เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าเล่งจูเกียง

เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าเล่งจูเกียง

ตำนานเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว

      กิตติศัพท์อภินิหารของเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว ไม่เพียงแต่จะเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวจีนและไทยในจังหวัดปัตตานีเท่านั้น หากแต่ได้ปรากฏขจรขจายไปยังจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัด เมื่อถึงวันงานพิธีสมโภชฉลองเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยวประจำปีแล้ว ก็จะมีสาธุชนชาวไทยจีนจากจังหวัดต่างๆ พากันเดินทางหลั่งไหลมานมัสการเจ้าแม่และร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง งานพิธีสมโภชฉลองเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยวจึงเป็นงานประเพณีที่สำคัญ เชิดหน้าชูตาของจังหวัดปัตตานีทีเดียว

ศาลเจ้าเล่งจูเกียง คือศาลเจ้าที่ประดิษฐานขององค์เจ้าแม่ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมือง ปัตตานี ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันทรงความศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เดิมศาลเจ้านี้มีชื่อเรียกว่า "ศาลเจ้าซูก๋ง" ตามหลักฐานที่จารึกอยู่ในศาลเจ้า ปรากฏว่า ตั้งขึ้นเมื่อวันชัยมงคล ปีบวนเละที่ ๒ ศักราชราชวงศ์เหม็ง ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๑๑๗ ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา แม้ศาลเจ้านี้จะตั้งมาเก่าแก่นับได้หลายศตวรรษ แต่ด้วยบุญญาภินิหารของเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว ศาลเจ้านี้จึงมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ศรัทธาของสาธุชนเสมอมามิได้ขาด ความสำคัญของศาลเจ้านี้ยังปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเคยเสด็จมา ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ถึงสามพระองค์ คือ

๑) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสแหลมมลายู โดยเรือพระที่นั่งเวสาตรี เสด็จเมื่อวันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ร.ศ. ๑๐๗ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๒

๒) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสมณฑลปัตตานี เมื่อ ร.ศ. ๑๒๙ หรือ พ.ศ. ๒๔๕๒ การเสด็จครั้งนี้พระองค์พระราชทานกระถางธูปให้แก่ศาลเจ้าด้วย

๓) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ฯ เสด็จเมื่อวันพุธ ที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙

ชาติภูมิ เจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว

       เจ้าแม่กำเนิดในครอบครัวของตระกูลหลิม มีนามฉายาว่า กอเหนี่ยว ในตำนานบางถิ่นของไต้หวันกล่าวนามเจ้าแม่ว่า จินเหลียน หรือ นางบัวทอง ส่วนภูมิลำเนาของเจ้าแม่เดิมเข้าใจกันว่าเป็นชาวมณฑลฮกเกี้ยน เนื่องจากพี่ชายของเจ้าแม่ชื่อ หลิมเต้าเคียน (ลิ่มโต๊ะเคี่ยม ก็เรียก) มีประวัติการต่อสู้อันโลดโผนได้สร้างชื่อลือกระฉ่อนทางแถบทะเลมณฑลฮกเกี้ยน จดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง ได้บันทึกไว้ว่า เป็นชาวเมืองจั่วจิว แขวงมณฑลฮกเกี้ยน หนังสือ "ตำนานมณฑลปัตตานี" ก็ได้ถือเอาตามนี้ แต่หนังสือ "ภูมิประวัติเมืองแต้จิ๋ว" เล่มที่ ๓๘ เรื่อง "ชีวประวัติหลิมเต้าเคียน" กล่าวว่า มีพื้นเพเดิมเป็นชาวอำเภอฮุยไล้ แขวงเมืองแต้จิ๋ว จากการตรวจสอบหลักฐานที่เมืองแต้จิ๋วของนักโบราณคดี ปรากฏว่าที่หมู่บ้านเที้ยเพ็งตอนใต้ ยังมีฮวงซุ้ยบรรพบุรุษตระกูลหลิมของหลิมเต้าเคียนประจักษ์หลักฐานอยู่ที่นั่น ณ บริเวณฮวงซุ้ยเดียรดาษไปด้วยศิลา ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นได้ขนานนามฮวงซุ้ยเก่าแก่นั้นว่า "ไป่เหนี่ยวฉาวหวัง" หรือ "มวลวิหคเฝ้าราชปักษา" อันหมายถึงทำเลสุสานที่ดี

