มหรสพในงานพระเมรุสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จัดเมื่อไหร่ มีอะไรบ้าง!?


มหรสพในงานพระเมรุสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จัดเมื่อไหร่ มีอะไรบ้าง!?

           มหรสพในงานพระเมรุที่ปรากฏสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังคงแบบแผนเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะงานพระเมรุของบรรดาพระราชวงศ์ชั้นสูง เช่นที่ระบุในหมายรับสั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏรายชื่อการแสดงในงานพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนีในพระองค์ มีการเล่นโขน หุ่น ละครใน ไม้สูง งิ้ว ละครชาตรี หนัง ดอกไม้เพลิง และในงานพระศพพระองค์เจ้าอรุณ จัดให้มีโขน หุ่น งิ้ว หมอลำ หนัง ดอกไม้เพลิง ไม้ต่ำสูง ซึ่งจำนวนและชนิดของการมหรสพจะมากน้อยต่างกันตามฐานันดรของเจ้านายหรือผู้วายชนม์

หากเป็นงานพระบรมศพที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ย่อมมีมหรสพนานาชนิด เช่น งานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑

ซึ่งปรากฏในโคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวง ดังนี้

มหฤศพครบสิ่งไส้ สรรพรรณ
โขนต่อโขนประชันกัน เก่งกริ้ว
หุ่นต่อหุ่นเสมอขัน ชิงชะนะ กันนา
ลครต่อลครงิ้ว ต่องิ้วประชันกัน

บรรดามหรสพที่ปรากฏในงานออกพระเมรุมาศดังกล่าวมีอย่างครบครันทั้งนอกจากมหรสพของไทย เช่น ละครชาตรี โขน ระบำ โมงครุ่ม แล้วยังมีมหรสพชนชาติต่างๆ รวมทั้งการแสดงกายกรรม เช่น ไม้สูง นอนหอกนอนดาบ ดังนี้

งิ้วจีนจรูบแฉ่งซ้อน เสียงขาน
ม้าฬ่อซอสีประสาน แซ่ซ้อม
ดำเนิรเรื่องดำนาน เทียนต๊ก
ปางบุตรนำนุชน้อม ปกิ่งเจ้าไอสวรรย์

ลั่นถั่นเอียไหล่อ้า อึงอล
จีโบโล่หลิ้วบน หลิ่วบ้อง
เขียนภักตรพิกลยล หลายอย่าง
เกราะประหลาดคาดช้อง เช่นเชื้อพงษ์พระยา

...

มอญรำขำจริตค้อน งอนคม
รำระมัดระเมียนนม นาศพริ้ง
กล้องแกล้งดุจกลึงกลม เอวกล่อม
คนมักลักลอบทิ้ง ที่เนื้อนมนาง

...

สูงสุดสามชั่วไม้ หกคะเมน
แพนรำทำโยนเยน โยกย้าย
ไต่ลวดดุจเทเวน ทระเหาะ มานา
ลอดบ่วงทลวงเห็นคล้าย พิศเลื้อยวัลวง

ลางเล่นสาหัศเหี้ยม ใจหาญ
ชำงัดในวิชาชาญ เชี่ยวแท้
นอนเหนือหอกดาบปาน นอนนุ่ม นวมนา
เบื้องอกครกวางแอ้ ตระหน่ำซ้ำสากรุม

ญวนเล่นโตฬ่อแก้ว ผกผัน
เฉวียนฉวัดเวียนวัล ด่วนได้
ญวนหกดั่งกังหัน ปากคาบ ดาบแฮ
ดูดาบปลาบเสียวไส้ สยดท้อใจขาม

นอกจากนี้พระราชนิยมในการจัดมหรสพก็ยิ่งทำให้สร้างความหลากหลายแก่รูปแบบการแสดงในงานพระบรมศพหรือพระศพ ดังในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ทรงสมโภชด้วยการจัดโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งของวังหลวงและวังหน้า ต่างฝ่ายยกทัพออกรบกลางแปลง ทัพของวังหลวงเล่นเป็นพระราม ส่วนวังหน้าเป็นทศกัณฐ์ ถึงกับลากปืนบาเหรี่ยมรางเกวียน (ปืนใหญ่) ยิงกันดังลั่นสนั่นไป หรืออย่างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสมโภชพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้าในรัชกาล ที่บริเวณหน้าพระราชวังเดิมเหนือคลองบางกอกใหญ่

