อัครมหาเสนาบดี ผู้ร่ำรวยกว่าราชสำนัก

เหตุการณ์นี้เกิดในช่วงรัชกาลเฉียนหลงฮ่องเต้ ซึ่งปรากฏว่ามีขุนนางคนหนึ่ง ได้ฉ้อราษฎร์บังหลวงจนเป็นที่เลื่องลือในหน้าประวัติศาสตร์จีน เขาผู้มีนามเดิมว่า "ซ่านเป่า" สังกัดกองธงแดงของแมนจู มีความเชี่ยวชาญในภาษาแมนจู ฮั่น มองโกล และทิเบต

เมื่อแรกเริ่มรับราชการนั้น เขาเริ่มต้นจากการเป็นทหารมหาดเล็กธรรมดาผู้หนึ่ง รับหน้าที่ในการหามเกี้ยวหรือถือธง ภายหลังเมื่อสบโอกาสได้แสดงความสามารถต่อหน้าพระพักตร์ของเฉียนหลง จึงได้เป็นที่โปรดปราน และได้เลื่อนขั้นอย่างต่อเนื่อง โดยเลื่อนขั้นเป็นราชองครักษ์ จากนั้นเป็นรองผู้บัญชาการกองธงน้ำเงิน โดยในช่วงเวลาที่รับราชการ 20 กว่าปีนั้น เขาได้รับการเลื่อนขั้นถึง 47 ครั้ง เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเก็บค่าธรรมเนียมประตูเมืองฉงเหวิน ดูแลท้องพระคลังส่วนพระองค์ และคลังหลวง
ซึ่งในระยะแรกนั้น เขาก็เป็นขุนนางที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความสามารถ จนสามารถช่วยหาทางเติมเต็ม เงินในคลังหลวงที่ร่อยหลอให้มีมากพอกับการดำเนินโครงการสำคัญๆในบ้านเมืองอย่างเช่น การทหาร การจัดซ่อมสร้างเขื่อน การสร้างพระสุสาน นี้ยังไม่นับรวมกับผลงานอื่นๆอีกมากมายอาทิการคลี่คลายคดีที่หยุนหนัน การตรวจสอบบัญชีที่ซันตง และการคิดค้นหม้อไฟขนาดเล็ก ที่ทำให้งานเลี้ยงที่มีแขกกว่า 530 โต๊ะของฮ่องเต้เฉียนหลงนั้นสามารถมีอาหารที่อุ่นได้อยู่ตลอดเวลา

เนื่องจากเป็นที่โปรดปรานของเฉียนหลง เคยได้รับการควบดูแลหน้าที่ถึง 60 กว่าประการในเวลาเดียวกัน อีกทั้งได้รับพระราชทานพระธิดาพระองค์เล็กให้อภิเษกกับบุตรชาย ทำให้เหอเซินซึ่งเป็นทั้งขุนนางใหญ่และกลายเป็นหนึ่งในพระประยูรญาติมีอำนาจมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังเหอเซินจึงเริ่มการแผ่ขยายอำนาจ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการหาเงินทอง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโรงรับจำนำ เปิดร้านรับแลกตั๋วเงิน เหมืองแร่ และกิจการซื้อขายอื่นๆอีกมากมาย ยังไม่รวมถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวง แบ่งพรรคแบ่งพวก ใช้อำนาจบาตรใหญ่ จนถึงกับมีบันทึกในสมัยต่อมาไว้ว่า

"...รัชสมัยเฉียนหลงแห่งต้าชิง เหอเซินใหญ่ยิ่งคับแผ่นดิน มีอำนาจเหลือล้นราชสำนัก เหล่าขุนนางพร้อมพรักชิงประจบ ทั้งขูดรีดฉ้อโกงอย่างเปิดเผย ละเลยขุนนางพรรคพวกอื่น จนระบบปกครองต้องพังครืน เหล่าขุนนางดาษดื่นด้วยคนพาล...."

ต่อมาในเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 1795 ฮ่องเต้เฉียนหลงได้ประกาศว่าจะมีการสละราชสมบัติให้กับพระโอรสในฤดูใบไม้ผลิปีต่อไป เนื่องจากไม่ต้องการครองราชย์นานกว่าพระอัยกาคังซี ทำให้เฉียนหลงฮ่องเต้ประกาศสละราชสมบัติใน ปีค.ศ.1796 เพื่อให้ตนอยู่ในตำแหน่งน้อยกว่าคังซี 1 ปี

ทว่าหลังสละราชสมบัติให้กับฮ่องเต้เจียชิ่งแล้ว พระองค์ก็ยังคงเป็นผู้ที่กุมอำนาจแท้จริงอยู่ด้วยการอาศัยตำแหน่ง "ไท่ซั่งหวง" หรือพระราชบิดาหลวง ในการร่วมฟังข้อราชการด้วยเป็นเวลาถึง 3 ปีจนกระทั่งเสด็จสวรรคต กระทั่งวันที่ 13 เดือนอ้าย ค.ศ. 1799

หลังจากที่เฉียนหลงฮ่องเต้สวรรคตเพียงวันเดียว ฮ่องเต้เจียชิ่งก็มีราชโองการประกาศความผิดของเหอเซิน 20 กระทง และมีบัญชาให้นำตัวไปกุมขัง ปลดออกจากตำแหน่ง และริบทรัพย์สมบัติทั้งหมดเข้าคลังหลวง

