สนุกนึก นวนิยาย ไทยเรื่องแรก ที่ทำเอาวัดบวรฯ ร้อนเป็นไฟ!!


สนุกนึก นวนิยาย ไทยเรื่องแรก ที่ทำเอาวัดบวรฯ ร้อนเป็นไฟ!!

นวนิยายไทยเรื่องแรกทำวัดบวรฯร้อน!สมเด็จสมณเจ้าฯร้อนพระทัยว่าเอาเรื่องในวัดไปประจาน!!

      ในเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ แม้จะมีการพิมพ์หนังสืออ่านเล่นกันบ้างแล้ว แต่ก็เป็นหนังสือนิทานหรือวรรณคดีเก่าๆ ยังไม่มีการแต่งประเภทนวนิยายหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Novel จนในปี พ.ศ.๒๔๒๘ จึงปรากฏนวนิยายไทยเรื่องแรกในหนังสือวชิรญาณ แต่คนอ่านไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องแต่ง คิดว่าเป็นเรื่องจริงที่เอามาเล่า เผอิญคนแต่งเพิ่งสึกออกมาจากวัดบวรนิเวศไม่นาน และเอาเรื่องที่พระคุยกันว่าสึกออกไปจะทำมาหากินอะไรกัน เลยเป็นเรื่องราวใหญ่โต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงต้องลงโทษพระอนุชาหัวก้าวหน้าผู้แต่งนวนิยายเรื่องแรกของไทย

ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้ก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชาการ หรือ พระองค์เจ้าคัคณางค์ ยุคล ผู้เป็นกรรมการของ "วชิรญาณ" นิตยสารรายสัปดาห์ของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งรวบรวมเรื่องราวจากสมาชิกหอพระสมุทรมาตีพิมพ์ บ้างก็ให้กรรมการช่วยกันเขียนบ้าง กรมหลวงพิชิตฯมีหน้าที่หาเรื่องมาลงพิมพ์อยู่ด้วย จึงทรงนิพนธ์เรื่อง "สนุกนึก" เป็นทำนองนวนิยายเรื่องสั้นแบบฝรั่งมาลงพิมพ์เป็นตอนๆ แต่แค่ตอนแรกก็เกิดเรื่องเสียแล้ว

หลวงพิชิตฯเพิ่งลาผนวชมาจากวัดบวรนิเวศได้ไม่นาน จึงนำเรื่องที่พระสงฆ์คุยกันก่อนจะสึกถึงเรื่องที่จะไปมีชีวิตฆราวาสมานิพนธ์ และใช้ฉากวัดบวรนิเวศที่ทรงจัดเจน แต่คนอ่านที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนวนิยาย ก็เข้าใจว่าผู้เขียนเอาเรื่องพระในวัดบวรนิเวศมาประจาน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวชิยาลงกรณ์ เจ้าอาวาส ทรงทราบก็น้อยพระทัยโทมนัส ปรารภว่าจะไม่ปกครองวัดบวรนิเวศต่อไป ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงร้อนพระราชหฤทัย ทรงติโทษกรมหลวงพิชิตฯ จนกรมหลวงพิชิตฯไม่กล้านิพนธ์เรื่อง "สนุกนึก" ตอนต่อไป

เพื่อให้เห็นว่า นวนิยายเรื่อง "สนุกนึก" ของใหม่ในปี ๒๔๒๘ หรือเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว มีรสชาติและเนื้อหาอย่างไร จึงขอนำมาเสนออีกครั้ง



