ในหลวงรัชกาลที่ ๘ และ รัชกาลที่ ๙ ขณะทรงพายเรือ ชื่อแหกตา ในสระน้ำ พระราชวังบางปะอิน

กีฬาในร่มที่ทรงเล่นบ้าง คือ บิลเลียด ซึ่งมีโต๊ะบิลเลียดอยู่ที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ณ พระราชวังบางปะอินโต๊ะหนึ่ง ที่โรงแรมเมโทรโปลในเมืองจำลองดุสิตธานีอีกโต๊ะหนึ่ง ส่วนโต๊ะที่อยู่บนทางข้ามคลองระหว่างพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์และพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์นั้นเป็นโต๊ะเล็กไม่มีหลุม ได้แต่เล่นแคนนอน นอกจากนั้นก็มีกีฬา Fives ที่ตามปกติต้องเล่น ณ ที่มีกำแพงนั้น ทรงนำมาทรงที่โต๊ะบิลเลียด ใช้มือ ไม่ใช้คิว
 
ส่วนกีฬาไพ่ที่ทรงนั้น มิใช่ไพ่ไทยหรือไพ่ฝรั่งแบบโปเกอร์ (Poker)แต่ทรงเลือกจากตำราไพ่กว่า ๑๐๐ ชนิด มาทรงเล่นเพื่อผ่อนคลายพระราชอิริยาบถ มักจะทรงไพ่ตั้งแต่เสวยพระกระยาหารค่ำเสร็จ ไปจนถึงเวลาเสด็จเข้าห้องพระบรรทม การทรงไพ่นี้มีกติกาสำคัญว่า ผู้แพ้ต้องเสียเงินเพื่อนำไปสมทบสร้างเรือพระร่วงหรือการสาธารณกุศลต่างๆ ส่วนผู้ชนะจะไม่ได้เงินไป และในระหว่างที่ทรงไพ่นี้มักจะทรงเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง อันถือเป็นการสอนและการอบรมโดยทางอ้อม
 
แต่กีฬาที่โปรดมากอีกชนิดหนึ่ง คือ กรรเชียงเรือ ซึ่งหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ได้เล่าไว้ใน "อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล" ว่า
 
"แต่อะไรก็ไม่โปรดเท่าตีกรรเชียงเรือ ที่พระราชวังบางปะอินทรงมีเรือหลายอย่าง เช่น เรือยนต์ทาสีน้ำเงิน ๖ ลำ เราเรียกว่าเรื่อน้ำเงิน แต่ ๑ ใน ๖ เท่านั้นที่มีปล่อง และทรงใช้ทำนอง “เรือธง” ของทหารเรือ มักจะทรงเรือน้ำเงินออกไปกลางแม่น้ำเจ้าพระยา แปรขบวน แสดงวิธียุทธทางเรือต่างๆ
 
เมื่อถึงฤดูที่น้ำจะมาราวเดือนกันยายน มักเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตีกรรเชียงที่แม่น้ำเจ้าพระยาแถบพระราชวังบางปะอิน ทรงตีกรรเชียงเรือเล็ก มี ม.จ.ดิศศานุวัตร เป็นคู่ เจ้าคุณอนิรุทธเทวาถือท้าย นายจ่ายวด (ปาณี ไกรฤกษ์) เป็นคู่ผลัด ดังนั้น จะเสด็จพระราชดำเนินทรงตีกรรเชียงเมื่อใด ข้าพเจ้าก็ต้องอยู่ขาดมิได้ มักจะเสด็จไปไกลๆ หยุดพักเสวยพระสุธารส เครื่องว่าง แล้วกลับ บางทีเรือน้ำเงินก็ต้องจูงกลับ
 
มีวันหนึ่ง ทรงกรรเชียงไปไม่ไกลนัก แต่เกิดมีพายุฝนขึ้นทันที มองอะไรไม่เห็นเลย ต้องพึ่งความเคยชินพาเรือกลับ แต่ก็ทำไม่ได้ น้ำฝนนองอยู่ในเรือมากขึ้น อาจจมลงเมื่อใดก็ได้ แต่ในที่สุดเรือน้ำเงินก็แล่นมาเทียบ รับเสด็จขึ้นเรือยนต์นั้น จึงได้ทรงปลอดภัย
 
ความที่โปรดเรือ ทำให้มีคนนำเรือมาทูลเกล้าฯถวายกันบ้าง เรือที่มีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายลำเล็กลำหนึ่ง สมมุติว่าสวยมาก จึงพระราชทานชื่อว่า "เรือแหกตา" มีความหมายว่าแล่นไปทางไหนคนก็ต้องแหกตาดู"  

