและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามหาเสนาและได้ถวายธิดาคนโตที่เกิดจากภรรยาเก่า คือ คุณตานี เป็นเจ้าจอม ทำให้ความผูกพันของราชวงศ์จักรีและบุนนาคยิ่งกระชับแน่นแฟ้นเป็นทวีคูณ บุตรหลานที่เกิดในยุคนั้นถือว่าเป็นฝ่ายข้างราชินิกูล ได้เข้ารับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาททั้งราชสำนักฝ่ายหน้าและฝ่ายใน
ส่วนการเรียกพวกตระกูลบุนนาคว่า "บ้านฟากข้างโน้น" มีสาเหตุมาจากครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงนั้น บรรดาข้าราชการทั้งหลายต่างก็ปลูกสร้างเคหสถานอยู่รอบๆ พระราชวังเดิมธนบุรีรวมถึงเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและนายบุนนาค จนเมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นคนละฟากกับนิวาสถานเดิมของเหล่าข้าราชบริพารแผ่นดินธนบุรี ตระกูลบุนนาคก็มิได้ย้ายตามมาด้วย คงตั้งหลักปักฐานมั่นคงจับจองที่ดินสร้างบ้านเรือนขยายอาณาเขตกว้างขว้างอยู่ในอาณาบริเวณของฝั่งธนบุรี ดังที่ปรากฏเป็นหลักฐานชื่อสถานที่สำคัญๆ ในปัจจุบัน อาทิ ชื่อถนนสมเด็จเจ้าพระยา ซี่งมีนิวาสถานของสมเด็จเจ้าพระยาตระกูลบุนนาคอยู่ถึง ๓ ท่าน ชื่อวัดสำคัญๆ อาทิ วัดประยุรวงศาวาส ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่เป็นผู้สร้าง
นับว่าในสมัยนั้นคนในตระกูลบุนนาคส่วนใหญ่อาศัยอยู่ฝั่งธนบุรี ดังนั้น เมื่อคนฝั่งพระนครเอ่ยถึงผู้คนในตระกูลบุนนาคก็จะเรียกรวมๆ กันว่า "พวกฟากข้างโน้น" หรือ "พวกฟากขะโน้น" ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมสี่แผ่นดินและเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ชื่นชอบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม

เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

"ที่บน สวนสวรรค์ พระตำหนัก"


จากลานกว้างของตำหนักเสด็จในเวลากลางคืน ช้อยและพลอยซึ่งนั่งคุยกันอยู่มองเห็น "ตึกใหญ่สูงตระหง่านมีดาดฟ้ายื่นออกมาเบื้องหลัง และมีสะพานยาวต่อจากดาดฟ้า" ซึ่งช้อยได้อธิบายได้พลอยฟังว่า นั่นแหละ "ทีบน" ที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ ดาดฟ้านั่นสวนสวรรค์ สะพานนั้นไปถึงพระตำหนัก

สถานที่ทั้งสามคือ ที่บน สวนสวรรค์ และพระตำหนัก คือ สถานที่สำคัญที่สุดในพระบรมมหาราชวัง เพราะเป็นที่ประทับสำราญพระราชอริยาบถส่วนพระองค์ร่วมกับพระอัครมเหสี
คำว่า "ที่บน" หมายถึงพระราชมณเฑียรหมู่ใหญ่ ซึ่งสร้างต่อเนื่องกัน ๑๑ องค์ คือ 


- พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
- พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์
- พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
- พระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์
- พระที่นั่งนิพันทธพงศ์ถาวรวิจิตร
- พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
- พระที่นั่งอมรพิมานมณี
- พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์
- พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์
- พระที่นั่งราชปรีดีวโรทัย
- พระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร


รวมทั้งสิ้น ๑๑ องค์ มีประโยชน์ใช้สอยต่างกัน คือ เป็นที่บรรทม เป็นที่ประทับทรงงาน เป็นที่ประทับสำราญพระราชอริยาบถ เช่น พระที่นั่งอมรพิมานมณี เป็นที่บรรทมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ส่วนพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นที่ทรงพระสำราญร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นต้น
หมู่พระที่นั่งดังกล่าวรวมกันเรียกว่า "ที่บน" และหมายรวมเรียกสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับเป็นประจำอยู่ ณ พระที่นั่งหมู่นี้ว่า "สมเด็จที่บน"