เรื่องราวของเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว ได้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นด้วยความศรัทธาจิต มีดังนี้

ในรัชสมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๖๕ - ๒๑๐๙) ยังมีครอบครัวตระกูลหลิมอยู่ครอบครัวหนึ่ง มีบุตรชายหญิงสองคน ชายนั้นมีนามว่า หลิมเต้าเคียน มีลักษณะท่าทางอันทระนงองอาจใจคอกว้างขวาง และมีสมัครพรรคพวกมาก ส่วนน้องสาวมีนามว่า หลิมกอเหนี่ยว เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอันดีงาม มีความกตัญญูต่อบิดามารดา แต่ขณะเดียวกันก็มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เมื่อเยาว์วัยทั้งสองพี่น้องได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปต่างๆ จนแตกฉาน ครั้นหลิมเต้าเคียนผู้พี่เจริญวัยโตเป็นหนุ่ม จึงได้สนองคุณบิดามารดาและเข้าสมัครเป็นข้าราชการอำเภอ ต่อมาเมื่อสิ้นบุญบิดาแล้ว หลิมเต้าเคียนก็จากบ้านเดิมไปทำราชการอยู่ที่เมืองจั่วจิว แขวงมณฑลฮกเกี้ยน ทางบ้านจึงมีแต่น้องสาวหลิมกอเหนี่ยวคอยอยู่เฝ้าปรนนิบัติมารดา ด้วยเหตุที่หลิมเต้าเคียนมีอุปนิสัยรักความเป็นธรรม ชาวบ้านจั่วจิวต่างก็ให้ความนับถือรักใคร่ต่อเขา แต่เป็นที่อิจฉาและยำเกรงของเหล่าขุนนางกังฉินยิ่งนัก

ในรัชสมัยของพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ ปรากฏว่ามีโจรสลัดชุกชุม ที่ร้ายกาจนักก็คือโจรสลัดญี่ปุ่น ได้เที่ยวปล้นบ้านตีเมืองตามชายฝั่งทะเลของจีนอยู่เนืองนิตย์ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวเมืองชายทะเลเป็นอันมาก ครั้นโจรสลัดญี่ปุ่นได้กำเริบเสิบสานหนักขึ้น ถึงกับได้ระดมกำลังเข้าโจมตีมณฑลจิเกียงอย่างรุนแรง ทางเมืองหลวงจึงได้แต่งตั้งขุนพลนามว่า เช็กกีกวง เป็นแม่ทัพคุมทัพเรือไปทำการปราบปรามโจรสลัดญี่ปุ่นโดยเฉียบขาด หลิมเต้าเคียนจึงถูกคู่อริผู้พยาบาทมาดร้ายถือโอกาสใส่ความว่า หลิมเต้าเคียนได้สมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่น มีการซ่องสุมกำลังผู้คนและอาวุธคิดจะทำการกบฏก่อความวุ่นวาย หลิมเต้าเคียนจึงถูกทางราชการประกาศจับตัวโทษฐานเป็นพวกโจรสลัด หลิมเต้าเคียนคิดว่า การที่ตนมาถูกเขาปรักปรำกล่าวโทษฉกรรจ์เช่นนี้ ย่อมไม่มีโอกาสหาทางแก้ตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์เป็นแน่แท้ และยังตระหนักดีอีกว่าหากขืนอยู่ต่อกรแข็งสู้กับทัพหลวงต่อไป ย่อมมีอันตรายซึ่งหาคุณประโยชน์อย่างใดมิได้

โบราณท่านว่า อุบายสามสิบหกทาง หลบหนีเป็นอุบายที่ดีที่สุด หลิมเต้าเคียนจึงได้เกลี้ยกล่อมชักชวนเหล่าสมัครพรรคพวกของตนที่กระจัดกระจายแล้วพากันอพยพหลบภัยด้วยการนำเรือสามสิบกว่าลำ ตีหักออกจากที่ล้อมของทหารหลวง โดยแล่นออกทะเลอย่างปลอดภัย ขบวนเรือได้บ่ายหน้าไปถึงเกาะไต้หวันเป็นแห่งแรก

ตามความในจดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง เล่มที่ ๓๒๓ "ประวัติเมืองกีลุ่ง" (ไต้หวัน ในปัจจุบัน) กล่าวว่า เมื่อปลายปีเกี่ยเจ็ง ตรงปีพุทธศักราช ๒๑๐๙ แม่ทัพเช็กกีกวง ได้ทำการปราบปรามพวกโจรสลัดญี่ปุ่นจนราบคาบแล้ว หลิมเต้าเคียนกับพวกได้หลบหนีไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน แต่ไม่กล้าตั้งมั่นอยู่ที่นั่นตลอดไป เพราะกลัวว่าทัพหลวงจะติดตามไปโจมตีและยังถูกโจรสลัดรังควานอยู่เสมอ ครั้นถิ่นไต้หวันยากแก่การที่พวกตนจะอาศัยพำนักแล้ว หลิมเต้าเคียนจึงนำพรรคพวกออกเดินทางฝ่าคลื่นผจญภัยต่อไปจนถึงเกาะลูซอน (ฟิลิปปินส์ ในปัจจุบัน ขณะถูกสเปนยึดครอง) หลิมเต้าเคียนเกิดปะทะกับกองเรือรบของสเปนที่นอกฝั่งเกาะลูซอน หลิมเต้าเคียนได้ทำลายเรือรบของสเปนเสียหายย่อยยับหลายลำ แต่ภายหลังขาดเสบียงอาหารและไม่มีกำลังหนุนจึงต้องล่าถอย (ความในตอนนี้ นักภูมิศาสตร์จีนถือว่า หลิมเต้าเคียนเป็นนักรบ นักผจญภัยที่มีความสามารถผู้หนึ่ง จึงให้เกียรติตั้งเป็นชื่อเกาะแห่งหนึ่งในทะเลจีนใต้เรียกว่า หมู่เกาะเต้าเคียน)

ส่วนในจดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง "ประวัติเมืองลูซอน" บันทึกว่า เมื่อปีบวนเละที่ ๔ ตรงปีพุทธศักราช ๒๑๑๙ ชาวเมืองลูซอนได้ฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับจีน เนื่องจากได้ช่วยเหลือทางราชการจีนปราบพวกหลิมเต้าเคียน หลังจากนั้นแล้ว หลิมเต้าเคียนก็เดินทางผ่านเวียดนาม บางตำนานว่า หลิมเต้าเคียนเคยอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาจึงได้มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองปัตตานี ในจดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง เล่มที่ ๓๒๓ บันทึกว่า หลิมเต้าเคียนได้หลบหนีการจับกุมไปอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานี มีท่าเรือเรียกว่า ท่าเรือเต้าเคียน ภายหลังหลิมเต้าเคียนได้เข้ารีตถือศาสนาอิสลาม และได้ภรรยาซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองปัตตานี เป็นที่โปรดปรานของเจ้าเมืองปัตตานีมาก ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหัวหน้าด่านศุลกากร เก็บส่วยสาอากร

หลิมเต้าเคียนจากถิ่นฐานบ้านเดิมมาอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานีเป็นเวลาช้านาน ไม่ได้ส่งข่าวคราวไปให้มารดาและน้องสาวทราบ ทำให้มารดาผู้วัยชรามากแล้วมีความห่วงใย ไม่รู้ว่าบุตรชายเป็นตายร้ายดีอย่างไร แล้วมารดาก็มักล้มป่วยอยู่เนืองๆ หลิมกอเหนี่ยวได้เฝ้าปรนนิบัติมารดาจนอาการป่วยหายเป็นปรกติ ด้วยความกตัญญูกตเวที จึงได้ขออนุญาตจากมารดาขออาสาตามหาพี่ชายให้กลับบ้าน แต่มารดาไม่อนุญาต เพราะเกรงว่าการเดินทางจะได้รับความลำบาก และเสี่ยงต่ออันตราย แต่ในที่สุดทนต่อคำอ้อนวอนด้วยเหตุผลของหลิมกอเหนี่ยวมิได้ จึงยินยอมให้ไป หลิมกอเหนี่ยวก็จัดแจงสัมภาระเครื่องเดินทาง เสร็จแล้วชักชวนญาติมิตรสนิทหลายคนไปด้วย

ในวันออกเดินทาง มารดา และญาติมิตรมาร่วมส่งกันอย่างคับคั่ง ทุกคนต่างซาบซึ้งในความกตัญญูของหลิมกอเหนี่ยว ก่อนจากหลิมกอเหนี่ยวได้ร่ำลามารดาด้วยสัจจวาจาว่า หากแม้นพี่ชายไม่ยอมกลับไปหามารดาแล้วไซร้ ตนก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป พร้อมกับได้อวยพรให้มารดาจงมีความสุข และสั่งเสียญาติพี่น้องให้ปรนนิบัติมารดาตนเป็นอันดี