ส่วนที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวถึงการที่มหาดเล็กและราชองครักษ์ต้องล้อมวงถวายอารักขาเวลาเสด็จลงสรงน้ำทะเลนั้น ก็เป็นการจุกช่องล้อมวงถวายอารักขาตามพระราชประเพณี ทั้งในเวลาเสด็จลงสรงน้ำทะเลหรือน้ำตก แม้ในรัชกาลปัจจุบันก็ยังมีการจุกช่องล้อมวงถวายอารักขาในเวลาเสด็จลงสรงน้ำเช่นนี้เหมือนกัน
 
อนึ่ง เมื่อเสวยพระกระยาหารค่ำเสร็จในเวลาราว ๒๓.๐๐ น. แล้ว ก็มักจะทรงพระสำราญด้วยการเล่นต่างๆ ทั้งทรง ฝึกซ้อมโขน ละคร ทรงไพ่บริดจ์ร่วมกับมหาดเล็กผู้ใหญ่ และทรงเล่นละครปริศนา ดัมบ์ แครมโบ (Drum Crambo) ซึ่งเป็นการเล่นทายคำพังเพย นอกจากนั้นยังทรงคิดการเล่นอีกหลายอย่างให้มหาดเล็กเล่น เช่น "ให้ฝ่ายหนึ่งนำเอกสารสำคัญมาทูลเกล้าฯ ถวายให้จงได้ภายในเวลาที่กำหนด และมีอีกฝ่ายหนึ่งคอยป้องกันไม่ให้กระทำสำเร็จ" 
 
การทรงเล่นรวมทั้งการฝึกซ้อมและจัดแสดงโขน ละคร ในเวลากลางคืนนี้ นอกจากจะเป็นการทรงเล่นเพื่อทรงพระสำราญและเป็นเครื่องฝึกไหวพริบ วางแผน และใช้กำลังกายของมหาดเล็กแล้ว ยังทรงใช้บทละครพระราชนิพนธ์เป็นเครื่องมือให้ความรู้แก่พสกนิกร เช่น ละครเรื่องหัวใจนักรบ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของเสือป่าในการป้องกันรักษาบ้านเมือง และการทำหน้าที่ผู้ช่วยทหารในยามที่มีศึกสงครามมาประชิด ทั้งเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่ามีข้าราชการผู้ใดต้องคำครหาประพฤติมิชอบ ก็มักจะโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงละครปริศนา และโปรดให้เชิญข้าราชการที่ต้องข้อครหานั้นมาชมละครซึ่งเรื่องที่จัดแสดงนั้นมักจะมุ่งแสดงถึงเรื่องที่ข้าราชการผู้นั้นถูกกล่าวหา เป็นการป้องปรามมิให้ข้าราชการผู้นั้นประพฤติมิชอบอีกต่อไป
 
สำหรับเรื่องสุนัขทรงเลี้ยงนั้น นอกจากย่าเหล ซึ่งทรงเลี้ยงมาแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และเมื่อย่าเหลเสียชีวิตใน พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้ว ก็ทรงเลี้ยงมารี และต่อด้วยนันทากับมากาเร็ตมาตราบจนเสด็จสวรรคต รายละเอียดในเรื่องสุนัขทรงเลี้ยงนี้ได้กล่าวไว้โดยละเอียดในเรื่อง "ย่าเหล และสุนัขทรงเลี้ยง" ในเกร็ดพงศาวดารรัชกาลที่ ๖ แล้ว
 
 ส่วนการถวายอยู่งานใต้โต๊ะในเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนั้น เนื่องจากเป็นการประทับโต๊ะเสวยแบบฝรั่งเต็มรูป มีเจ้านายและเสนาบดีตลอดจนข้าราชการผู้ใหญ่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมโต๊ะเสวยเป็นประจำทุกวัน ผู้ที่ร่วมโต๊ะเสวยเป็นประจำก็คงมีเจ้าพระยารามราฆพ พระยาอนิรุทธเทวา และพระยาอุดมราชภักดี ซึ่งทั้งสามท่านนี้ล้วนเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่ทรงชุบเลี้ยงมาแต่เยาว์วัยจนได้รับราชการเป็นผู้ใหญ่ในกรมมหาดเล็ก ในเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนี้มักจะโปรดให้มหาดเล็กซึ่งเป็นนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันถวายอยู่งานนวดที่ใต้โต๊ะเป็นประจำทุกวัน
 