๐สวนสวรรค์๐
หมายถึง บริเวณดาดฟ้าต่อจากพระที่นั่งอมรพิมานมณี ปลูกไม้กระถางจำพวกโกสน บอน ปาล์ม และไม้ดัดชนิดต่างๆ เพื่อเป็นที่ทรงพระราชสำราญส่วนพระองค์เมื่อเสด็จตืนพระบรรทม

๐พระตำหนัก๐
จากสวนสวรรค์จะมีสะพานยาวต่อไปถึงพระตำหนักใหญ่ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก สูง ๓ ชั้น เป็นที่ประทับในสมเด็จพระศรีสวรินทิรารมราชเทวี (พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) พระภรรยาเจ้าพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงเป็นพระเชษฐภคินีร่วมพระชนนีกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ด้วยเหตุที่ประทับอยู่ ณ พระตำหนักใหญ่ จึงมีพระนามเป็นสามัญว่า "สมเด็จพระตำหนัก"


เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

การแต่งกายในวัง ที่ระบุไว้ในกฏมณเฑียรบาล กฏหมายตราสามดวง

การแต่งกายในวัง ที่ระบุไว้ในกฏมณเฑียรบาล กฏหมายตราสามดวง ความว่า... (ภาษาโบราณ)
การแต่งกายในวัง (และบทลงโทษ)

๐มาตราที่ ๗๔ อนึ่งผู้ใดทัดดอกไม้ แลนุ่งผ้าแดงผ้าชมภูไพรำการะกำหาเชิงมิได้ ห่มผ้านอกเสื้อผ้าเหนบหน้าหิ้วชายลอยชายแลในสนวนประตูสนวนตะพานสนวนในรั้วไก่ในกะลาบาดแลหน้าพระธินั่งประตูทับเรือก็ดีตำหนักก็ดี ฝ่ายเสื้อผ้าไซ้ให้ฉีกเสีย ดอกไม้ไซ้ให้คลุกฝุ่นโพกหัว ตามโทษหนักโทษเบา

เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

การแต่งกายสตรีในสมัยรัชกาลที่ ๕

การแต่งกาย นุ่งผ้าจีบไว้ชายพก เมื่อมีพิธียังให้นุ่งโจงกระเบนอยู่ นิยมเสื้อแบบตะวันตก คอตั้ง แขนยาวต้นแขนพองแบบหมูแฮม มีผ้าห่มหรือแพร สไบเฉียงตามโอกาสห่มทับตัวเสื้ออีกที สตรีชาววังจะสะพายแพรชมพูปักดิ้น ลวดลายตามยศที่ได้รับพระราชทาน สวมรองเท้าบู๊ตและ ถุงเท้าตลอดน่อง

เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

สวนเต่าหรือสวนศิวาลัย

...ช้อยพาพลอยไปเดินเที่ยวเล่นตามที่ต่างๆ ในพระราชสำนักฝ่ายใน ที่ๆ ทั้งสองคนนี้ชอบไปอยู่เป็นประจำคือ สวนเต่า เป็นสถานที่ๆ อยู่ในวังมีต้นไม้ขึ้นครึ้ม