เรื่องสนุกนึก

วันหนึ่งมีพระสงฆ์ ๔ รูป นั่งสนทนากันอยู่ที่บันไดหน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ก่อนเวลาลงพระอุโบสถ พอเด็กมาบอกกับพระองค์หนึ่งว่า คุณแม่อินมาแล้ว พระองค์นั้นตอบว่า เออ แล้วเด็กก็ไป พระองค์หนึ่งจึงถามว่า คุณสมบุญจะสึกเมื่อไร กำหนดแล้วหรือยัง พระสมบุญจึงตอบว่า ยังไม่แน่คอยโยมอินอยู่ พรุ่งนี้จึงจะไปปรึกษาแกดูจึงจะตกลงได้ ก็คุณล่ะ จะออกวันสิบสองค่ำนี้แน่หรือ สึกแล้วจะไปไปเข้าที่ไหน ทำอะไร บอกกันบ้างสินะ ผมเองนี่ก็ยังลังเลที่สุด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เข้าที่ไหน พระทรัพย์จึงว่า ตุณเข็มน่ะแกไปไหนไม่พ้นศาลาลูกขุนไปได้หรอก ด้วยแกมันคร่ำเสียทางนั้นแล้ว ผิดนักก็ออกหัวเมืองเท่านั้นแหละ แน่ะ แน่ะ ถ้าเป็นยกกระบัตรหรือคุณปลัดขึ้นละก็อย่าลืมผมนะ ไปติดไปต้อยเข้าหละอย่าเรียกค่าเชิงประกันให้มันเหลือเกินไปล่ะ อ้ายตำราเลือกประกันของคุณหละผมคร้ามนัก

พระเข็มจึงตอบว่า คุณก็เหมือนกันแหละ ไปไหนไม่พ้นหละ อีก ๖ วันก็จะแต่งตัวแห่เสด็จฟ้อไปเหมือนเมื่อวานซืนนี้อีก ผมต้องขอสัญญามั่งนะ เผื่อถูกตีไก้ฎีกาเข้าบ้างละเป็นที่พึ่งบ้างนะครับ คุณเหลงเป็นอย่างไร ยิ้มไปทีเดียว กริ่มใจที่ได้เปรียบเพื่อน มะรืนนี้ก็ ฮึ ฮึ อย่านะขอรับ เขาว่าถ้าไปยังไม่ขาดละยังเป็นปาราชิกได้นะขอรับ คุณพระครูท่านว่าอย่างนั้นจริงๆนะ

พระทรัพย์จึงว่า อย่าไปล้อท่านเลย ท่านกริ่มเพราะท่านไม่เหมือนกับเราๆ นี่สึกออกไปแล้วยังต้องหา ท่านสึกออกไปนอนกินมันผิดกันจริงๆ คุณเลี้ยงเพื่อนไว้ใช้ ถึงมันยากมันจนมันก็ยังเป็นคน ถึงไม่มีทรัพย์ก็ยังมีน้ำใจ ไม่มีบุญอำนาจก็ยังสามารถจะฟันไม้ได้ จริงๆนะขอรับ พระเหลงจึงว่า พูดอะไรอย่างนั้น ผมน่ะเหลาสิดหลอก ว่าแต่คุณอีกจะลืมกัน ทำไมกับผมคนค้าขายมันก็แต่พอ มีแต่ผมจะพึ่งคุณ เป็นถ้อยความสารพัด เอาหรือ เรามาสบถกันเสียต่อหน้าพระก็เอา ยังไง ท่านเข็ม คุณสมบุญว่ายังไงละ ฮะ เอาไหมละ สบถไม่สบถมันก็เหมือนกัน คนมีใจซื่อมีความสัตย์ด้วยกัน รักกันแล้วมันไม่ต้องสบถดอก (นี่เป็นคำพระสมบุญตอบและพูดต่อไปว่า) ที่จริง การที่รักกัน ชอบกัน ช่วยกันนี้เป็นประโยชน์มาก เหมือนกับด้ายเกลียวเหนียวกว่าด้ายเส้น เราก็รู้จักเห็นใจกันทั้งนั้น ถ้าสึกออกไปภายหน้า มีทุกข์มีสุขอย่างไรพอช่วยกันทั้ง ๔ คน เรานี้หละ นะขอรับ ดี ดี เอา เอา พร้อมกันว่า พอถึงเวลาลงโบสถ์ก็พากันเข้าไปสวดมนตร์ในพระอุโบสถ

