แพทย์หญิงคนแรกของโลกจากอียิปต์ยุคโบราณ อาจไม่มีตัวตนจริง


แพทย์หญิงคนแรกของโลกจากอียิปต์ยุคโบราณ อาจไม่มีตัวตนจริง

ตำนานของ "มีริต พทาห์" (Merit Ptah) สตรีชาวอียิปต์โบราณที่เชื่อกันว่าเป็นแพทย์หญิงคนแรกของโลก และเป็นผู้บุกเบิกนำทางให้ผู้หญิงเริ่มเข้าสู่แวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อราว 5,000 ปีก่อน อาจไม่ใช่เรื่องราวที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์

แม้มีริต พทาห์ จะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยปรากฏตัวในสารคดีอารยธรรมโบราณบ่อยครั้ง ไปจนถึงมีบทบาทสำคัญในเกมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ จนชื่อของเธอถูกนำไปตั้งเป็นชื่อแอ่งหลุมแห่งหนึ่งบนดาวศุกร์ แต่ตัวตนของมีริต พทาห์ ก็อาจเพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่ถึง 100 ปีมานี้เอง จากความสับสนของผู้เขียนตำราประวัติศาสตร์บางคน

ดร. ยาคุบ เฟียซินสกี นักประวัติศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตโบลเดอร์ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดของเขาลงในวารสาร Journal of the History of Medicine and Allied Sciences โดยระบุว่าไม่พบหลักฐานที่ยืนยันว่า "มีริต พทาห์" มีตัวตนอยู่จริง

ชื่อของมีริต พทาห์ ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้เป็นที่รักแห่งเทพเจ้าพทาห์" ปรากฏขึ้นครั้งแรกในหนังสือที่เขียนโดยเคต แคมป์เบลล์ เฮิร์ด-มีด แพทย์หญิงชาวอเมริกันและนักเคลื่อนไหวในขบวนการสตรีนิยม ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1938 โดยหนังสือเล่มนี้ระบุว่า มีริต พทาห์ มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ที่ 5 แห่งยุคอาณาจักรเก่าของอียิปต์ เมื่อราว 2,730 ปีก่อนคริสตกาล

หนังสือของพญ.เฮิร์ด-มีด ยังระบุว่า
เราทราบถึงเรื่องราวของแพทย์หญิงคนแรกของโลกได้ จากการขุดค้นสุสานบุตรชายของเธอซึ่งเป็นนักบวชชั้นสูงและถูกฝังอยู่ในบริเวณหุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings ) โดยในสุสานมีภาพวาดและจารึกที่ระบุว่ามารดาของนักบวชผู้นี้เป็น "หัวหน้าแพทย์หญิง"


อย่างไรก็ตาม ข้อความส่วนดังกล่าวในหนังสือของ พญ.เฮิร์ด-มีด ขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะสุสานในหุบเขากษัตริย์นั้นเพิ่งจะสร้างขึ้นในยุคราชวงศ์ใหม่ หลังสมัยที่มีริต พทาห์ ยังมีชีวิตอยู่กว่าพันปี และแม้ชื่อของแพทย์หญิงยุคโบราณคนนี้จะเป็นชื่อสตรีที่ใช้กันทั่วไปในยุคราชวงศ์เก่าของอียิปต์ แต่ก็ไม่มีชื่อของเธอปรากฏในบันทึกรายชื่อแพทย์ร่วมสมัยที่ใดเลย แม้แต่ในบันทึกที่เป็นเหมือนกับตำนานปรัมปราก็ตาม

"มีความเป็นไปได้ว่า เฮิร์ด-มีดจำเรื่องราวของมีริต พทาห์ โดยสับสนปนเปกับบุคคลอีกผู้หนึ่ง ซึ่งก็คือเพเซเช็ต (Peseshet) ผู้ควบคุมบรรดาหมอหญิงที่อยู่ในยุคราชวงศ์เก่าเช่นกัน" ดร. เฟียซินสกีกล่าว

"นักโบราณคดีทราบเรื่องราวของเพเซเช็ต จากการขุดค้นสุสานของอักเคเทเท็ป (Akhethetep) ข้าราชสำนักซึ่งเป็นบุตรชายของเธอ ในช่วงศตวรรษที่ 20 นี้เอง โดยสุสานแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าซักคารา บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ใกล้มหาพีระมิดแห่งกีซา"

"ประตูหลอกในสุสานของอักเคเทเท็ปมีภาพวาดพ่อและแม่อยู่ และมีจารึกระบุว่าเพเซเช็ตแม่ของเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมเหล่าแพทย์หญิง ซึ่งเหมือนกับข้อมูลของมีริต พทาห์ ที่เขียนไว้ในตำราของ พญ. เฮิร์ด-มีด ไม่ผิดเพี้ยน"

"แม้จะดูเหมือนว่า แพทย์หญิงชื่อมีริต พทาห์ จะไม่มีตัวตนอยู่จริงก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่ว่า มีผู้หญิงทำงานสำคัญในวงการแพทย์มาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณลบเลือนไป มีริต พทาห์คือสัญลักษณ์ของความพยายามที่จะจารึกบทบาทของผู้หญิงลงในหน้าประวัติศาสตร์ เธอคือวีรสตรีที่แท้จริงในการต่อสู้ตามแนวทางสตรีนิยมยุคปัจจุบัน" ดร. เฟียซินสกีกล่าวทิ้งท้าย

เครดิตแหล่งข้อมูล : bbc.com/thai

แพทย์หญิงคนแรกของโลกจากอียิปต์ยุคโบราณ อาจไม่มีตัวตนจริง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์