ครั้งนั้นมีการระบุว่า "ให้มีการสมโภชโขนหุ่นละครงิ้ว และการเล่นต่างๆ ในน้ำคืน ๑" โดยเฉพาะการเล่นต่างๆ ในน้ำ แม้จะไม่ได้ระบุชนิดไว้ แต่คงเป็นเพราะเจ้านายพระองค์นี้ทรงเชี่ยวชาญในกิจการทหารเรือ จึงสมโภชด้วยกิจกรรมทางน้ำเป็นการถวายพระเกียรติยศ

ไม่เพียงเท่านั้น กีฬาบางชนิดก็อาจนับเนื่องในการมหรสพถูกจัดขึ้นนอกเหนือจากธรรมเนียมเดิม เช่น การชกมวย สะท้อนจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนงานพระเมรุเมืองหมันหยา

ซึ่งมีการจัดชกมวยผู้หญิงด้วยดังนี้

เมื่อนั้น ระตูหมันหยาเป็นใหญ่
ทรงพระสรวลตรัสสั่งเสนาใน จงไปเปรียบมวยผู้หญิงดู
เลือกล่ำงามงามตามสมัคร ที่ใจรักชกตีจะมีอยู่
ลูกเมียของใครก็ไม่รู้ ได้คู่คาดหมัดมาบัดนี้

บัดนั้น เสนารับสั่งใส่เกศี
มาเปรียบมวยผู้หญิงเป็นสิงคลี ตามมีพระราชบัญชา

คู่แรกหัวไรจุกจับกระเหม่า หน้าเง้าเจ้าคารมผมประบ่า
แต่งตัวผัวเสกขมิ้นทา ห่มผ้าแพรแดงตะแบงมาน
คาดหมัดขัดเขมรมงคลใส่ แล้วไปยังสนามหน้าฉาน
ทุบหลังลงให้นั่งกราบกราน พระผู้ผ่านสวรรยาธานี

เมื่อนั้น ท้าวหมันหยาปรีดิ์เปรมเกษมศรี
จึงว่าชอบกลอยู่คู่นี้ ชกให้ดีดีอย่าเกี้ยวกัน

บัดนั้น คู่มวยผู้หญิงคนขยัน
กราบลงแล้วลุกขึ้นฉับพลัน ตั้งมั่นเหม่นเหม่ไม่มีแรง
ย่างเท้าสาวหมัดเมินหน้า หลับตาทุบถองกันพล่องแพล่ง
เลี้ยวลอดกอดกัดวัดแว้ง ล้มตะแคงคนดูเฮฮา

    คู่มวยที่จัดชกเช่นนี้เป็นในลักษณะการสร้างความบันเทิงให้แก่ราษฎรมากกว่าจะเป็นในเชิงแข่งขัน ยิ่งหากเป็นมวยหญิงแล้วอาจถือเป็นของแปลกด้วยท่วงท่าลีลาที่ชวนขบขันมากกว่ามวยหญิงสมัยปัจจุบันที่ถอดแบบมาจากมวยชาย การจัดชกมวยยังได้รับความนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ หลวงมลโยธานุโยค หลวงไชยโชกชกชะนะ ซึ่งเป็นขุนนางที่รับผิดชอบมหรสพประเภทนี้ จัดมวยและศิลปะป้องกันตัวอาทิ การรำง้าวประลอง และกระบี่กระบอง ถวายทอดพระเนตรในการพระศพอีกหลายครั้ง



ภาพมหรสพนานาชนิดในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพจากหนังสือ "วัดประดู่ทรงธรรรม" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘)

---
คัดบางส่วนจาก : บทความเรื่อง "มหรสพในงานพระเมรุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์". โดย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม ๒๕๖๐
(silpa-mag.com)

มหรสพในงานพระเมรุสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จัดเมื่อไหร่ มีอะไรบ้าง!?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์