คำพูดที่ได้เล่ามาข้างต้นนี้ ผู้อ่านคงเข้าใจได้ว่าพระสงฆ์ทั้ง ๔ รูปนี้จะสึกพรรษาเดียวกันพร้อมกัน และคงเข้าใจได้ว่าพระทรัพย์เป็นคนอยู่ในกรมพระตำรวจ พระเข็มเป็นเสมียนความ พระเหลงเป็นบุตรจีน แต่พระสมบุญนั้นได้ความแต่ว่าอาศัยแม่อิน แต่ไม่รู้ว่าเป็นคนอะไรอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องอธิบายหน่อยหนึ่ง พระสมบุญนี้เป็นคนมีตระกูลสูงแต่ตกยาก ด้วยติดมากับมารดาซึ่งต้องออกมาจากตระกูลแต่สมบุญยังเล็กๆอยู่ มาบวชเณรอยู่วัด มารดาตายไปก็เป็นคนสิ้นญาติที่อุปถัมภ์ แต่ญาติฝ่ายบิดานั้นไม่รู้จัก หรือเขาทำไม่รู้จัก

แม่อิน เป็นหญิงหม้ายมั่งมีมาก เป็นอุบาสิกาอยู่ในวัด มีความรักความประพฤติและสติปัญญาของพระสมบุญ จึงรับอุปฐากมาจนได้อุปสมบถ แม่อินมีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อ แม่จัน อายุได้ ๑๖ ปั หมายใจว่าจะให้แก่พระสมบุญ ๆ ยังไม่รู้ตัว แม่อินจึงคิดอ่านในการที่พระสมบุญจะสึก และจะรับไปไว้ที่บ้าน ความเป็นดังนี้

ส่วนพระสมบุญ ได้รู้สึกตัวว่าเขารักเหมือนลูกเหมือนเต้า ใจก็ยังลังเลไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไร อยากจะเป็นคนดี คนวิเศษ มียศ มีทรัพย์ มีชื่อ ที่สุดก็เพียงเสมอหน้าพี่น้องที่ชั้นเดียวกัน แต่ทำอย่างไรถึงจะได้อย่างนั้นนั่นแหละเป็นความยากที่หนักที่ติด ตัวก็ตัวคนเดียวทุนรอนและที่สนับสนุนก็ไม่มี แม่อินก็เป็นแต่ข้องด้วยความกรุณา ซึ่งจะเป็นเหยื่อแก่ความโกรธจะทำลายได้ ไม่มีหลักฐานอันใด และแม่อินก็เป็นแต่มีทรัพย์ มีทรัพย์อย่างเดียวไม่มีอื่น ถึงเขาจะรักอย่างไรก็ใครเล่าจะเป็นอย่างพระสมบุญ จะมุ่งหมายว่า เขาจะทุ่มเทให้สักเพียงใด เพราะอย่างนี้จึงไม่อยากจะสึก ด้วยเห็นแท้แน่แก่ใจว่า ผ้ากาสาวพัสตรเป็นที่พึ่งของคนยาก ถึงไม่ทำให้ดีก็ไม่ทำให้ฉิบหาย ไม่ดิ้นไม่ขวนขวายแล้วไม่มีทุกข์ เป็นที่พักที่ตั้งตัวของผู้แรกจะตั้งตัวดังนี้ แต่แม่อินก็พูดขาชักชวนจะให้สึก ก็ไม่อาจขัดได้ ประการหนึ่งพวกพ้องเพื่อนฝูงเขาก็จะสึกไปหมดพร้อมกันนั่น และความพูดตามๆกันมันก็แรงกล้า พาให้สึกกับเขาบ้างตามนิสัยคนหนุ่มๆ ครั้นไปพูดกันเมื่อหัวค่ำ กลับมานอนนึกๆก็รำคาญ ด้วยไม่รู้ว่าไม่รู้จะสึกออกไปทำไม ใครๆเขามีที่หมายและทางเดิน แต่ตัวคนเดียวเปล่า ไม่มีที่มุ่งหมายแห่งใด ช่องทางที่จะทำนั้นก็มีถมไป แต่ทำอย่างไรถึงจะดี ๆ ยิ่งกว่าทางอื่นนั้นแลเป็นเครื่องรำคาญใจอย่างยิ่ง ด้วยเป็นสิ่งจะได้จะเสียโดยเร็วอยู่ แล้วก็นอนตรองอยู่