สถานที่สร้างเต่า หรือสวนศิวาลัยนั้นเคยเป็นสถานที่สร้างสิ่งต่างๆ มาแล้วมากมายตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ บริเวณนี้เคยเป็นที่ๆ สร้างสวนขวา ซึ่งเป็นพระราชอุทยานที่มีความสวยงามมากที่สุดในสมัยนั้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทั้งสวนขวาและหมู่พระที่นั่งได้ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อ และสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นหมู่หนึ่ง เรียกว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์ และโปรดประทับ ณ หมู่พระที่นั่งนี้ตลอดพระชนม์ชีพ กาลล่วงเลยมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งประภาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ และโปรดเกล้าให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นมาแทน ต่อมาหมู่พระอภิเนาว์สถานที่คงเหลืออยู่ได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อลงทั้งหมู่ และโปรดเกล้าให้สร้างพระราชอุทยานขึ้นมาใหม่ ใกล้พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท มีทั้งสวนหิน โขดเขา และน้ำตกจำลอง รวมทั้งสวนไม้ดอกไม้ใบ สนามหญ้า และสระน้ำ และได้พระราชทานชื่อว่า"สวนศิวาลัย" ตามชื่อของพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท แต่มีชื่อเรียกสามัญที่ติดปากของหมู่สาวชาววังว่า "สวนเต่า" เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ นั่งเล่นเดินเล่น สรงน้ำ อาบน้ำ กิจกรรมต่างๆ ของเจ้านาย และสาวชาววัง

ระหว่างที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงโปรดฯ เชิญ เจ้านาย เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม ให้เสด็จหรือมาพบปะสังสรรค์ เล่นโครเกต์ หรือเสวยพระกระยาหารที่พลับพลาปากสระอยู่เสมอ พร้อมทั้งทรงโปรดฯ ให้ฉายพระรูปส่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่เสด็จประพาสยุโรป เพื่อให้ทรงเห็นว่าทุกพระองค์ ทุกคน อยู่กันอย่างมีความสุขสบาย เพื่อให้ทรงคลายพระกังวล ปฏิบัติพระราชกิจด้วยความสบายพระราชหฤทัย.

เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

เสด็จสอนแม่พลอย

พลอยสังเกตบ้างมั้ยว่า...ไอ้พวกของต่างๆ เหล่านี้ที่เราเห็นว่ามันมีราคา มันดีจริงๆ มีราคาจริงๆ ก็เพราะว่าปากคนพูด ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งที่มีคนเชื่อถือ บอกว่าไอ้นั่นดีไอ้นี่ดี คนก็เห็นดีเห็นงามตามกันไปหมด
อย่างถ้าให้เจ้านายในวังนัดกันเอาก้อนกรวดมาแขวนคอกันทุกองค์ ก็ต้องมีคนทั้งหลายเห็นดีเห็นงามตามกันไปหมดอีกนั่นแหละ

เสด็จสอนแม่พลอย


เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

"การเจียนหมากจีบพลู"

ในสี่แผ่นดินบรรยายว่า คุณสายมีหน้าที่เจียนหมากจีบพลูใส่เชี่ยนหมากเสวยของเสด็จ

การเจียนหมากจีบพลูยาว เป็นวิธีเฉพาะของชาววัง เพราะการกินหมากเป็นทั้งศิลปะและวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในสมัยโบราณ สตรีชาววังได้คิดค้นประดิดประดอยเครื่องเคราและวิธีการกินหมากจนงดงามเกิดเป็นแบบแผน และกลายเป็นศิลปะที่ละเมียดละไม

การเจียนหมากจีบพลูเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการกินหมาก เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งฝีมือและความพิถีพิถัน เริ่มจากการปรุงเครื่องประกอบ เช่น ปูน ก็ต้องเป็นผงละเอียด ปูนที่ดีจะต้องทำจากเถ้าหอยผสมผงขมิ้นบดละเอียด น้ำที่ละลายปูนต้องเป็นน้ำที่ต้มกับใบเนียมหรือใบเตยเพื่อให้มีกลิ่นหอม ส่วนเครื่องเคราอื่นๆ เช่น ยาจืด ยาฝอย ก็ต้องอบให้หอมด้วยดอกมะลิและควันเทียน กานพลูสำหรับผู้ที่ชอบรสเผ็ดก็ต้องคั่วให้หอมขึ้น

