“บ้านพะโป้” สมัย ร.5 เรื่องจริง! สู่วรรณกรรมโศกนาฏกรรมรัก

บ้านที่สวยที่สุดในอดีตของคลองสวนหมาก "บ้านพะโป้" เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังรูปแบบไทยผสมตะวันตก ประดับด้วยไม้ฉลุลายอย่างประณีตเป็นบ้านของ พะโป้ คหบดีชาวพม่า ซึ่งมีอาชีพค้าไม้ที่บริเวณปากคลองสวนหมาก เมืองนครชุม ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้ซื้อบ้านมาจากพระยาราม ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2449 ได้เสด็จเยือนบ้านพะโป้ จนเป็นที่มาของชื่อ บ้านห้าง ร.5

ตามประวัติกล่าวว่า มองสุภอ หรือ พระยาตะก่า พี่ชายพะโป้ ได้เข้ามาขอรับเช่าทำการค้าไม้ จากพระยากำแพงเพชร (อ่อง) ในราวปลายรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2418 จนถึงปี พ.ศ. 2418 ได้ถึงแก่กรรม ต่อมา ปี พ.ศ. 2429 พะโป้ได้เริ่มทำการค้าไม้ โดยตั้งบ้านเรือนที่บริเวณปากคลองสวนหมาก ซึ่งเป็นทำเลในการชักลากลำเลียงซุงไม้จากป่า ส่งลงไปยังเมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ ที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนล่าง

ด้วยความมีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา พะโป้ และ พระยาตะก่า (พี่ชาย) ได้ร่วมกัน บูรณะองค์พระเจดีย์และยกยอดฉัตร วัดพระบรมธาตุเจดียาราม ที่นครชุมแห่งนี้ ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ใกล้วัดสว่างอารมณ์  ใครที่เคยดูภาพยนตร์ เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ที่เป็นวรรณกรรมสุดอมตะ และเป็นบทภาพยนตร์โศกนาฏกรรมรัก เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมรักของ ชายหนุ่ม-หญิงสาวคู่หนึ่ง ที่เชื่อกันว่าจะรักกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย "พะโป้" หนึ่งในตัวละครของนวนิยายชื่อดังที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายเวอร์ชั่น ชั่วฟ้าดินสลาย

ซึ่งเป็นเรื่องราวของคหบดีชื่อ พะโป้ นายห้างค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงที่มาทำธุรกิจในเมืองกำแพงเพชรได้พบรักกับยุพดี หญิงสาวสวยและตกลงใจพาเธอมาอยู่ด้วยกันที่กำแพงเพชร พะโป้มีหลานชื่อ ส่างหมอง เป็นหนุ่มรูปงาม ต่อมายุพดีกับส่างหมองเริ่มรักกันและมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง จนพะโป้จับได้และใส่โซ่ตรวนทั้งสองใช้ชีวิตด้วยกันเกิดเป็นโศกนาฎกรรมขึ้น

ก่อนหน้านี้หลายคนอาจคิดว่า ชั่วฟ้าดินสลาย อาจเป็นนวนิยายที่ มาลัย ชูพิจิ แต่งขึ้นโดยไร้ข้อเท็จจริง ทว่าพะโป้กลับมีตัวตนในประวัติศาสตร์ เป็นคหบดีชาวกะเหรี่ยงที่เข้าทำการค้าไม้ที่นครชุม จังหวัดกำแพงเพชร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในชีวิตจริงพะโป้มีคู่ชีวิตชื่อแม่ทองย้อย ซึ่งเป็นลูกสาวของผู้ใหญ่ของบ้านคลองสวนหมากมีบุตรกัน 4 คน เป็นต้นสกุลของ “รัตนบรรพต” ตามหลักฐานพระราชหัตเลขาของรัชกาลที่ 5 ยังทรงบันทึกว่า

“เมียเป็นไทย ชื่อว่าอำแดงท่องย้อยเป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวันแลอำแดงไท ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกันในที่นั้น ได้ขึ้นถ่ายรูปที่หน้าบ้าน 2 บ้านนี้”

พะโป้ได้เสียชีวิตในช่วงรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2460) หลังจากนั้นกิจการทำไม้ของพะโป้ก็ตกเป็นของบริษัททำไม้แห่งหนึ่ง (ไม่ระบุชื่อ) จนเมื่อไม้มีไม่พอทำแล้ว บริษัทก็ปิดที่ทำการนี้ลง และบ้านห้างก็ถูกทิ้งนับตั้งแต่นั้น การทำไม้ตกอยู่กับบริษัทการทำไม้ใหญ่ แต่เรื่องราวของพะโป้ยังคงถูกเล่าขานในชุมชนนครชุม ปัจจุบันบ้านพะโป้ทรุดโทรมลงไปมาก สภาพที่ยังคงรูปแบบเป็นบ้านสมัยเก่าอยู่แต่ไม้ผุพังแล้ว จะมีป้ายเขียนว่า “ห้ามขึ้นบนบ้าน” แม้จะเป็นทรัพย์สินของนายทุนต่างพื้นที่ แต่ชาวบ้านยังคงรักษาตามสภาพ ปลูกดอกไม้ ตัดหญ้า เพราะที่นี้คือหลักฐานที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนนครชุม ชาวบ้านที่นี้จะรู้จักกันว่า “บ้านห้าง ร. 5” 

ข้อมูลจาก : ฆรณี แสงรุจิ. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2536

“บ้านพะโป้” สมัย ร.5 เรื่องจริง! สู่วรรณกรรมโศกนาฏกรรมรัก


“บ้านพะโป้” สมัย ร.5 เรื่องจริง! สู่วรรณกรรมโศกนาฏกรรมรัก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์