ยาซุย เท็ทสึ ครูญี่ปุ่นกับความขมขื่นในสยาม


ยาซุย เท็ทสึ ครูญี่ปุ่นกับความขมขื่นในสยาม

หากกล่าวถึงการศึกษาของสตรีในประเทศไทย หนึ่งในโรงเรียนที่มีความสำคัญต่อการศึกษาสตรีไทยคือโรงเรียน "ราชินี" ซึ่งก่อตั้งในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ปูพื้นฐานและมีอิทธิพลทางการศึกษาของสตรีไทยสมัยใหม่ในยุคแรกเริ่มคือหญิงชาวญี่ปุ่นนามว่า "ยาซุย เท็ทสึ"

อิชิอิ โยเนะโอะ และโยชิกาวะ โทชิฮารุ เขียนถึงเรื่องราวชีวิตของยาซุยในดินแดนสยามไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ "ความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น 600 ปี" โดยเรียบเรียงเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิดของยาซุยครั้งเข้ามาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนราชินีเอาไว้

         ยาซุย เท็ทสึ สตรีตระกูลซามูไรในเมืองกรุงโตเกียว เกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2412 ยาซุยเติบโตมาในช่วงที่การศึกษาสมัยใหม่ของญี่ปุ่นกำลังพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ในวัย 15 ปี ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งกรุงโตเกียว สำเร็จการศึกษาสาขาครูสตรีในปี พ.ศ. 2432 จากนั้นได้ทำงานเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยแห่งเดิม ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 3 ปี และถัดมาอีก 4 ปีได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2446

ในปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2446 ยาซุยต้องระหกระเหินเดินทางมาสยามประเทศเพื่อเป็นอาจารย์ในโรงเรียนราชินี ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของญี่ปุ่น ซึ่งยาซุยเดินทางมาอย่างไม่เต็มใจนัก เนื่องจากไม่รู้จักประเทศสยามมาก่อน และปรารถนาจะสอนในวิทยาลัยเดิมมากกว่า ประกอบกับการเปลี่ยนศาสนามานับถือคริสต์ ซึ่งในญี่ปุ่นขณะนั้นถือว่าเป็นแนวคิดที่เป็นภัย จึงทำให้ยาซุยรู้สึกเหมือนถูกขับไล่ไสส่งมากกว่า เห็นได้จากจดหมายที่ยาซุยเขียนถึงเพื่อนหลังจากมาอยู่สยามได้ครึ่งปี

"ฉันอยากจะไปต่างประเทศอย่างเงียบๆ อยากจะลาออกจากตำแหน่งอาจารย์แล้วออกไปเที่ยวตามลำพังอย่างสบายใจเท่าที่จะมีเงินพอ และเมื่อใครๆพากันลืมเรื่องของฉันไปแล้ว ฉันก็จะกลับมาอย่างเงียบๆ ใช้ชีวิตสบายๆ ในชนบทที่ไหนสักแห่ง เลิกอาชีพครู และคิดว่าอยากจะสร้างหอพักให้คนเช่าอย่างเธอบ้าง ไม่รู้ว่าเป็นอะไรไป เดี๋ยวนี้รู้สึกเกลียดผู้คนเอามากๆ คงมีแต่ความไร้เดียงสาของเด็ก เท่านั้นที่น่ารักและทำให้มีชีวิตอยู่ได้จนทุกวันนี้"

จดหมายฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าช่วงครึ่งปีแรกในสยามของยาซุยนั้นไม่ใคร่จะสุขใจนัก มีแต่ความทุกข์เป็นส่วนมาก


ศาสตราจารย์ยาซุยเมื่อคราวเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสตรีแห่งโตเกียวถ่ายในห้องอธิการบดีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ (ภาพจากหนังสือ “ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ๖๐๐ ปี” โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ ๒)

         ยาซุยประสบปัญหาใหญ่ในการสอนหนังสือบนดินแดนสยามคือเรื่อง "ภาษา" เพราะไม่สามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นในการสอนได้ ใช้ได้เพียงภาษาไทย ทำให้หลังจากสอนเสร็จยาซุยต้องเรียนภาษาไทยต่ออีก 1 ชั่วโมง ใช้เวลาถึงสามปีกว่าจะสอนวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้ ฉะนั้นในช่วงสองปีแรกเป็นช่วงที่ยาซุยต้องประสบปัญหาเรื่องภาษาอย่างหนัก