เมื่อจะเจีนหมากจีบพลูต้องเลือกใบพลูที่งามมีรสขมน้อยเผ็ดกำลังดี นำมาเจียนขอบใบออกเล็กน้อยเพื่อให้สวยเวลาจีบ ป้ายปูนไม่มากไม่น้อย แล้วพับกทบก่อนจึงม้วนหรือจีบให้กลม ระหว่างม้วนต้องรีดปลายให้เรียบและม้วนให้แน่น ปลายจึงจะเรียวสวยงาม เพื่อเพิ่มความงามให้วิจิตรพิสดารยิ่งขึ้น ชาววังจะต้องต่อยอดด้วยการนำพลูมาตัดเป็นชิ้นยาวๆ เล็กๆ สอดแซมเข้ไปตรงยอดใบพลูที่จีบแล้ว ยอดที่ต่อจะแหลมออกมาเป็นแฉกๆ ดูงดงามสมเป็นฝีมือชาววัง แล้วใช้สำลีม้วนเป็นเส้นบางๆ เล็กๆ สอดแซมเข้าไปตรงยอดใบพลูที่จีบแล้ว ยอดที่ต่อจะแหลมออกมาเป็นแฉกๆ ดูงดงามสมเป็นฝีมือชาววัง แล้วใช้สำลีม้วนเป็นเส้นบางๆ เล็กๆ พันพลูที่จีบจนแน่น ใส่ไว้ในซองพลู ส่นหมากจะต้องเป็นหมากที่แก่จัด แก่นกลางแข็งแห้งมีรสฝาดน้อยหรือไม่ฝาดเลย นำมาผ่าออกเป็น ๔ เสี้ยว เอามีดคมๆ จักเปลือกแตกออกเป็นฝอยๆ เรียงลงในจอกหมาก แล้วจึงนำไปใส่ในเชี่ยนหมากเสวย

เล่ากันว่า แม้แต่บ้วนพระโอษฐ์ หรือกระโถนบ้วนน้ำหมากของเจ้านายและสาวชาววังนั้นยังหอมฟุ้งน่าดมมิใช่น้อย

เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

ประเพณีเดินกลางคืนในพระราชสำนักฝ่ายใน


ช้อยพาพลอยไปอุโมงค์ ระหว่างทางกลับ ช้อยเตือนพลอยให้รีบกลับตำหนักก่อนค่ำ เพราะไม่ได้เอาเทียนมาด้วย ช้อยบอกพลอยว่า "เดินในวังกลางคืนต้องจุดไฟ จำไว้นะพลอย เดินมืดๆ เป็นเกิดเรื่อง" เรื่องที่เกิดคือโดนโขลนจับ

ความเป็นมา
การจุดไฟหรือถือโคมไฟเดินทางไปมาหาสู่กันในเวลากลางคืนเป็นธรรมเนียมที่ชาววังถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพราะเมื่อครั้งยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ตกเวลากลางคืน ถนนหนทางก็จะมืดมิดมองไม่เห็น เป็นเหตุให้มีคนแปลกหน้าที่ไม่ได้รับอนุญาตแฝงตัวเข้ามาก่อความเดือดร้อนได้ เพื่อเป็นการ้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นจึงเกิดเป็นธรรมเนียมในการเดินทางไปมาหาสู่กันในพระราชสำนักฝ่ายในเวลากลางคืน คือ ทุกคนจะต้องมีโคมไฟติดตัวไปด้วย เพื่อให้ความสว่างเห็นหน้าชัดเจนเวลาเดิน ตามทางจะมีป้อมยามเล็กๆ สำหรับโขลนเพื่อดูแลความปลอดภัยเป็นจุดๆ หน้าป้อมจะแขวนโคมรั้วให้ความสว่างและสำหรับต่อไฟ กรณีไฟขอผู้เดินทางดับ ถ้าไฟของผู้ใดดับก็ต้องยืนอยู่กับที่ระยะห่างป้อมพอควรเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายกับ แล้วตะโกนร้องบอกว่า ไฟดับ ไฟดับ เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ใช่ผู้ร้ายแปลกปลอมมา จนเมื่อโขลนอนุญาตให้เข้ามาต่อไฟได้ จึงสามารถเดินมาต่อไฟที่ป้อมแล้วเดินทางต่อไป

ธรรมเนียมนี้ไม่มียกเว้นแม้กระทั่งเจ้านาย แต่จะแตกต่างกันในวิธีปฏิบัติเพราะเจ้านายจะเสด็จเป็นขบวน ในขบวนมีพนักงานถือโคมนำหน้า เรียกว่า "คนนำโคม" และมีพนักงานถือเทียนส่องข้างหลังเรียกว่า "คนนำเทียน" 


หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมดังกล่าว โขลนมีสิทธิ์ที่จะจับหรือว่ากล่าวตักเตือนได้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ช้อยจึงบอกกับแม่พลอยว่า "เดินมืดๆ เป็นเกิดเรื่อง"


เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

"อุโมงค์"

พลอยรู้สึกปวดท้องถ่าย ซึ่งปกติเมื่ออยู่บ้านคลองบางหลวง พลอยจะนั่งถ่ายลงบนกระโถนหรือโถ และมีคนนำไปทิ้งที่ท่าน้ำ แม่จึงให้ช้อยเป็นคนพาพลอยไปถ่าย แม่แช่มสั่งช้อยว่า "แม่ช้อยพาพลอยไปอุโมงค์สักทีเถิด จะได้รู้จักที่ไว้"

คำว่า "อุโมงค์" ที่แม่แช่มพูดถึง คือ ที่ถ่ายทุกข์ของข้าราชสำนักฝ่ายใน เรียกตามลักษณะที่เห็น คือเป็นสิ่งก่อสร้างลักษณะเป็นอุโมงค์ทึบพุ่งยาวจากกำแพงวังมีปากทางเข้า อุโมงค์ที่ช้อยพาพลอยไปนั้นอยู่บริเวณริมกำแพงพระราวังด้านใต้ ใกล้ประตูศรีสุดาวงศ์ อุโมงค์ที่ว่านี้เป็นที่ถ่ายทุกข์แห่งใหม่ ซึ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ส่วนอุโมงค์ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึี่งรื้อทิ้งไปแล้วนั้น ปลูกลงแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อออกจากประตูวัง จะมีทางเดินเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนทึบไม่มีหน้าต่าง พุ่งยาวออกจากประตูวังไปโผล่แม่น้ำเจ้าพระยาทำให้มีแสงสว่างส่องตามทางเดิน รูปร่างอุโมงค์หรือเรือนถ่ายสมัยนั้นเป็นเรือนไม้หลังใหญ่กั้นเป็นคอกๆ นั่งถ่ายได้ครั้งละหลายๆ คน เพราะถ่ายลงในแม่น้ำ


ต่อมาเพื่อความเหมาะสม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างอุโมงค์ใหญ่ใกล้ประตูศรีสุดาวงศ์ คืออุโมงค์ที่บรรยายไว้ในเรื่องสี่แผ่นดิน อุโมงค์ที่สร้างในสมัยนี้จะมีถังตั้งไว้ข้างล่างตลอดแถว สำหรับรับอุจจาระ และจะมีผู้นำไปเททิ้งภายหลัง

อุโมงค์นี้เป็นที่ถ่ายทุกข์ของเหล้าข้าหลวงเท่านั้น ส่วนการถ่ายทุกข์ของเจ้านาย บางองค์ก็ขุดหลุมไว้ใต้ถุนตำหนักสำหรับถ่ายทุกข์เฉพาะพระองค์ บางองค์ก็ถ่ายลงโถ แล้วให้ข้าหลวงนำไปจำเรินภายหลัง

แต่เดิมเมื่อจะไปอุโมงค์นั้น จะต้องหาใบไม้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวติดมือไป สำหรับชำระทำความสะอาด ต่อมามีผู้คิดทำไม้ชำระขึ้นมา เรียกว่า "แก้งก้น" เป็นไม้ซีกขนาดเล็กเหลและเกลาจนเกลี้ยงไม่มีเสี้ยน ขายเป็นกำ กำละ ๕ อัน ชาววังเมื่อจะเข้าอุโมงค์ก็จะแวะซื้อแก้งก้นติดมือเข้าไปด้วย


เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

"มังคะ"


คำขานรับว่า "มังคะ" เป็นคำที่ใช้กันในราชสำนักฝ่ายใน ไม่มีหลักฐานที่มาที่ไปปรากฏได้อย่างชัดเจนนักว่า "มังคะ" มีความหมายว่าอย่างไร แต่จากวรรณกรรมสี่แผ่นดิน เมื่อเสด็จหรือเจ้านายมีรับสั่งกับบ่าวไพร่ จะมีคำขานรับกันว่า "มังคะ" ดังปรากฏให้ได้ยินได้ฟังกันตามวรรณกรรมย้อนยุค