พระเข็มมาหา พระสมบุญก็ยกเอาปั้นน้ำชาหมากพลูมาตั้ง แล้วก็ชวนพูดด้วยความร้อนใจว่า คุณๆ ผมบัดนี้มีความทุกข์หนัก ด้วยเรื่องราวของผมเป็นอย่างไรคุณก็รู้อยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ผมจะสึกออกไป คนอย่างผมนี้จะทำอย่างไร อะไรจะดีเป็นที่ตั้งตัวต่อไป พระเข็มจึงว่า ฮา คุณถามความที่ง่ายๆ ใครๆก็ตอบได้ทุกคน แต่เป็นข้อความที่คุณจะฟังเอาเป็นแน่ไม่ได้สักคน คุณถามไปร้อยคนก็ร้อยอย่าง ผมจะรู้ที่ตักเตือนอย่างไร ถ้าจะตอบให้เป็นประโยชน์จริงๆแก่คุณ ๆ ก็จะว่าเหมือนกับไม่ตอบอีกนะและ เอาเถอะขอรับ เอาเถอะขอรับ พระสมบุญเตือนและพูดต่อไป ผมไม่ว่าคำเดียว ถ้าถูกถ้าดีจริงแล้วก็ดีเสียกว่าคุณตอบผมสักสามวันอีก

พระเข็มยิ้มแล้วตอบว่า ถ้าคุณเห็นดังนั้นละ ผมก็จะบอกคำเดียวว่าตามแต่ใจคุณ เท่านั้นแหละครับ อา พระสมบุญคราง ก็สั้นแท้สั้นจริงและกว้างจริงด้วย ผมอยากจะให้แคบเข้าอีกสักน้อย ขออีกทีเถอะขอรับ

พระเข็มจึงว่า ถ้าอย่างนั้นผมจะกลับความพูดใหม่ว่า วิชาใดๆย่อมเป็นของดีแท้หลายอย่าง แต่ความรักของผู้เรียนและผู้ใช้เป็นสำคัญ ถ้ารักจริงเรียนจริงใช้จริง ก็เป็นประโยชน์จริงตามบูราณว่า

"ความรู้ ๆ ให้จริงถึงสิ่งเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล"

ความนี้เป็นความจริงแท้ ถ้าคุณปรารถนาดีคงได้ดี ผมเห็นอย่างนี้แหละ แต่เราก็ยังเด็กอยู่ด้วยกันสอนกันยังไม่ได้ เพียรไปด้วยกันก็คงจะได้เห็นหน้ากันต่อไป พระสมบุญว่า เอาเป็นใช้ได้ตามคุณว่า แต่ตัวคุณเองจะรักวิชาสิ่งใด เดินทางไหนละขอรับ พระเข็มตอบ อ้าว คำถามของคุณเป็นอย่างอื่นไปละ เดิมคุณถามถึงตัวคุณ เดี๋ยวนี้ถามถึงตัวผม ความผิดกันมาก คุณกะผมคนละคน ผลก็คนละอย่าง ส่วนผมนะเห็นง่าย ถึงผมเดินทางเรียนกฎหมายอยู่ คุณก็รู้แล้ว ผมไม่เห็นว่าวิชาใดจะดีกว่า และผมรักสุดใจจึงจับเรียน เวลานั้นพระทรัพย์กับพระเหลงมาถึงเข้าพร้อมกัน เห็นพระเข็มพูดจาท่าประหลาดจึงถามว่าพูดอะไรกัน พระเข็มเล่าให้ฟัง พระทรัพย์ก็ขัดคอพูดขึ้นว่า คุณสมบุญอย่าเชื่ออย่าเอาอย่างคุณเข็มนะ ไม่ได้เรื่องดอก อ้ายวิชากฎหมายนะเหมาะสำหรับคนเอวเป็นเข็มอย่างคุณเข็มนั่นนะ บ๊ะ แขนอย่างนี้ เอามือทุบพื้นดังกระเทือนไปทั้งกุฏิ ฮะ แขนอย่างนี้ไปเรียนกฎหมายละไม่มีใครไปทัพละ เรียนอะไรไม่เรียน ๆ หลอกเขากิน"

