ย้อนตำนาน!ทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นนาแดนอีสานทำไม กุลา ต้องร้องไห้??

สาเหตุที่ได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้นั้น คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ได้มีการไปมาค้าขายติดต่อกับพ่อค้าต่างบ้านต่างเมือง ทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกลกัน มีพ่อค้าหาบสินค้าเที่ยวขายไปตามหมู่บ้านแถบทุ่งกว้างนี้เป็นประจำ

โดยเฉพาะในฤดูแล้ง บรรดาพ่อค้าที่มาค้าขายในเขตทุ่งกุลาร้องไห้นี้ มีชนเผ่ากุลาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจากเมืองเมาะตะมะ ประเทศพม่า ได้นำสินค้ามาเร่ขาย และมากันเป็นหมู่ หมู่ละ 20 30 คน สินค้าที่นำมาขายได้แก่ สีย้อมผ้า เข็ม เสื้อผ้า ยาสมุนไพร เครื่องเขิน ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ทารักลงสี ลวดลายสวยงามเป็นกล่องคล้ายกระติบข้าวเหนียว ชาวบ้านนิยมซื้อไว้ใส่บุหรี่แลหมากพลู เวลาเดินทางไปไหนมาไหนพวกพ่อค้าจะนำสินค้าใส่ถึงใบใหญ่ ที่เรียกว่า ถึงกระเทียว มาขายจะหาบเร่ร่อนรอนแรมไปเรื่อย ๆ เป็นแรมเดือนแรมปี ขายหมดที่ใดจะซื้อสินค้าหาบขายไปเรื่อย ๆ

ครั้งหนึ่ง ได้มีกุลาพวกหนึ่งเที่ยวเร่ขายสินค้าจาก อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เรื่อยมาจนถึงสุรินทร์พอมาถึงอำเภอท่าตูม พวกกุลาได้ซื้อครั่งเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปขายต่อ พอหาบครั่งข้ามแม่น้ำมูล มาได้สักหน่อยหนึ่งก็ถึงท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ หมายใจว่าจะเดินตัดทุ่งไปสู่ เมืองป่าหลาน (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่พ่อค้าพวกนี้ยังไม่เคยเดินผ่านทุ่งแห่งนี้มาก่อน ทำให้ไม่ทราบระยะทางที่แท้จริง เพราะมองเห็นเมืองป่าหลาน อยู่หลัดๆ หาทราบไม่ว่า ใกล้ตาแต่ไกลตีน (สำนวนภาษาอีสาน แปลว่า มองเห็นเป็นใกล้แต่ต้องเดินไกล) ขณะเดินทางข้ามทุ่ง รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาก และในช่วงนั้นเป็นฤดูแล้งด้วย น้ำจะดื่มก็ไม่มี ต้นไม้จะอาศัยร่มเงาแม้แต่เพียงต้นเดียวก็ไม่มี ทั้งแดดก็ร้อนจัด ต่างพากันอิดโรยไปตามๆ กันครั่งที่หาบมาจะทิ้งก็เสียดาย จึงพากันโอดครวญและคิดว่าคงจะเอาชีวิตมาตายในทุ่งแห่งนี้เป็นแน่แท้ จึงพากันร้องไห้ไปตาม ๆ กัน

พวกกุลาต่างพากันร้องไห้ แล้วได้พากันพักพอหายเหนื่อยจึงเดินทางต่อไป แต่ครั่งที่หาบมามันหนักมาก พวกกุลาจึงพากันเทครั่งน้อยทิ้งหมด (ครั่งน้อย คือ ครั่งที่แยกตัวครั่งออกแล้วราคาไม่คอยดี) ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

ย้อนตำนาน!ทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นนาแดนอีสานทำไม กุลา ต้องร้องไห้??

เมื่อพวกกุลาเดินต่อไปอีก รู้สึกอิดโรยมาก ครั้นไปถึงกลางทุ่งจึงตัดสินใจเทครั่งใหญ่ทั้งหมดทิ้ง (ครั่งใหญ่ คือ ครั่งที่ยังไม่แยกตัวครั่งออกจากครั่งเพราะเวลาย้อมไหมจะมีสีแดงสดและได้ ราคาดี) คงเหลือไว้แต่อาหาร เท่านั้น บริเวณที่พวกกุลาเทครั่งทั้งหมดนี้ ต่อมาได้กลายเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อพวกกุลาเดินทางมาพ้นทุ่งแล้ว เข้าสู่หมู่บ้านมีคนมามุงดูเพื่อจะซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่พวกกุลาไม่มีสินค้าที่จะขายให้แก่ชาวบ้าน พวกกุลาพากันเสียใจและเสียดายสินค้าที่ตนได้เททิ้งที่กลางทุ่ง พวกกุลาจึงพากันร้องไห้อีกเป็นครั้งที่สอง ทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ มาตราบเท่าทุกวันนี้

มีตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวไว้ว่า

"ท่งกุลาเดิมเค้ามันเป็นทะเลใหญ่
หัวเมืองไกลเทียวค้าเฮือข่วมท่องเที่ยว
ทะเลสาบคดเคี้ยวฟองแก่งแฮงกระแส
หมู่ชาวแฮือชาวแพซ่อยขนสินค้า
ปัจจิมพ้นจำปานคเรศ
เขตเวนตกก้ำพี้เมืองบ้านน่านนคร"

ทุ่งกุลาร้องไห้ มีพื้นที่กว้างประมาณ 2 ล้านไร่อยู่ในเขตครอบคลุมจังหวัด สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร มหาสารคาม บุรีรัมย์ และจังหวัดร้อยเอ็ด ปัจจุบันทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับการพัฒนา ทำการเกษตรได้ดี จนกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน 

ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลีย ส่งเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญในการพลิกผืนดินที่ไร้ประโยชน์ ให้สามารถทำประโยชน์ได้ด้วยการทำถนน สร้างอ่างเก็บน้ำที่มีอย่างเหลือเฟือในฤดูฝน ขุดคลองซอยอย่างถี่ยิบ แล้วผันน้ำเข้าสู่คลองซอย ผืนดินที่แห้งแล้งสีน้ำตาลก็เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม เต็มไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ทุ่งกุลาร้องไห้ จึงถูกเรียกใหม่เป็น ทุ่งกุลาสดใส

ภาพถ่ายชนเผ่ากุลาที่สืบเชื้อสายต่อ ๆ มาภาพถ่ายชนเผ่ากุลาที่สืบเชื้อสายต่อ ๆ มา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :news-lifestyle
ขอขอบคุณภาพจาก :esan108


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์