เปิดตำหนัก เจ้าดารารัศมีฯ

เขตพระราชฐานชั้นใน ตอน ตำหนักเจ้าดารารัศมีฯ

        ตำหนักหลังนี้เป็นตำหนักขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในส่วนของเขตพระราชฐานชั้นใน ภายในพระบรมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่าจะปลูกตำหนักพระราชทานเจ้าดารารัศมี ผู้เป็นธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แต่เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์ทราบข่าวเรื่องปลูกตำหนักนี้ พระองค์จึงขอพระบรมราชานุญาติ ขอเป็นผู้ปลูกตำหนักหลังนี้เอง เสมือนว่าเมื่อลูกสาวออกเรือนไปก็อยากจะเป็นผู้ปลูกบ้านให้ลูกสาวของท่านเอง ตำหนักนี้นอกจากจะเป็นที่ประทับของเจ้าดารารัศมีแล้ว ยังใช้เป็นที่ประทับของพระธิดาองค์น้อย นั่นก็คือพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี แต่เป็นที่น่าเสียดาย พระธิดาองค์น้อยนี้มีพระชนม์ได้เพียง 3 พรรษาเศษ ก็สิ้นพระชนม์ ตำหนักนี้ได้ชื่อว่ามนต์เสน่ห์แห่งล้านนา เพราะเป็นตำหนักที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของล้านนา ไม่ว่าจะเป็นนางข้าหลวงที่ล้วนแต่เป็นเจ้าหญิงจากล้านนา ธรรมเนียมการแต่งกายเอย อาหารการกินเอย ปฏิกิริยาต่างๆเอยก็ล้วนแต่เป็นล้านนาไปเสียหมด จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า "ท่านยกเอาวังเชียงใหม่มาอยู่กลางวังหลวง"

ลักษณะของตำหนักเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างเต็มพื้นที่ มีถนนตัดผ่านโดยรอบทั้งสี่ด้าน ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูนสูงสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ผนังของตำหนักตกแต่งด้วยลายปูนปั้นอย่างวิจิตรพิสดาร และเป็นอีกหนึ่งตำหนักที่ดูแปลกแตกต่างไปจากตำหนักอื่น นั่นก็คือไม่มีซุ้มประตูทางเข้า ดังนั้นทางเข้าของตำหนักนี้จะคล้ายกับการเจาะผนังเป็นช่องสี่แหลี่ยมเข้าไปในตัวอาคาร และประดับด้วยลายปูนปั้นตรงด้านบนของประตู ซึ่งเป็นรูปแบบของประตูที่นิยมสร้างกันมากในสังคมเมืองยุโรปในขณะนั้น ภายในตำหนักมีลานกว้าง ประตูและหน้าต่างของตำหนักนี้มีความวิจิตรบรรจงงดงามไม่เป็นรองตำหนักมเหสีองค์อื่นๆเลย

ความโดดเด่นอีกหนึ่งสิ่งอย่างของตำหนักนี้ก็คือ จะใช้ผนังของตำหนักเป็นเป็นโครงสร้างหลักเพื่อเป็นตัวรับน้ำหนักของอาคาร โดยพนังของตำหนักนี้มีความหนาถึง 0.60 เมตร ปูพื้นด้วยหินอ่อนสีขาวสลับดำจากอิตาลี ส่วนพื้นและโครงสร้างด้านบนของตำหนักนั้นเป็นไม้สักทองเกรดดีที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ล่องแม่น้ำส่งตรงลงมาจากเชียงใหม่ แต่ละห้องนั้นสามารถเปิดทะลุหากันได้หมด ด้านบนเป็นที่ประทับของเจ้าดารารัศมีและพระราชธิดารวมถึงพระญาติวงศ์คนสนิท ด้านล่างจะเป็นที่อยู่ของเหล่าข้าหลวงและเจ้าหญิงเล็กๆจากเมืองเหนือที่ตามเสด็จเจ้าดารารัศมีมาจากเชียงใหม่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหญิงจาก เชียงใหม่ น่าน แพร่ ลำพูน เป็นต้น หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 สวรรคตลง เจ้าดารารัศมีจึงตัดสินพระทัยเสด็จกลับคืนล้านนาเป็นการถาวร ภายหลังจึงเป็นที่ประทับของ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี พระราชธิดาในรัชกาลที่4