ความจริงข้อความรุนแรงที่น่าจะได้รับการประท้วงจากนักกฎหมาย ก็คือข้อความตอนท้ายสุดที่ว่า

"...บ๊ะ แขนอย่างนี้ไปเรียนกฎหมายละ ไม่มีใครไปทัพละ เรียนอะไรไม่เรียน เรียนหลอกเขากิน"

แต่ขณะทรงนิพนธ์เรื่องนี้ กรมหลวงพิชิตปรีชากรมีพระชนมายุ ๓๐ พรรษา เป็นนักกฎหมายที่จัดเจนของยุคนั้น เป็นอธิบดีศาลรับสั่งและชำระศาลฎีกา ต่อมาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ประจำมณฑลอีสาน ภายหลังยังได้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

นักกฎหมายเสียดสีนักกฎหมายด้วยกันเอง เป็นการนำคำชาวบ้านมาหยอกล้อพวกเดียวกัน พระทัยท่านกว้างถึงขนาดนั้น

ต่อมาสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯก็ทรงเข้าพระทัยดี และทรงทราบว่ากรมหลวงพิชิตฯถูกพระเจ้าอยู่หัวกริ้วก็กลับสงสาร ทรงชวนกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเสด็จไปถวายพระพรขอพระราชานโทษกรมหลวงพิชิตฯ ดังพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่มีไปถึงสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯดังนี้


สนุกนึก นวนิยาย ไทยเรื่องแรก ที่ทำเอาวัดบวรฯ ร้อนเป็นไฟ!!

พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์
วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ อัฐศก ๑๒๔๘
กราบทูล เสด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ แลกรมหมื่นวชิรณาณวโรรส

ด้วยประทานลายพระหัตถ์ขอโทษกรมหลวงพิชิตปรีชากร ในการที่ลงหนังสือวชิรญาณ เรื่อง "สนุกนึก" ออกชื่อวัดบวรนิเวศให้เป็นที่มัวหมองนั้น ได้ทราบความแล้ว

หนังสือวชิรญาณในวัดนั้น หม่อมฉันอยู่ที่บางปะอินมีการต้างมาก หาได้อ่านไม่จนกลับมากรุงเทพฯ ถ้าได้อ่านคงได้ว่ากันแต่ก่อนแล้ว ครั้นทราบว่าเป็นเหตุให้ทรงพระวิตกมากก็มีความร้อนใจนัก ด้วยทรงพระชราแล้วจะไม่ทรงสบาย จะเป็นอันตรายใหญ่แก่หม่อมฉันผู้ได้มีความนับถือว่าเป็นที่สักการบูชาอันยิ่งใหญ่ตั้งอยู่ในพระพุทธศาสนาอย่าง ๑ เป็นใหญ่ยิ่งอยู่ในพระบรมราชวงศ์อย่าง ๑ จึงมีความขัดเคืองกรมหลวงพิชิตมาก

