โบราณราชประเพณี “การถวายรูด” กรรมวิธีในการเลี้ยงพระศพ

เรื่องของพระศพ หรือศพบรรดาศักดิ์นั้นเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะโดยส่วนใหญ่นั้นศพของผู้วายชนม์เหล่านี้จะได้รับพระราชทานโกศสำหรับใส่ศพ และในบางศพนั้นก็จะเก็บไว้นานพอสมควร บางรายเก็บไว้นาน 2-4 ปี ในส่วนของศพพระราชวงศ์นั้นก็เช่นเดียวกันที่มักจะเก็บพระศพไว้นาน สืบเนื่องจากในอดีตหากจะพระราชทานเพลิงพระศพพระราชวงศ์ชั้นสูงนั้นจะต้องรอพระราชทานเพลิงในฤดูแล้ง เพราะท้องสนามหลวงในฤดูฝนนั้นจะเต็มไปด้วยน้ำ และนาหลวงสำหรับปลูกข้าว

พอเข้าฤดูหนาวจึงเริ่มก่อสร้างพระเมรุเพื่อให้ทันพระราชทานเพลิงก่อนฝนใหม่จะมา ดังนั้นจึงต้องมีกรรมวิธีบางอย่างเพื่อที่จะเลี้ยงพระศพให้อยู่ได้นานขึ้น โดยปราศจากกลิ่นรบกวน เพราะในอดีตไม่มียาฟอร์มาลีนกันศพเน่าเสีย หรือสารเคมีเพื่อให้ศพแห้งไปเองเหมือนดั่งในปัจจุบัน

ดังนั้นจึงเกิดกรรมวิธีในการเลี้ยงพระศพ เช่น การกรอกสารปรอท หรือ น้ำผึ้งเข้าไปในร่างของศพซึ่งเป็นวิธีโบราณ แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อนการกรอกสารเคมีเพียงอย่างเดียวนั้นก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก ทำให้เศษอาหารที่ติดค้างอยู่ภายในศพนั้นเกิดปฏิกิริยา กับแบคทีเรียส่งผลให้มีน้ำเลือดน้ำหนองของเสียต่างๆไหลซึมออกมา ยิ่งหากวันใดมีกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินมาฟังสวดด้วยแล้วเจ้าพนักงานที่อยู่งานเฝ้าจึงต้องเข้มงวดเรื่องกลิ่นเป็นพิเศษโดยทำการสุมเครื่องหอมจากสมุนไพรอยู่ด้านหลังพระโกศ

จากภาพคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระบรมศพสุดท้ายในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ที่รับการถวายรูด
จากภาพ การพระราชทานเพลิงศพ ในกรณีที่ศพอยู่ในโกศ และตัวอย่างกระทะใบบัว

ดังนั้นก่อนถึงงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพประมาณ 1 อาทิตย์ เจ้าพนักงานจะอัญเชิญพระศพออกมาจากพระโกศเพื่อเปลื้องเอาผ้าห่อศพนั้นออก แล้วจากนั้นก็ทำการรูดเอาเนื้อหนังออกจนหมด บางส่วนที่ไม่สามารถรูดออกได้นั้นก็อาจจะต้องไปต้มในกระทะใบบัวซึ่งน้ำต้มนี้มีส่วนผสมของเนื้อไม้ที่มีสรรพคุณให้กลิ่นหอม เมื่อน้ำต้มเดือดก็ใส่สมุนไพรหอมตามลงไปอีก รอจนชิ้นส่วนบางส่วนเปื่อยได้ที่ก็จะอัญเชิญขึ้นมาทำการ "รูด" อีกครั้งหากเป็นพระศพของพระราชวงศ์ก็จะเรียกว่า “ถวายรูด” เมื่อผ่านขั้นตอนทั้งหมดแล้วก็จะเหลือเพียงแต่กระดูกขาวๆ เจ้าพนักงานก็จะอัญเชิญพระศพใส่ผ้าขาวผืนใหม่

แล้วอัญเชิญลงสู่พระโกศดังเดิมเพื่อเตรียมพระราชทานเพลิงต่อไป สำหรับเนื้อหนังที่เหลืออยู่ในกระทะนั้นก็จะทิ้งไม่ได้ แต่จะมีพิธีกรรมเช่นเดียวกับการพระราชทานเพลิงพระบุพโพ หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ เคยเล่าไว้ว่าตอนท่านเป็นเด็กนั้นเคยแอบดูเจ้าพนักงานถวายรูดพระศพของสมเด็จกรมพระยานริศฯ ซึ่งในขั้นตอนก่อนเชิญพระศพลงสู่พระโกศนั้นปรากฏว่า "เห็นแต่หัวกะโหลก และกระดูกห่ออยู่ในผ้าขาว"

ปัจจุบันการถวายรูดนี้มิปรากฏเสียแล้ว เนื่องจากนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้สามารถเก็บรักษาพระศพได้ยาวนานเป็นปีโดยไร้ซึ่งกลิ่น และน้ำเหลือง การถวายรูดนี้มีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2499 คืองานพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 งานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทางสำนักพระราชวังได้งดการถวายรูดเสีย เพราะพระมังสาแห้งติดไปกับพระบรมอัฐิ (เนื้อหนังแห้งติดกับกระดูก) ซึ่งมีผลมาจากที่พระบรมศพได้รับการถวายฉีดยาฟอร์มาลินเข้าไปในพระบรมศพแล้ว

ข้อมูลและภาพประกอบจาก คลังประวัติศาสตร์ไทย

โบราณราชประเพณี “การถวายรูด” กรรมวิธีในการเลี้ยงพระศพ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์