หลิมกอเหนี่ยวกับญาตินำเรือออกเดินทางรอนแรมนับเวลาหลายเดือน จนกระทั่งถึงเขตเมืองปัตตานี ได้ทอดสมอจอดเรือไว้ที่ริมฝั่ง ครั้นหลิมกอเหนี่ยวกับพวกได้เดินทางเข้าไปในเมือง สอบถามชาวบ้านได้ความว่า หลิมเต้าเคียนยังมีชีวิตอยู่ ทั้งยังได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่อยู่ที่นี่ ทุกคนต่างก็มีความปิติยินดียิ่ง ครั้นพบปะกับพี่ชายแล้ว หลิมกอเหนี่ยวก็เล่าความประสงค์ที่ได้ติดตามมาในครั้งนี้ว่า พี่ได้ทอดทิ้งมารดาและน้องสาว จากบ้านมาอยู่แดนไกลเสียเช่นนี้หาควรไม่ แม้นพี่กลับไปอยู่บ้านเดิมก็พอทำกินเป็นสุขได้ อีกทั้งทุกคนจะได้พร้อมหน้าอยู่ใกล้ชิดมารดาก่อนที่ท่านจะหาบุญไม่แล้ว แต่หลิมเต้าเคียนคิดตรึกตรองแล้วว่า ถ้าหากกลับไปในขณะนี้ก็เท่ากับหาความยุ่งยากลำบากใจให้กับตนเอง เพราะทางราชการเมืองจีนยังไม่ประกาศอภัยโทษแก่ตน และฐานะความเป็นอยู่ของตนทางนี้ก็มีความสมบูรณ์พูนสุข ไม่ต้องระหกระเหินพเนจรอีกต่อไป จึงว่าแก่น้องสาวว่า พี่นั้นใช่จะเป็นผู้คิดเนรคุณทอดทิ้งมารดาและน้องสาวก็หาไม่ เพราะเหตุพี่ได้ถูกทางราชการเมืองจีนตีตรากล่าวโทษว่า เป็นโจรสลัดอัปยศยิ่งนัก จำต้องพลัดพรากหนีมาพึ่งพาอาศัยอยู่ที่นี่ จนไม่มีโอกาสกลับไปทดแทนคุณมารดาได้ อีกทั้งพี่อยู่ทางนี้ก็มีภารกิจมากมาย เพราะพี่ได้อาสาท่านเจ้าเมืองก่อสร้างมัสยิด จึงมิอาจรับคำคิดจะกลับไปพร้อมกับน้องขณะนี้ได้ โปรดอภัยให้กับพี่เถิด ว่าแล้วหลิมเต้าเคียนก็จัดแจงสิ่งของมีค่าเป็นอันมาก เพื่อให้นำกลับไปฝากมารดาและญาติพี่น้อง หลิมกอเหนี่ยวจึงขอพักอยู่ที่ปัตตานีชั่วคราว และคิดที่จะหาโอกาสอ้อนวอนพี่ชายกลับไปเมืองจีนต่อไป

