รักที่จากไปไกลของ นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย


รักที่จากไปไกลของ นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย

#รักที่จากไปไกลของพระยามโนปกรณนิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย

        ชีวิตสมรสของพระยามโนปกรณนิติธาดา นั้นเริ่มจากการพบรักกับคุณนิตย์ สาณะเสน บุตรีพระยาวิสูตรโกษา (ฟัก สาณะเสน) และคุณหญิงสมบุญ ที่ลอนดอน ภายหลังที่คุณนิตย์กลับจากประเทศอังกฤษแล้ว ได้มีการจัดงานสมรสเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 คุณนิตย์ในเวลาต่อมาได้เป็นคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา แม้ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน แต่ก็มีชีวิตสมรสที่ราบรื่นตลอดมา คุณหญิงนิตย์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม 2 วาระ วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2470 และ 20 มีนาคม พ.ศ. 2472 คุณหญิงเป็นผู้รู้ภาษาต่างประเทศอย่างดีทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และอิตาเลียน

เป็นที่กล่าวถึงกันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่น้อยเหมือนกันว่า คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดาจริงๆ นั้นเป็นใคร ไม่ใคร่เป็นที่รู้จัก ทั้งนี้ เป็นเพราะคุณหญิงได้ถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 ขณะอายุได้ 42 ปี เมื่อพระยามโนปกรณนิติธาดา เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีคุณหญิง

ช่วงเวลาแห่งการสูญเสียคุณหญิงครั้งนั้นยังความเสียใจมายังพระยามโนปกรณนิติธาดา อย่างใหญ่หลวง เป็นการจากไกลกันอย่างไม่ได้ตั้งตัวเตรียมใจ จากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถยนต์คว่ำในขณะที่คุณหญิงโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จประพาสประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส (เวียดนามและกัมพูชา) ระหว่างวันที่ 6 เมษายน ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 ดังปรากฏในจดหมายเหตุรายวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศอินโดจีน พ.ศ. 2473 ความว่า

"วันนี้ [4 พฤษภาคม พ.ศ. 2473] เกิดเหตุอันน่าสลดใจอย่างยิ่ง คือ ประมาณอีก 7 กิโลเมตรจะถึงกัมพงจาม รถยนต์คันที่พระยาสุรวงศ์ฯ คุณหญิงมโนปกรณ์ฯ และคุณวรันดับ บุนนาค นั่งมานั้น โดยความเลินเล่อของคนขับรถชาติญวน รถได้แล่นขึ้นไปบนกองหิน ซึ่งเจ้าหน้าที่กองไว้ริมถนนสำหรับจะทำการซ่อมแซม แล้วตรงไปชนเสาโทรเลข ซึ่งอยู่ข้างหน้าระดับเดียวกับกองหินนั้น รถจึงคว่ำลงในท้องนาริมถนน

...ผู้ที่ต้องอันตรายนั้น คือ พระยาสุรวงศ์ฯ คุณหญิงมโนปกรณ์ฯ และคุณวรันดับ สำหรับพระยาสุรวงศ์ฯ และคุณวรันดับ แม้อยู่ใต้รถที่คว่ำอยู่ก็ดีหาต้องอันตรายร้ายแรงอันใดไม่...ส่วนคุณหญิงมโนปกรณ์ฯ นั้นไม่ได้อยู่ใต้รถด้วย แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัสโดยศีรษะฟาดกับเสาโทรเลขหรือถนนหรือรถยนต์ไม่ทราบแน่ถึงกับสลบแน่นิ่งไปทันที แพทย์ตรวจว่ากะโหลกศีรษะแตกตั้งแต่ตอนล่าง

พระยาสุรวงศ์ฯ และคนอื่นๆ ได้จัดการช่วยกันอุ้มขึ้นรถยนต์เพื่อนำไปโรงพยาบาลโดยเร็ว แต่ในขณะที่ข้ามแม่น้ำโขงนั้นคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดาทนพิษบาดแผลเจ็บไม่ได้ สิ้นชีพเวลา 12.35 น.

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เรื่องอันตราย ได้พระราชทานพระราชโทรเลขแสดงความสลดพระราชหฤทัยไปยังพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

...การที่คุณหญิงมโนปกรณ์ฯ ต้องเสียชีวิตนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงสลดพระราชหฤทัยปราศจากความสนุกรื่นเริงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นพยานปรากฏชัดว่ามิได้ทรงเห็นแต่ความสุขส่วนพระองค์ ได้ทรงใฝ่พระราชหฤทัยแก่ข้าราชบริพารอยู่เป็นอันมาก และเนื่องจากเหตุนี้จึงโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดระยะทางร่นเวลาให้น้อยลงแทนที่จะเสด็จฯ ถึงกรุงเทพมหานครในวันที่ 11 พฤษภาคม ตามที่กำหนดไว้นั้น เปลี่ยนเป็นเสด็จฯ กลับถึงกรุงเทพฯ วันที่ 8 พฤษภาคม ส่วนกำหนดการรื่นเริงต่างๆ เช่น ทอดพระเนตรละครที่นครวัด การเลี้ยงอาหารเย็นที่บ้านเรสิดังต์ สุเปริเออร์ กับการรับรองและทอดพระเนตรละครที่วังพระเจ้ามณีวงศ์ เป็นอันให้งดทั้งสิ้น"

ในการส่งศพคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดาจากประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศสเข้ามายังชายแดนสยาม มีข้าราชการฝรั่งเศสได้มีแก่ใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือในการนี้เป็นอย่างดี โดยที่พระยามโนปกรณนิติธาดา เดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อมารับศพคุณหญิงที่เขมรด้วยตนเอง ส่วนการนำศพคุณหญิงมโนปกรณ์ฯ จากอรัญประเทศเข้ากรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโทรเลขรับสั่งให้กรมรถไฟหลวงจัดรถไฟไปรับตามกำหนดวันรับศพที่อรัญประเทศในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 ส่วนการศพคุณหญิง แผนกพระราชพิธีกระทรวงวังได้รับพระราชทานเตรียมปฏิบัติการศพเป็นพิเศษกว่าธรรมดา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นเจ้าภาพงานศพ และการพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเป็นงานพิเศษคล้ายงานหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้แผนกศิลปากรคิดแบบอนุสาวรีย์ เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกแก่คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา

อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่หน้าพระวิหาร วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เป็นเสาหินสลักรูปหน้านาง 7 ด้าน ออกแบบโดยหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการแผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา สถาปนิกผู้ออกแบบวังไกลกังวล หัวหิน


Cr:::ประวัติศาสตร์สโมสร

รักที่จากไปไกลของ นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์