เปิดประวัติ กำเนิดพระบรมหาราชวัง ที่คุณไม่เคยรู้ ตอนที่ 1

วันนี้คลังประวัติศาสตร์ไทยจะขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับภายในพระบรมหาราชวัง ซึ่งเชื่อว่าหลายท่านก็พอจะทราบประวัติความเป็นมากันบ้างแล้วจากหนังสือประวัติศาสตร์บ้าง จากการเข้าชมพระบรมหาราชวังบ้าง แต่ครั้งนี้คลังประวัติศาสตร์ไทยจะขอนำเสนอพระบรมหาราชวังในมุมที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบแบบทุกซอกมุม ซึ่งจะขอเริ่มอธิบายจากจุดกำเนิดของพระบรมหาราชวังเป็นปฐม ดังนี้

พระบรมมหาราชวังหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "วังหลวง" ในทุกวันนี้เริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2325 หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงเห็นว่าพระราชวังกรุงธนบุรีนั้นตั้งอยู่ในปราการที่เป็นรองข้าศึก ในยามสงครามก็ยากต่อการส่งกำลังพลเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาที่กว้างขวางกั้นอยู่ และยังยากต่อการขยายอาณาเขตของตัวพระราชวังเพราะพระราชวังกรุงธนบุรีขนาบไปด้วยวัดทั้ง 2 คือวัดอรุณฯและวัดโมลีฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าให้เปลี่ยนสถานที่ตั้งของพระราชวังมาอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่เรียกว่าฝั่งพระนครนั่นเอง

โดยการเลือกที่ตั้งของพระบรมหาราชวังแห่งใหม่นี้พระองค์ทรงนำรูปแบบของการตั้งทัพจากตำราพิชัยสงคราม โดยกำหนดยุทธศาสตร์ให้พระบรมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว ถือว่าเป็นศูนย์กลางในการปกครองราชอาณาจักร และทำหน้าที่เป็นค่ายหลวง ซึ่งเป็นกองทัพใหญ่และเป็นกองทัพสุดท้ายของเหล่าทหารมหาดเล็ก ทหารรักษาพระองค์ ที่ทำหน้าที่คอยถวายความปลอดภัยแก่พระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์

ทางด้านทิศเหนือโปรดให้สร้างพระราชวังหน้า(ปัจจุบันคือบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) เพื่อเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชหรือองค์รัชทายาท พระราชวังหน้านี้ถือว่าเป็นค่ายด่านหน้าหรือทัพหน้าที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะมีหน้าที่คอยยั้งมิให้ข้าศึกเข้าประชิดกำแพงพระบรมหาราชวังได้ ทางด้านทิศตะวันตกอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับพระราชวังหน้าโปรดให้สร้างพระราชวังหลังขึ้น (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช) เพื่อเป็นทัพหลังทำหน้าที่ป้องกันมิให้ข้าศึกยกทัพเข้าประชิดพระนครจากทางทิศตะวันตกโดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาทำหน้าที่ชลอกองทัพของข้าศึก


เปิดประวัติ กำเนิดพระบรมหาราชวัง ที่คุณไม่เคยรู้ ตอนที่ 1

ในวังหลวงตอนที่ 1 กำเนิดพระบรมหาราชวัง

แรกเริ่มการสร้างพระบรมหาราชวังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกำแพงวัง อาคารสถานที่ และพระตำหนักต่างๆ ล้วนแต่สร้างขึ้นจากไม้ทั้งหมด เพื่อให้ทันงานพระราชพิธีปราบดาภิเษกเพื่อขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 แห่งพระราชวงศ์จักรีตามโบราณราชประเพณี แล้วโปรดให้แบ่งที่ดินของพระบรมหาราชวังออกเป็น 3 ส่วน เพื่อเป็นการจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์ในการใช้สอยและความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของชาววังคือ

1.เขตพระราชฐานชั้นนอก ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระบรมหาราชวัง เป็นที่ตั้งของอาคารที่ทำการ หน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมถึงวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกด้วย

2.เขตพระราชฐานชั้นกลาง ตั้งอยู่ตรงส่วนกลางของพระบรมหาราชวัง เป็นที่ตั้งของหมู่พระมหามณเฑียรและ หมู่พระมหาปราสาท ที่ใช้สำหรับเสด็จออกว่าราชการ ให้ขุนนางทูตานุทูตเข้าเฝ้ารวมไปถึงประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ

3.เขตพระราชฐานชั้นใน ตั้งอยู่บริเวณในสุดของพระบรมหาราชวัง เป็นที่ตั้งของตำหนักที่ประทับของเหล่าพระมเหสี พระราชธิดา พระราชวงศ์ฝ่ายหญิง สนมนางใน ข้าหลวง ข้าราชสำนัก ดังนั้นเขตพระราชฐานชั้นในนี้จึงเปรียบเสมือเมืองของผู้หญิงที่อยู่รวมกันนับพันคน

จากภาพชุดที่ 1 แสดงผังของพระราชวังกรุงธนบุรี ตำหนักเก๋งจีนที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และพระบรมศาทิศลักษณ์รัชกาลที่ 1 ผู้ย้ายราชธานีไปยังแห่งใหม่ 

จากภาพชุดที่ 2 แสดงผังของพระบรมหาราชวัง และเขตพระราชฐานต่างๆในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 คือ สีเทาคือเขตพระราชฐานชั้นนอก สีเขียวคือเขตพระราชฐานชั้นกลาง สีเหลืองคือเขตพระราชฐานชั้นใน

โปรดติดตามต่อในตอนที่ 2 (เนื่องจากเนื้อหามีจำนวนมากและต้องใช้เวลาในการเรียบเรียง)


เปิดประวัติ กำเนิดพระบรมหาราชวัง ที่คุณไม่เคยรู้ ตอนที่ 1


เปิดประวัติ กำเนิดพระบรมหาราชวัง ที่คุณไม่เคยรู้ ตอนที่ 1

ที่มา : คลังประวัติศาสตร์ไทย

เปิดประวัติ กำเนิดพระบรมหาราชวัง ที่คุณไม่เคยรู้ ตอนที่ 1

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์