“เผยอิง” โรงเรียนที่ผลิต “เจ้าสัว” มากที่สุดในเมืองไทย


“เผยอิง” โรงเรียนที่ผลิต “เจ้าสัว” มากที่สุดในเมืองไทย

ภาพพิธีเปิดโรงเรียน "เผยอิง" หรืออีกชื่อคือโรงเรียน "ป้วยเอง" เมื่อ พ.ศ. 2463 (ภาพจาก สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ )

เรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์นี้ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญต่อทุกหน่วยงานทุกองค์กรไม่เว้นแม้แต่สถาบันพื้นฐานของชาติอย่าง "โรงเรียน" ที่ต่างพยายามอวดอ้างสรรพคุณของนักเรียนซึ่งเป็นผลิตผลของโรงเรียนนั้น ๆ

สำหรับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงว่าเป็น "ถิ่นเจ้าสัว" นี้จะเป็นโรงเรียนไหนไปไม่ได้นอกจาก "โรงเรียนเผยอิง" ซึ่ง ยุวดี ศิริ ได้กล่าวถึงชื่อเสียงของโรงเรียนดังกล่าวในหนังสือ "ตึกเก่า-โรงเรียนเดิม" ไว้ว่า "เป็นแหล่งให้การศึกษามหาเศรษฐีระดับเจ้าสัวจำนวนมากที่สุดในเมืองไทย"

นอกจากนี้ผู้เขียนก็ยังได้กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดที่มาของโรงเรียนซึ่งสรุปได้ว่า โรงเรียนเผยอิงถือกำเนิดในราว พ.ศ. 2459 หรือในสมัยของรัชกาลที่ 6 จากการที่พ่อค้าจีนทั้ง 5 คน ได้แก่ พระอนุวัติราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) กอฮุยเจียะ โค้วปิ้ดจี๋ เชียวเกียงลิ้ง และตั้งเฮาะซ้ง ได้ช่วยกันระดมทุนและรับบริจาคเงินจากชาวจีนแต้จิ๋วในไทยมาเป็นเงินทุนในการก่อสร้างโรงเรียน เมื่อสามารถรวบรวมเงินได้จำนวน 3 แสนบาท จึงทำการก่อสร้างอาคารหลังแรกบริเวณหลังศาลเจ้า "ปูนเถ้ากง"

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารมีรูปแบบไปในทางตะวันตกหรือเรียกได้ว่ามีทรงแบบ "ฝรั่ง" ตามความนิยมในสมัยนั้น ขัดกับเนื้อในของการเรียนการสอนในโรงเรียนที่มีความเป็น "จีน" อย่างสิ้นเชิง

สำหรับจุดประสงค์ในการสร้างโรงเรียนนี้ก็เพื่อสร้างความแน่นแฟ้นให้ชุมชนจีนในเมืองไทย สร้างเครือข่ายให้กับนักเรียนจีนในอนาคต โดยแผนการเรียนการสอนในยุคแรกเลียนแบบมาจากระบบการศึกษาของจีนแท้ ๆ แต่ละวันนักเรียนจะได้เรียนภาษาจีนถึง 6 ชั่วโมง และเรียนภาษาไทยเพียง 1 ชั่วโมง ส่วนคุณครูที่เชิญมาสอนก็เรียกได้ว่านำเข้ามาจากเมืองจีนเลยทีเดียว

ในช่วงแรกโรงเรียนเผยอิงเปิดสอนเพียงแค่นักเรียนชาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ พบว่ามีนักเรียนสมัครเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาก็ได้ทำการเก็บค่าเทอมเป็นจำนวนเงิน 3 บาท ซึ่งหมายความว่าเด็กที่จะเข้าเรียนได้ส่วนมากก็ไม่พ้นเป็นลูกคนรวยทั้งนั้น

กิจการโรงเรียนเผยอิงไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเท่าไรนักเมื่อใน พ.ศ. 2478 หลังจากที่โรงเรียนได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนสหศึกษาได้เพียง 2 ปี ก็ต้องถูกสั่งปิดกิจการเนื่องจากทำผิดระเบียบการดำเนินกิจการโรงเรียนโดยการเลิกจ้างครูใหญ่คนไทย จากนั้นในปีถัดมาจึงได้ทำการขอเปิดโรงเรียนอีกครั้งพร้อมตั้งชื่อโรงเรียนใหม่ว่า "เฉาโจวกงสวย"

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนจีนต่าง ๆ ในประเทศไทยซึ่งรวมถึงโรงเรียนเฉาโจวกงสวยถูกปิดตัวลงอีกครั้ง กระทั่งใน พ.ศ. 2489 หลังจากที่สงครามสิ้นสุด โรงเรียนจึงกลับมาเปิดให้การเรียนการสอนอีกครั้ง และในคราวนี้ "เฉาโจวกงสวย" ก็เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น "เผยอิง" ดังเดิม

ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้มีการเรียนการสอนจนถึงปัจจุบัน นับได้ว่าโรงเรียนเผยอิงเป็นโรงเรียนที่มีอายุเก่าแก่เกือบศตวรรษ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลา โดยทุกวันนี้โรงเรียนเผยอิงแม้จะยังเป็นโรงเรียนจีน ใช้แบบเรียนจากประเทศจีนและสิงคโปร์ สอนวิชาภาษาจีน สอนการใช้พู่กันจีนและวัฒนธรรมจีนอื่น ๆ ให้แก่นักเรียน แต่การเรียนการสอนโดยหลักก็อ้างอิงตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย

ชื่อเสียงการผลิตเจ้าสัวของโรงเรียนเผยอิงเรียกได้ว่าเป็นที่ร่ำลือดูได้จากตัวอย่างรายชื่อศิษย์เก่า เช่น อุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งธนาคารศรีนครและมูลนิธิปอเต๊กตึ๊ง, เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ หรือ เจ้าของเบียร์ช้าง, อนันต์ อัศวโภคิน ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เป็นต้น

Cr::: บันทึกประวัติศาสตร์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์