ซึ่งตามบันทึกได้ปรากฏว่า การริบทรัพย์ของเหอเซินในครั้งนั้นมีเงินทั้งสิ้น 800 ล้านตำลึง ในขณะที่งบประมาณแผ่นดินจากภาษีในขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านตำลึงต่อปี กล่าวคือ เพียงเงินของเหอเซินที่ได้มาจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็เทียบเท่ากับงบประมาณแผ่นดินถึง 10 กว่าปียังไม่รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ ที่พบอาทิเช่น ชามทองคำ 4,288 ใบ โถเงิน 600 ชิ้น จานทอง 119 ใบ ทองคำ 5,800,000 ตำลึง เงินแท่ง 50,000 แท่ง และเพชรนิลจินดา ผ้าแพรไหมของมีค่าอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นหลังจากริบทรัพย์แล้วในภายหลังจึงมีการกล่าวขานว่า "เหอเซินล้มกลิ้ง เจียชิ่งอิ่มท้อง" ขึ้น
หลังจากที่เหอเซินถูกกุมขัง 10 วัน ฮ่องเต้เจียชิ่ง ได้พระราชทานผ้าขาวให้แก่เหอเซิน เพื่อให้อัตวินิบาตกรรม แทนการประหารด้วยการแล่เนื้อ ส่วนบุตรชายคนโตเนื่องจากได้อภิเษกกับองค์หญิงเหอเซี่ยว ทำให้เว้นจากการติดคุก ส่วนลูกหลานที่เหลือของเหอเซินก็ถูกเนรเทศไปยังหมู่บ้านที่อยู่ทางใต้ของเมืองฮาร์บินลงมาราว 60 กิโลเมตร ในมณฑลฮาร์บิน ในช่วงวาระสุดท้ายก่อนการรัดคอตนเองนั้น เหอเซินยังได้ประพันธ์บทกวีสุดท้ายแสดงถึงความรันทดและความแค้นที่มี ไว้ว่า

"....ห้าสิบปีคืนวันดังความฝัน บัดนี้รามือพลันลาโลก วันหน้าเมื่อวารีท่วมมังกร ตามหมอกควันขจรมาเกิดกาย.."

สื่อความหมายว่า ถึงวันใดที่มีผู้กลับมาควบคุมฮ่องเต้ไว้ คนผู้นั้น ก็คือเหอเซินที่กลับมาเกิดใหม่ ซึ่งมีคนตีความไว้ว่าเป็นซูสีไทเฮา ที่เกิดในปีค.ศ.1835 (ปีที่แม่น้ำฮวงโหเกิดอุทกภัยใหญ่)
ความร่ำรวยของเหอเซินนั้น ได้รับการจัดอันดับจากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างวอลล์ สตรีท เจอร์นัล ให้เป็นหนึ่งใน 50 บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในรอบสหัสวรรษ เมื่อเดือนเม.ย. 2007 โดยก่อนหน้านั้นได้เคยรับการจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในศตวรรษที่ 18 การทุจริตฉ้อฉลของคนที่มีสติปัญญาและความสามารถอย่างเหอเซิน ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ท้องพระคลังในราชสำนักลดลงเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของการฉ้อราษฎร์บังหลวงไปทั่วแวดวงราชการ เท่ากับเป็นการทำลายระบบในการปกครองอันเข้มงวด ที่ได้พยายามวางรากฐานให้ขุนนางปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตกันมานานลง

ใช้แต่การทุจริตเท่านั้น เขายังได้บิดเบือนประวัติศาสตร์จีนไปอีกมากมายในช่วงที่เขาได้เป็นประธานในครั้งนั้น

เหตุการณ์นี้เกิดในปีค.ศ. 1776 ตรงกับปีที่ 41 ของศักราชเฉียนหลง เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์จีน ซึ่งการชำระประวัติศาสตร์จีนครั้งนี้ ถือเป็น"โศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรมจีน" เพราะเขาและพรรคพวกได้ร่วมมือกันบิดเบือนประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอย่างมโหราฐ จากคนดี ๆ เขาก็ได้เปลี่ยนเป็นคนชั่ว จากคนชั่วก็กลายมาเป็นคนดี อย่างเช่น"สามก๊ก" ที่ถูกบิดเบือนมากที่สุด ซึ่งอยู่ดีๆ ผู้ร้ายบางคน ได้ปรับเปลี่ยนเป็นคนดีบ้าง เป็นวีรบุรุษบ้างจนกลายเป็นเทพเจ้าไปเลยก็มี หนังสือประวัติศาสตร์จีนหลายเล่ม ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นหนังสือต้องห้าม นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ก็เก่งได้สืบเสาะจนพบว่าหนังสือประวัติศาสตร์ก่อนยุคเหอเซินนั้น ได้ถูกทำลายไปไม่น้อยกว่า 2,340 รายการ และถูกดัดแปลงให้เพี้ยนไปจากเดิมมากกว่าหมื่นรายการ

....และเหอเซินยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการปรับปรุงโบราณสถาน และโบราณวัตถุในปี ค.ศ. 1791 โดยมีทีมงาน 8 คน อันเกิดเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง "มหาสารานุกรม 4 ชุด" เก็บไว้ในหอสมุด 4 แห่ง ซึ่งปัจจุบันยังคงหลงเหลืออยู่ จักรพรรดิเฉียนหลงเองก็โปรดปราน ถึงขนาดให้คณะทำงานนี้อยู่กินหลับนอนในวังได้เลย ซึ่งปกติแล้ว ยามวิกาลผู้ชายจะอยู่ในวังหลวงไม่ได้ ซึ่งแค่นั้นยังไม่พอ ทีมงานของเขาบางคนเป็นโรคความต้องการสูง จึงต้องหาสาวสนมในวังมาช่วยคลายเครียด ห้องสมุดในครั้งนั้นก็เลยกลายเป็นหอรักไปในตัวด้วยอีกด้วย


อัครมหาเสนาบดี ผู้ร่ำรวยกว่าราชสำนัก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์