เจ้าฟ้าผู้เป็นต้นกำเนิด โรงพยาบาล ศิริราช

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระนามที่มา รพ.ศิริราช

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๘ - ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐) (สมเด็จเจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ สรรพวิสุทธิ์มหุดิมงคล อเนกนภดลดารารัตน์ สมันตบริพัตรวโรกาส อดิศรราชจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยวโรรส วิสุทธิสมมตวโรภโตปักษ์ อุกฤษฐศักดิ์ อัครวรราชกุมาร) เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๕๓ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสพระองค์ที่ ๕ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ประสูติเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๘ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารห้องเขียว ซึ่งในเวลาที่พระองค์ประสูตินั้น ได้มีฝนดาวตกเต็มท้องฟ้าและสามารถมองเห็นได้ในพระนคร ดังนั้น ชาววังจึงได้ออกพระนามของพระองค์ว่า " ทูลกระหม่อมดาวร่วง"

       โดยสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เรียก สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ว่า "น้องชายเอียด" และได้จดบันทึกถึงเหตุการวันประสูติของสมเด็จเจ้าฟ้า พระองค์นี้ไว้ในจดหมาย เหตุรายวันของพระองค์ว่า "เราตื่นนอนเช้า กินข้าวแล้วไปเรียนหนังสือ เสด็จน้าประชวรพระครรภ์ เราไปเฝ้าทูลหม่อมบนก่อนแล้วออกไปเรียนหนังสือ บ่ายสองโมงเศษประสูติเป็นผู้ชาย เราดีใจมาก เราได้รับไว้กับเสด็จน้าแล้วว่า ถ้าเป็นผู้ชายเราจะทำขวัญสิ่งของ ถ้าเป็นหญิงเราไม่ให้ เย็นกินข้าวที่บน สมเด็จแม่รับสั่งให้เรานอนบน เรานอนกับน้อง ๆ ในห้องประทมเก่าของเสด็จน้า นอนสี่ทุ่ม เมื่อเรานอนสมเด็จแม่เสวยอยู่ เรากินเครื่องฝรั่งด้วย แล้วตามเสด็จสมเด็จแม่ไปดูดาวตก เรายังไม่เคยเห็นเลย ตกมากจริง ๆ ลางทีก็เห็นย้อยลงมายาวคล้ายดอกไม้เพลิง วันนี้พระยาภาสได้ให้สมุดฝรั่งต่าง ๆ เราหลายเล่ม"

วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ประชวรด้วยโรคบิด พระอาการทรุดลง และสิ้นพระชนม์ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร พระชนมายุเพียง ๑ ปี ๖ เดือน เท่านั้น เป็นที่โศกเศร้าแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี อย่างมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดงานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง พระเมรุห้ายอด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพิเศษ และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สิ่งก่อสร้างเป็นไม้จริง ด้วยมีพระราชประสงค์ว่าเมื่อเสร็จการแล้วจะพระราชทานแก่โรงพยาบาล เมื่อเสร็จการพระเมรุแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระเมรุไปสร้างเรือนคนไข้ได้จำนวน ๔ หลัง ภายในโรงพยาบาล และพระราชทานเครื่องเรือน เครื่องใช้ทั้งปวงให้แก่โรงพยาบาลวังหลัง พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงพยาบาลวังหลังใหม่ว่า "โรงพยาบาลศิริราช"

ที่มาจาก ::: thai_historian


เจ้าฟ้าผู้เป็นต้นกำเนิด โรงพยาบาล ศิริราช

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์