หม่อมฉันทราบอยู่ว่ากรมหลวงพิชิตทำหนังสือนี้ ปรารถนาจะทำอย่างหนังสือโนเวลฝรั่งที่เขาแต่งกันนับพันนับหมื่นเรื่อง เป๊นเรื่องคิดผูกพันอ่านเล่นพอสนุก แต่เมื่อว่าตามจริงผู้ที่จะแต่งหนังสือเช่นนั้น มักจะต้องมีที่หมายเทียบกับคนในปัจจุบันบ้าง แต่ไม่ได้ทำตามความที่ประพฤติจริงๆทุกอย่าง เป็นแต่เก็บเค้าบ้าง ยักเยื้องเสียบ้าง จึงจะชวนให้คิด ก็ในการที่กรมหลวงพิชิตแต่งหนังสือฉบับนี้ออกชื่อวัดบวรนิเวศนั้น หม่อมฉันเชื่อว่าไม่ได้ประสงค์จะกล่าวถ้อยความจริงที่เป็นอยู่ในบัดนี้ ฤาการที่เป็นล่วงมาแล้ว แต่ถึงหม่อมฉันจะไม่ได้นึกสงสัยยินร้ายวัดบวรนิเวศประการใด เพราะได้อ่านหนังสือฉบับนี้ก็จริง แต่คนทั้งปวงเป็นอันมากก็ไม่เคยอ่านหนังสือโนเวลอังกฤษ คงจะหมายว่าหนังสือพิมพ์ แล้วคงจะกล่าวถึงการที่มีผู้แต่งนั้นทราบมาตามความจริง ฤาแต่งเฉพาะหาความให้คนยินร้ายตามคำตัวพูด ไม่เข้าใจได้ว่าผู้แต่งรู้ตัวและตั้งใจจะให้คนอื่นทราบว่า หนังสือที่ตัวแต่งนั้นไม่แต่งสำหรับให้คนเชื่อว่าเป็นความจริง เป็นแต่จะให้อ่านสนุกเท่านั้นดังนี้ได้ เพราะฉะนั้นหม่อมฉันจึงได้ถามกรมหลวงพิชิตให้แก้ความเสียให้สว่างทั้ง ๕ ข้อ คือข้อที่กล่าวนั้นเป็นความจริงบ้างฤาไม่ ถ้าไม่เป็นความจริงแล้วเหตุใดจึงใช้ชื่อวัดบวรนิเวศดังนี้ กรมหลวงพิชิตยังไม่ได้แก้กระทู้ ไปทูลขอประทานโทษ ซึ่งโปรดประทานให้เธอ แลรับสั่งไม่ให้มีความผิดแก่กรมหลวงพิชิตนั้น หม่อมฉันก็ยอมยกโทษถวาย แต่มีความเสียใจอยู่มาก ด้วยกรมหลวงพิชิตก็มิใช่คนอื่น เป็นคนบวชวัดบวรนิเวศ ได้ยกย่องเป็นถึงเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ มาเป็นคนไม่คิดหยั่งน่าหลังให้รอบคอบ ทำให้เหตุคนที่ไม่ทราบความจริงเป็นที่ยินร้ายแก่วัดดังนี้เป็นการไม่ควรเลย แตบัดนี้เธอก็รู้โทษผิดแลการที่ผิดก็ปรากฏแก่คนทั้งปวงมากแล้ว ก็เห็นจะเป็นอันล้างมลทินในวัด กลับเป็นโทษแก่ตัวผู้แต่งที่ต้องติเตียนมากเหมือนกับได้รับบาปทันตาเห็นอยู่แล้ว ก็ตกลงเป็นพอความปรารถนาเป็นยุติกันได้เพียงเท่านี้.
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สยามมินทร.ป.ล.

 อนึ่ง ได้ทราบพูดๆกันว่าทรงพระดำริจะเลิกธรรมสวนเพราะเหตุนี้นั้น การจะเท็จจริงประการใดไม่ทราบ ถ้าเป็นความจริงขอประทานอย่าให้เป็นดังนั้นเลย จะเป็นการขาดผลประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพราะถ้อยคำอันไม่จริงนิดเดียวเท่านี้ อันเป็นน่าเสียดายยิงนัก
จ.ป.ร.

Cr::: FB เรื่องเก่าเล่าสนุก

สนุกนึก นวนิยาย ไทยเรื่องแรก ที่ทำเอาวัดบวรฯ ร้อนเป็นไฟ!!

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์