ประวัติการบูรณะ :
ปีพ.ศ.2526 เปลี่ยนพื้นตามเฉลียงทางเดินทั้งสามชั้น ปูกระเบื้อพื้นห้องน้ำ ฉาบปูนซ่อมเปลี่ยนผนังไม้ บันไดไม้ ประตูไม้ หน้าต่างไม้ ปูกระเบื้อฝาห้องน้ำ พ.ศ.2530 รื้อกระเบื้องหลังคา ซ่อมเปลี่ยนโครงไม้หลังคาเป็นกระเบื้องรอนคู่สมัยใหม่ สกัดผนังเดิมออกแล้วฉาบใหม่ พ.ศ.2544 ปรับปรุงผนังปูนที่ผุและฉาบใหม่ ทาสีประตูหน้าต่างรอบนอกทั้งหมดพร้อมซ่อมฝ้าเพดานรอบนอก รวมค่าใช้จ่ายในการบูรณะทั้งสิ้น 1,985,000 บาท*

จากภาพด้านซ้ายคือ ตำหนักที่ประทับของเจ้าดารารัศมี ทั้งภายในและภายนอก
จากภาพด้านขวาคือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี แต่งพระเกศาเป็นมวยด้านหลังประดับศิราภรณ์และปักปิ่น ทรงภูษาซิ่นผ้าไหมยกดอก ฉลองพระองค์คอปิดแขนระบายเป็นชั้นๆตกแต่งด้วยลูกไม้ ทรงสะพายแพรจีบทับด้วยสายสะพายเครื่องราชฯ ทรงถุงพระบาทและฉลองพระบาทส้นสูงหุ้มส้น
หนังสืออ้างอิง : พระบรมหาราชวังและการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยสำนักพระราชวัง, สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง โดยสำนักราชเลขาธิการ

เปิดตำหนัก เจ้าดารารัศมีฯ

ความสวยงามของลายปูนปั้นด้านบนของประตูตำหนัก

เปิดตำหนัก เจ้าดารารัศมีฯ

พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ผู้เสด็จเข้ามาประทับในตำหนักหลังนี้ หลังการเสด็จกลับเชียงใหม่ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา

เปิดตำหนัก เจ้าดารารัศมีฯ

พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีหรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าราชบริพารว่า "เสด็จเจ้าน้อย"เป็นที่โปรดปรานฯ ใน พระราชบิดา ยิ่งนักด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง 3 ปี 4 เดือน 18 วัน ก็สิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงเสียพระทัยมากนักทรงปรารภกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า "ฉันผิดเองลูกเขาควรเป็นเจ้าฟ้าแต่ฉันลืมตั้งจึงตาย"

เปิดตำหนัก เจ้าดารารัศมีฯ

พระประวัติองค์เจ้าของตำหนัก**

เจ้าดารารัศมี หรือพระนามเต็มคือ เจ้าดารารัศมีพระราชชายา ผู้เป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ จากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมเอาล้านนากับสยามเข้าด้วยกันโดยการเข้าถวายตัวเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5และได้รับการสถาปนาเป็นพระภรรยาเจ้า ในที่ของ"พระมเหสี" พระองค์ได้ชื่อว่าเป็นมเหสีที่มั่งมีพอสมควร เพราะมีรายได้ส่วนหนึ่งอันมหาศาลจากเงินสัมปทานไม้สักทองทั้งเชียงใหม่มาใช้จ่ายอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ

ในปี พ.ศ. 2426 รัชกาลที่5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนพระองค์อัญเชิญพระกุณฑล(ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร (แหวนเพชร)ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าดารารัศมีซึ่งมีนัยสำคัญว่าทรงขอหมั้นนั่นเอง ในปี 2429 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯเพื่อร่วมในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งนี้เจ้าดารารัศมีได้ตามเสด็จพระราชบิดาลงมากรุงเทพฯ และเข้ารับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมในที่พระสนมเอกของรัชกาลที่ 5 ไม่นาน เจ้าจอมดารารัศมีก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลเป็นพระราชธิดา ทรงพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี" แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะพระธิดามีพระชันษาเพียง 3ปี ก็สิ้นพระชนม์ลง 

และเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2451 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ"เจ้าจอมมารดาดารารัศมี" ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์ ออกพระนามว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" ในที่ของพระมเหสี นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพนั้น พระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 สร้างพระราชทานโดยแวดล้อมไปด้วยพระประยูรญาติและข้าราชบริพารในพระองค์เป็นเวลานานถึง20 ปี จนกระทั่ง วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคปอด แพทย์ทั้งในและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด จนในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2476 ณ คุ้มรินแก้ว พระชนมายุ 60 ปี 3 เดือน

ที่มาจาก FB คลังประวัติศาสตร์ไทย


เปิดตำหนัก เจ้าดารารัศมีฯ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์