ขณะนั้นเจ้าเมืองปัตตานีได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยความชรา ไม่มีบุตรที่จะยกขึ้นให้ครองสืบไป พวกศรีตวันกรมการจึงปรึกษาหารือกันว่า จะเลือกบุตรพระญาติวงศ์องค์ใดที่จะยกให้เป็นเจ้าเมือง แต่ยังไม่ทันจะจัดแจง เหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่คาดฝันก็อุบัติขึ้น คือเกิดกบฏแย่งชิงอำนาจเป็นใหญ่ถึงกับรบพุ่งนองเลือดระหว่างพระญาติวงศ์ของเจ้าเมือง พวกกบฏนั้นได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ผิดกับฝ่ายเจ้าเมืองที่ไม่ระวังมาก่อน จึงมิอาจต่อต้านป้องกันได้ทันท่วงที หลิมเต้าเคียนกับเหล่าทหารผู้ภักดีได้ต่อสู้กับพวกกบฏเป็นสามารถ หลิมกอเหนี่ยวประสบเหตุการณ์เข้าเช่นนี้ ด้วยความเป็นห่วงพี่ชายจะได้รับอันตราย จึงได้เสี่ยงชีวิตเข้าช่วยพี่ชายรบรุกกับพวกกบฏอย่างห้าวหาญ ข้างฝ่ายกบฏที่ซุ่มอยู่อีกทางหนึ่ง ครั้นเห็นพวกหลิมกอเหนี่ยวรุกไล่มาก็กรูกันออกมาล้อมตีสกัดไว้ เมื่อถูกล้อมเข้าไว้ดังนี้ หลิมกอเหนี่ยวก็ไม่คิดหวาดหวั่นถอยหนีพร้อมกับพวกเข้าต่อสู้อยู่ท่ามกลางวงล้อม แต่ธรรมดาน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ฉะนั้นเวลาไม่นานนัก พรรคพวกก็ถูกฟันล้มตายบาดเจ็บหลายคน ครั้นหลิมกอเหนี่ยวเห็นสิ้นกำลังสู้รบจวนตัวจะเสียทีแก่ฝ่ายกบฏ จึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า ถึงตัวตายครั้งนี้ก็ให้ปรากฎชื่อไว้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลหลิม แล้วหลิมกอเหนี่ยวก็สละชีวิตด้วยการใช้ดาบกระทำอัตตวินิบาตกรรมเสียในขณะนั้น (แต่อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า หลิมกอเหนี่ยวคิดน้อยใจพี่ชายที่ไม่ยอมตามตนกลับไปหามารดาที่เมืองจีน จึงคิดทำลายชีวิตของตัวเองด้วยการผูกคอที่ต้นมะม่วงหิมพานต์)

ฝ่ายหลิมเต้าเคียนได้นำไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของพวกกบฏจนแตกพ่ายถอยหนีไป แต่อนิจจาน้องสาวต้องมาจากตนไปเสียก่อน หลิมเต้าเคียนกับพวกต่างเศร้าโศกอาลัยยิ่ง จึงพร้อมกันจัดการปลงศพตามประเพณีอย่างสมเกียรติ ทำเป็นฮวงซุ้ยปรากฏมาจนทุกวันนี้ คือที่หมู่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง ปัตตานี ส่วนผู้ที่ติดตามมากับหลิมกอเหนี่ยวในครั้งนั้นก็ไม่คิดจะกลับไปเมืองจีนอีก มีแต่นายท้ายเรือของหลิมกอเหนี่ยวชื่อ จูก๋ง ผู้ใจเด็ด ได้ตั้งคำสัตย์ปฏิญาณไว้ว่า ตราบใดที่หลิมเต้าเคียนไม่ยอมตามตนกลับไป ตนก็จะขออยู่เฝ้าเรือจนกว่าจะสิ้นชีวิต ภายหลังเรือจมจูก๋งก็ตายพร้อมกับเรือลำนั้นตามที่ได้ตั้งคำสัตย์ไว้ ปัจจุบันในศาลเจ้ายังมีแผ่นป้ายจารึกนามของจูก๋งไว้สักการะบูชา ตามตำนานกล่าวว่า เรือสำเภาที่หลิมกอเหนี่ยวนำมามีอยู่เก้าลำ เมื่อขาดการดูแลเรือได้จมน้ำทะเลหมด เหลือแต่เสากระโดงซึ่งทำด้วยต้นสนเก้าต้น เลยเรียกสถานที่ตรงนั้นว่า รูสมิแล หรือ สนเก้าต้น บางตำนานก็ว่า เหตุที่มีชื่อเช่นนี้เพราะผู้ที่ติดตามมากับหลิมกอเหนี่ยวในครั้งนั้นได้ล้มป่วยตายไปเก้าคน ฝังศพไว้ที่นั่น โดยตัดต้นสนปักไว้ทำเป็นเครื่องหมาย