พลอยเข้าวังครั้งแรกตอนประมาณ ๑๐ ขวบ ถ้อยคำที่แม่เคยสอนให้พลอยลงหางเสียงว่า "เพคะ" กับเจ้านายก่อนหน้าจะเข้าวัง กลายเป็นคำว่า "มังคะ" ที่พลอยได้ยินแม่พูดครั้งแรกกับเจ้านายรวมไปถึงชาววังคนอื่นๆ และตลอดมา


เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

การเกล้าจุกและโกนจุก"


ทรงผมของเด็กไทยทั้งชายหญิงที่นิยมไว้กันในสมัยโบราณ คือ ผมจุก สันนิษฐานว่าไทยคงรับทรงผมนี้มาจากคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ที่เทพเจ้าไว้ผมยาวแล้วขมวดเป็นมวยกลางศีรษะ เมื่อไทยรับมาก็นำมาดัดแปลงเป็นผมจุก พลอยและช้อยในเรื่องสี่แผ่นดินก็ไว้จุกเช่นกัน ดังที่บรรยายเกี่ยวกับเรื่องผมจุกและการโกนจุกในวรรณกรรมสี่แผ่นดินว่า "พลอยดีใจว่าจะได้โกนจุกนั้นก็เพราะจะได้หมดจุกอันเป็นภาระที่ต้องเกล้าวันละหลายรอบหนนั้นประการหนึ่ง" 

เด็กๆ ไม่ชอบการเกล้าจุก เพาะต้องอดทนถึงขั้นทรมานต่อความเจ็บปวด เมื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับจุก เช่น กันไรและโกนหัว ต้องนั่งนิ่งๆ กระดุกกระดิกพูดคุยไม่ได้เป็นเวลานานๆ หากไม่อยู่นิ่งมีดที่กันไรหรือโกนก็จะบาด เวลาเกล้าจุกก็ต้องนั่งนิ่งๆ มิฉะนั้นจุกจะเบี้ยวหรือหลวมหลุดลุ่ยได้ เด็กจะต้องเจ็บปวดเพราะผู้เกล้าจะดึงผมจนตึงและขมวดผมจนเป็นจุกแน่น

วิธีเกล้าจุก
พี่เลี้ยวจะหนีบศีรษะเด็กไว้ระหว่างเข่าทั้งสอง มือก็รวบผมทั้งหมดไว้ ใช้ขี้ผึ้งและน้ำมันรูดจนผมแข็งและตั้งดีแล้ว จึงปั้นหรือเกล้าให้แป้นได้รูปสวยเป็นรูปลูกจันทน์แล้วจึงใช้ปิ่นปัก
ในส่วนของพระราชกุมารและพระราชกุมารี ก็ต้องเกล้าพระเมาฬี มีวิธีการแตกต่างจากการเกล้าจุกเด็กธรรมดาเล็กน้อย คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เกล้าพระเมาฬีจะต้องเป็นลูกผู้ดี ก่อนจะเข้าไปจับพระเกศาก็ต้องหมอบกราบเสียก่อนแล้วจึงคุกเข่าใช้ขี้ผึ้งและน้ำมันรูดจนเส้นพระเกศาแข็ง จึงเกล้าแป้นเป็นลูกจันทน์แล้สวมพวงมาลัยดอกไม้สด เช่น ดอกพุทธชาด หรือ ดอกพุดฝรั่งตูม เป็นต้น เด็กธรรมดาที่ไว้จุกนั้นนอกจากจะทนทุกข์ทรมานตอนเกล้าจุกแล้ว ยังต้องลำบากเวลาเล่น เพราะต้องระมัดระวังจุกหลุด ซึ่งจะต้องพบกับความเจ็บปวดเวลาเกล้าจุกใหม่ 