การถวายอยู่งานใต้โต๊ะนี้เล่ากันว่า ใกล้เวลาที่จะเสด็จลงประทับโต๊ะเสวย มหาดเล็กผู้เป็นเวรจะมุดเข้าไปนั่งอยู่ใต้โต๊ะตรงหน้าที่ประทับ เมื่อประทับโต๊ะเสวยเรียบร้อยแล้ว ก็เชิญพระบาทขึ้นวางบนตักแล้วถวายอยู่งานบีบนวดพระชงฆ์ เล่ากันว่า โต๊ะเสวยนั้นสูงไม่มากนัก และผู้ถวายงานจะต้องใช้หน้าตักของตนรองรับพระบาทไว้ทำให้ขยับตัวได้ไม่สะดวก จึงต้องคัดเลือกมหาดเล็กที่มีรูปลักษณ์ชนิดมะขามข้อเดียว และมีข้อแข็ง และเป็นพวก "หูหนวกตาบอด" คือ ไม่รับรู้รับทราบเรื่องที่เจ้านายท่านทรงคุยกัน เพราะมักจะทรงปรึกษาข้อราชการสำคัญกับผู้ที่มาร่วมโต๊ะเสวยอยู่เป็นประจำ ทุกเรื่องจึงต้องเก็บเป็นความลับหมด หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการฝึกให้มหาดเล็กที่ถวายงานนวดที่ใต้โต๊ะเสวยนั้นได้เรียนรู้ข้อราชการและพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องนั้นๆ ด้วย
 
เนื่องจากเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนั้นเริ่มตั้งแต่สามทุ่ม กว่าจะเสวยเสร็จก็ใกล้เที่ยงคืน จึงมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า บางคราวมหาดเล็กที่เป็นเวรอยู่งานใต้โต๊ะนั้นมัวเพลินเล่นบิลเลียด หรือเที่ยวเพลินจนมิได้รับประทานอาหารเย็นมาก่อน พอได้เวลาประทับโต๊ะเสวยมหาดเล็กที่อยู่งานใต้โต๊ะนั้นก็จะใช้วิธีสะกิดขามหาดเล็กผู้ใหญ่ที่ร่วมโต๊ะเสวยในวันนั้น ท่านผู้ใหญ่นั้นก็จะกรุณาจัดแบ่งอาหารใส่จานเล็กส่งลงไปให้มหาดเล็กผู้อยู่งานใต้โต๊ะ หรือบางทีไม่ทันใจก็จะไปหยิบอาหารที่จัดไว้ให้สุนัขทรงเลี้ยงที่ข้างโต๊ะเสวย เจ้าสุนัขนั้นก็จะส่งเสียงขู่ให้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ ก็จะมีรับสั่งว่า ไอ้พวกนี้แย่งหมากินอีกแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่า ทรงกริ้วแต่ประการใด
 
แม้กระนั้นในระหว่างที่ประทับเสวยพระกระยาหารค่ำนั้น หากทรงกริ้วผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นมาก็มักจะทรงกระทืบพระบาทลงไปบนตักของมหาดเล็กนั้นเอง และเป็นที่ทราบกันดีว่า ยามที่ทรงกริ้วพระยาสุจริตธำรง (อู๊ด สุจริตกุล) ซึ่งทรงนับว่าเป็นพระญาติสนิทนั้นจะทรงออกแรงมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าในหมู่มหาดเล็กว่า ไม่เคยมีใครถวายอยู่งานให้ในหลวงร้องว่าเจ็บได้เลย แม้แต่พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตนานนท์) [๓] ซึ่งมีชื่อในเรื่องถวายอยู่งานนวด แต่แล้ววันหนึ่ง
 
"พอเสวยได้หน่อยเดียว ดูเหมือนพอซุบหมดจาน ในหลวงทรงร้องโอย แล้วชักพระบาทขึ้นจากใต้โต๊ะ ท่านที่นั่งร่วมโต๊ะเสวยพากันตกใจและประหลาดใจ แต่ทันใดนั้นเองรับสั่งด้วยพระอาการขันๆ ว่า อ้ายหมอนั่นมันบีบสันหน้าแข็งฉันเจ็บพิลึกบ้าแท้ๆ บีบที่ไหนไม่บีบดันไปบีบสันหน้าแข้ง แล้วก็ทรงพระสรวลพลางใช้พระหัตถ์เลิกผ้าปูโต๊ะ แล้วทรงก้มลงไปใต้โต๊ะรับสั่งว่า นวดดีๆ ซีวะ อ้ายปรื๊อ ความที่ทรงจำฝีมือได้ก็ทรงเรียกชื่อได้ทุกคนโดยไม่ต้องเห็นหน้า เขาผู้นั้นเป็นชาวภูเก็ต ซึ่งมักทรงเรียกผู้เป็นชาวใต้ว่าปรี๊อ"

ในหลวงรัชกาลที่ ๘ และ รัชกาลที่ ๙ ขณะทรงพายเรือ ชื่อแหกตา ในสระน้ำ พระราชวังบางปะอิน

ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก FB : เวียงวังและคลังประวัติศาสตร์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์