ยาซุยเขียนบันทึกเล่าถึงความรู้สึกแปลกใจ และอดอัดใจหลายๆอย่างในแดนขวานทองเอาไว้มากมาย โดยยาซุยได้วิจารณ์ความเป็นอยู่ของชาวสยามไว้ดังนี้

"ไม่ใส่เสื้อ มีความเป็นอยู่ง่ายๆ ยิ้มอยู่เป็นนิจราวกับไม่มีความทุกข์ร้อนอะไรเลย ฉันรู้สึกประหลาดใจมากที่ได้เห็นความเป็นอยู่เช่นนี้"

"ไม่มีระเบียบอะไรในสังคม ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น แม้แต่คนต่างชาติที่อาศัยอยู่ที่นั้น ก็ดูไม่ใคร่จะมีความกระตือรือร้นเท่าไหร่"

ด้วยความที่เติบโตมาในตระกูลซามูไร ยาซุยจึงค่อนข้างมีปัญหากับการใช้ชีวิตในสังคมสยาม การได้มาอยู่ในวัฒนธรรมและภูมิประเทศที่แตกต่าง ได้ก่อให้เกิดปัญหาทั้งความเป็นอยู่ และสภาพอากาศแก่ยาซุย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้สร้างความอึดอัดใจและกายแก่ยาซุยอย่างมาก ซึ่งยาซุยได้บันทึกไว้ดังนี้

"การที่จะใช้ชีวิตอย่างถูกต้องภายใต้ผู้มีอำนาจแต่ขาดความยุติธรรมเป็นเรื่องลำบาก คือจะต้องเลือกเอาว่าจะยอมเลวตามหรือว่าจะยืนยันความถูกต้องของตัวเองอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น"

"การที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในขนบประเพณีที่ต่างกันเช่นนี้ และยังต้องยุ่งกับเรื่องของเด็ก ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทำงานตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงชั้นสูง ในบางครั้งก็อยากได้ยินคำปลอบประโลมแม้เพียงคำหนึ่งก็ยังดีกว่า"

"อากาศแต่ละวันร้อนมาก แต่ไม่ยอมปริปากบ่นเลย ตกกลางคืนปิดห้องนอน (เพราะกลัวขโมย) พอเข้ามุ้งก็เหงื่อแตกพลั่กๆ ใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ด ใช้พัดพัด ถึงกระนั้นก็ยังไม่ช่วยคลายร้อนนัก จนเหนื่อยแล้วก็หลับไปเอง"

นอกจากนี้ยังมีบันทึกของยาซุยอีกมากถึงความลำบากทั้งกายและใจคราวมาอยู่ในสยาม จะมีก็เพียงแค่คัมภีร์ไบเบิลที่ยาซุยศรัทธา และเด็กๆ ลูกศิษย์ตัวน้อยเท่านั้นที่สร้างความสุขให้แก่เธอได้

ยาซุยเดินทางออกจากประเทศสยามในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2449 เพื่อไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษอีกครั้งท่ามกลางความอาลัยของเหล่าบรรดาลูกศิษย์และผู้ปกครอง อย่างไรก็ดีช่วงเวลา 3 ปีในโรงเรียนราชินีของยาซุยในฐานะครู ได้รับความเคารพจากลูกศิษย์มากมาย ทั้งยังได้ปูพื้นฐานการศึกษาและสร้างบุคลากรคุณภาพซึ่งมีบทบาทในโรงเรียนราชินีและการศึกษาของสตรีไทยในเวลาต่อมา

อ้างอิง
"ยาซุย เท็ทสึ กับโรงเรียนราชินี". อิชิอิ โยเนะโอะ และ โยชิกาวะ โทชิฮารุ. ความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น 600ปี. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ ๒

ยาซุย เท็ทสึ ครูญี่ปุ่นกับความขมขื่นในสยาม

อาจารย์ใหญ่ยาซุย (คนกลางใส่เสื้อกิโมโน) กับนักเรียนของโรงเรียนราชินี รูปถ่ายนี้ที่หน้าตึกสุนันทาลัย (ภาพจากหนังสือ "ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ๖๐๐ ปี" โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ ๒)

Cr:::silpa-mag.com

ยาซุย เท็ทสึ ครูญี่ปุ่นกับความขมขื่นในสยาม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์