เมื่อเด็กอายุได้ ๑๑ - ๑๓ ปี ถือว่ากำลังอยู่ในวัยที่จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ผู้ปกครองก็จะจัดพิธีโกนจุกให้เด็กในอุปการะ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เด็กก่อนที่จะเริ่มชีวิตผู้ใหญ่
พิธีกรรมต่างๆ ของการโกนจุกเด็กสามัญจัดตามฐานะของแต่ละบ้าน แต่ก็ยังยึดหลักใช้ศาสนพิธีทั้งฝ่ายพุทธและพราหมณ์ผสมผสานกัน สิ่งของสำคัญสำหรับเข้าพิธีมงคลที่จะขาดเสียมิได้ คือ 


๑. หม้อน้ำมนต์
๒. ผิวมะกรูด
๓. ฝักส้มป่อย
๔. ใบเงิน ใบทอง
๕. หญ้าแพรกใส่ในหม้อน้ำมนต์
๖. มีโกน
๗. กรรไกรใส่ในพาน
๘. พระสงฆ์จำนวน ๕ หรือ ๗ รูป


ส่วนธรรมเนียมการแต่งตัวของเด็กสำหรับพิธีโกนจุกในสมัยโบราณนั้น มีดังนี้
"แต่งกุมาร หรือ กุมารี ที่จะปลงผมด้วยเครือ่งประดับอันอุดมดิเรก มักใส่เกี้ยวทองคำจำหลักปักปิ่นซ่น ใส่สร้อยสนสวมศอทรวง จี้กุดั่นดวง พลอยประดับทองบางสะพาน บานพับผูกต้นแขนสลักลวดลายแล่นแลสไบ สวมวไลใส่ปะวะหล่ำ สวมแหวนทำเป็นเรือนเทศ แก้วก่องเก็จภุกามสี นุ่งยกอย่างตีเกล็ดพิมเสน จีบโจงกระเบนไว้หางหงส์ คาดเข็มขัดสาบประจงประจำยาม ดูรุ่งเรืองร่วมจำรัสแสง ห่มกรองทองแล่งแย่งพื้นเขียว กำไลเท้าทองคำทำเป็นเกลียวกลมสะอาด พรมอ่อนเอี่ยมมาปูลาดหมอนอิงตั้ง แล้วอุ้มเจ้ามานั่งในมณฑล"
การแต่งตัวและเครื่องประดับตลอดจนพิธีต่างๆ ดังกล่าวนั้น จะทำหรือไม่ทำแล้วแต่ฐานะของแต่ละบ้าน
ปัจจุบันมีเด็กไว้ผมจุกเหลือน้อยเต็มที การโกนจุกจึงไม่ค่อยแพร่หลายและมีพิธีการอย่างเช่นแต่โบราณ แต่เพื่อความเป็นศิริมงคลของเด็ก บิดามารดาจะนำเด็กไปที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เพื่อให้พราหมณ์ทำพิธีโกนจุกตามเวลาที่พราหมณ์กำหนด
พระราชครูวามเทพมุนีฯ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการไว้ผมจุกไว้ในบทนำหนังสือ พระราชพิธีโสกันต์ว่า "การไว้จุกน่าจะรับเอาคตินิยามตามศาสนาพราหมณ์ซึ่งเห็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ไว้ผมยาว และขมวดมุ่นเป็นมวยไว้กลางศีรษะก็นำมาดัดแปลงเป็นทรงผมเด็ก ด้วยต้องการอยู่ในความคุ้มครองอารักของเทพเจ้า"

นอกจากนี้ ประเพณีการไว้จุกและโกนจุกในอินเดียก็มีเช่นเดียวกัน เรียกว่า พิธีอุปนัยนะ และวันขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ (ตรียัมปวาย) ซึ่งเป็นวันที่พระผู้เป็นเจ้าลงมาเยี่ยมโลก ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งจะมีการโล้ชิงช้า ก็ได้จัดโกนจุกเด็กด้วย

 

ขอบคุณเนื้อหาดีดี จาก >> FB ชมรมพิพิธสยาม (Variety Siam)

อ่านเพิ่มเติมได้ที่>>  เกร็ดสาระจากวรรณกรรมสี่แผ่นดิน


เกร็ดสาระควรรู้จาก สี่แผ่นดิน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์