ครั้นปราบกบฏราบคาบสงบลงแล้ว ศรีตวันกรมการผู้ใหญ่จึงประชุมเลือกผู้ครองเมืองต่อไป สุดท้ายที่ประชุมตกลงพร้อมใจกันเลือกบุตรีของเจ้าเมืองเป็นนางพญาครองเมืองสืบไป ระหว่างนางพญาครองเมือง ได้ทะนุบำรุงบ้านเมือง อาณาประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุข นางพญาได้มอบหมายให้หลิมเต้าเคียนเป็นนายช่างควบคุมการก่อสร้างมัสยิดต่อไป โดยเป็นมัสยิดก่อด้วยอิฐมีจำนวนสามห้อง และมีเฉลียงรอบ กว้างสองวา ยาวห้าวา ฝาผนังเฉลียงนั้นมีลักษณะโค้งทั้งสี่ด้าน พื้นเฉลียงสูง ๒ ศอก ขณะสร้างถึงคานบนและจะสร้างโดม ก็ปรากฏการณ์ขึ้นที่มัสยิดได้ถูกอสนีบาต ทำลายเสียหายถึงสามครั้ง สร้างความมหัศจรรย์ประหลาดใจให้หลิมเต้าเคียน จึงคิดว่าชรอยตนมีความอกตัญญูมิได้รู้คุณมารดาและทำให้น้องสาวต้องติดตามมาเสียชีวิตด้วย เทพยดาฟ้าดินจึงได้ลงโทษแก่ตน หลิมเต้าเคียนจึงล้มเลิกที่คิดสร้างอีกต่อไป มัสยิดจึงค้างคาสร้างไม่สำเร็จตราบจนทุกวันนี้ และกล่าวกันว่าคนในภายหลังต่อมา ได้พยายามจะปฏิสังขรณ์มัสยิดนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ โดยมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ถือกันว่าเป็นมัสยิดอาถรรพ์

หลิมเต้าเคียนจึงคิดแก้ตัวใหม่ ด้วยการหล่อปืนใหญ่ขึ้นถวายนางพญาไว้สำหรับเมือง ปืนที่หล่อมีสามกระบอก ชื่อปืนนางพญาตานี ยาว ๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้วกึ่ง กระสุน ๑๑ นิ้ว (ปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม ซึ่งนำไปเมื่อครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๒๘ อีกกระบอกหนึ่งได้ตกเสียที่ปากน้ำปัตตานี) ชื่อปืนศรีนัครี และปืนมหาหล่าลอ เมื่อหล่อปืนเสร็จเรียบร้อย จึงประจุดินปืนทำการทดลอง มีอยู่กระบอกหนึ่งจุดชนวนแล้วไม่ลั่น แม้จะพยายามอยู่หลายครั้งก็ไม่สำเร็จ หลิมเต้าเคียนเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงได้ลงมือจุดเอง ปรากฏว่าปืนแตกระเบิดถูกตัวหลิมเต้าเคียนถึงกับสิ้นบุญวาสนาไปแต่บัดนั้น ปัจจุบันที่หมู่บ้านกรือเซะห่างจากมัสยิดโบราณไปทางทิศตะวันออก ยังมีสถานที่หล่อปืนดังกล่าว
ส่วนที่ฝังศพของหลิมเต้าเคียน บางท่านกล่าวว่าอยู่ที่สุสานเก่า กูโบตันหยงลูโละ

ต่อมาเล่ากันว่า หลิมกอเหนี่ยวได้สำแดงปรากฏอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือและประชาชนผู้สัญจรไปมาในแถบถิ่นนั้นเสมอจนเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป

กิตติศัพท์อภินิหารของหลิมกอเหนี่ยวเป็นเหตุให้ประชาชนผุ้เลื่อมใสสละทุนทรัพย์สร้างศาลขึ้นที่หมู่บ้านกรือเซะ และสร้างรูปจำลองหลิมกอเหนี่ยวเพื่อไว้สักการะบูชา โดยทำพิธีอัญเชิญวิญญาณของหลิมกอเหนี่ยวมาสิงสถิตในรูปจำลองนั้น พร้อมกับขนานนามว่า "เจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว" ปรากฏว่ามีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้กันมากมาย บ้างก็มีเรื่องเดือดร้อนไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วยเหลือ บ้างกราบไหว้ขอให้ทำมาค้าขายเจริญ เมื่อบนบานแล้วต่างก็บังเกิดผลตามความปรารถนาทุกคน จึงทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยวยิ่งแผ่ไพศาลออกไปยังเมืองอื่นๆ

ต่อมา พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย) (ต้นสกุล คณานุรักษ์) ซึ่งเป็นหัวหน้าชาวจีนในปัตตานีขณะนั้น ได้ประจักษ์ว่า เจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยวนั้นเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป และเห็นว่าศาลที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่อยู่ที่หมู่บ้านกรือเซะ ห่างไกลจากตัวเมืองไม่สะดวกแก่การประกอบพิธีต่างๆ จึงได้ทำการบูรณะศาลเจ้าซูก๋ง ที่ตั้งอยู่ในปัตตานีเสียใหม่ (เดิมเป็นศาลเจ้าประดิษฐานของพระหมอท่านที่มีนามฉายาว่า เซ็งจุ้ยโจ๊วซูก๋ง มีนามสกุลว่า อ่อง เดิมท่านเป็นแพทย์ เป็นชาวเมืองโพฉาง แขวงมณฑลฮกเกี้ยน ประวัติกฤษดาภินิหารของท่านมีมาก แต่ยังไม่ได้แปลไว้ ณ ที่นี้) และได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยวมาประดิษฐานไว้ ณ ศาลเจ้าแห่งใหม่นี้ ภายหลังมีชื่อเรียกว่า "ศาลเจ้าเล่งจูเกียง" (ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา) หรือชื่อสามัญที่ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว

วันสำคัญของทางศาลเจ้าก็คือ งานสมโภชฉลองเจ้าแม่จัดขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย ตามจันทรคติจีนทุกปี คือหลังจากวันตุรษจีน ๑๔ วัน ตรงกับจันทรคติของไทยราววันเพ็ญ เดือน ๓ งานสมโภชนี้กระทำกันอย่างมโหฬารมาก จัดเตรียมงานกันก็หลายวัน พิธีสมโภชจะเริ่มแต่เช้าตรู่ประมาณ ๖ นาฬิกา โดยจะมีการอัญเชิญองค์เจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว องค์ประธานพระหมอ พร้อมด้วยพระหลายองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้า โดยแห่แหนไปตามถนนต่างๆ รอบเมือง พร้อมกับมีการเชิดสิงโต แห่ธงทิว คณะดนตรีบรรเลงตลอดทาง ส่วนประชาชนก็จะเดินตามขบวนเป็นทิวแถว บ้านช่องสองฟากถนนก็จะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาจัดโต๊ะบูชา จุดธูปกราบไหว้ ส่วนผู้ที่หามเกี้ยวที่ประทับของเจ้าแม่และองค์อื่นๆ ปรากฏว่ามีผู้แย่งกันหาม ถือว่าได้บุญเป็นพิเศษ เมื่อขบวนแห่ไปเชิงสะพานเดชานุชิต ก็จะมีพิธีลุยน้ำข้ามคลอง เพื่อระลึกถึงเจ้าแม่ในอดีตที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลด้วยความลำบาก ตามหาพี่ชายถึงเมืองปัตตานี เมื่อแห่รอบเมืองแล้ว ก็จะย้อนกลับไปทำพิธีลุยไฟที่ลานกว้างหน้าศาลเจ้า ซึ่งปัจจุบันได้สร้างอัฒจันทร์ให้ผู้ชมนั่งชมได้สะดวก พิธีลุยไฟนี้ได้สร้างความตื่นเต้นและฉงนฉงายต่อผู้ชมมาก กลางคืนก็มีมหรสพฉลองตลอดงาน เช่น งิ้ว รำวง มโนห์รา และภาพยนตร์ เป็นต้น

ในสมัยก่อนนั้น ยังมีพิธีอย่างหนึ่งคือ คนทรงจะทำพิธีเอามีดเฉือนลิ้นตัวเอง แล้วเอาเลือดเขียนยันต์ที่หน้าผากของคนที่หามเกี้ยวเจ้าแม่ แล้วให้คนหามเกี้ยวเดินไปบนมีดดาบอันคมกริบขนาดโกนขนอ่อนขาดกระจุยไป โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่ภายหลังได้ถูกทางราชการบ้านเมืองฝ่ายปกครองออกคำสั่งห้ามพิธีอันหวาดเสียวนี้เสีย คงมีแต่พิธีลุยไฟเท่านั้นที่ยังคงกระทำมาจนทุกวั.นนี้





     หลิมกอเหนี่ยวเจ้าแม่       ศักดิ์สิทธิ์
เทิดสัตย์ดับชีวิต                ประวัติอ้าง
ความดีดั่งอมฤต                ชโลมโลก
คงชื่อคงเสียงสร้าง            สืบไว้อนุสรณ์


เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าเล่งจูเกียง


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์