‘จูล่ง’ ยอดขุนพลแห่งประวัติศาสตร์ ที่ถูกกล่าวหาว่า ‘ไม่ชอบผู้หญิง’


จูล่ง
คือ "สุภาพบุรุษยอดนักรบ" เป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมชมชอบมากที่สุดคนหนึ่งในเรื่องสามก๊ก คุณสมบัติสำคัญของเขาคือฝีมือรบที่เก่งกล้าสามารถ ซึ่งอาจจะเหนือชั้นที่สุดในบรรดานักรบยุคสามก๊กด้วยกัน ถึงขนาดที่ต่อสู้มาตลอดชีวิตยังไม่เคยเพลี่ยงพล้ำให้ใคร ไม่เคยมีบาดแผลแม้สักเล็กน้อย

ที่สำคัญ เขาเป็นคนสุภาพ ใจกว้าง อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักให้เกียรติผู้คน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่น้องร่วมสาบานของเล่าปี่อย่าง กวนอู และ เตียวหุย ไม่มี

นั่นคือความ "สุดยอด" ของจูล่ง ที่หลอกว้านจง ผู้แต่งวรรณกรรมสามก๊กบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นมา แต่เรามาดูกันเถิดว่า ตัวตนของจูล่งตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้น จะ "เทพ" และ "บริสุทธิ์ผุดผ่อง" ขนาดที่วรรณกรรมว่าไว้หรือไม่

จดหมายเหตุสามก๊ก ประวัติจูล่ง ระบุว่า เขาเกิดที่อำเภอเจิ้นติ้ง เมืองเสียงสาน ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอเป่ย ทางภาคเหนือของจีน ในช่วงที่จูล่งเริ่มต้นอาชีพทหาร มีขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ในแดนเหนืออยู่สองคน คือ อ้วนเสี้ยว และกองซุนจ้าน โดยจูล่งเลือกที่จะสมัครเข้าเป็นทหารในทัพของกองซุนจ้าน ซึ่งเป็นคนที่เขาเชื่อว่ามีคุณธรรมเหนือกว่า

อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมสามก๊กบอกว่าจูล่งเคยเป็นทหารในทัพของอ้วนเสี้ยวมาก่อน พอรู้ว่าอ้วนเสี้ยวเป็นคนไม่ได้เรื่อง จึงย้ายมาอยู่กับกองซุนจ้าน

จะเห็นได้ว่า ผู้แต่งวรรณกรรมถือโอกาสปรับเปลี่ยนเนื้อหา เพื่อตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำที่ "ไม่เอาไหน" ของอ้วนเสี้ยว และเพื่อ "ยก" จูล่งว่าเป็นคนที่ "มองคนออก" รู้ว่าอ้วนเสี้ยวไม่ได้เรื่องตั้งแต่ไหนแต่ไร

ในช่วงที่เล่าปี่มาขอยืมกำลังทหารของกองซุนจ้านไปช่วยโตเกี๋ยมรบป้องกันเมืองชีจิ๋วจากโจโฉ เล่าปี่ได้ขอยืมตัวจูล่งไปด้วย และทั้งคู่ก็รักใคร่ชอบพอกันนับแต่บัดนั้น หลายปีต่อมา กองซุนจ้านพ่ายต่ออ้วนเสี้ยวจนต้องฆ่าตัวตาย จูล่งจึงได้มารับใช้เล่าปี่สมใจ และทำงานรับใช้นายใหญ่แซ่เล่าด้วยความซื่อสัตย์ตลอดชีวิต

แม้วรรณกรรมจะเล่าเรื่องจูล่งไว้ราวกับเทพยดา แต่หากได้อ่านจดหมายเหตุสามก๊กจะพบว่า จูล่งไม่ใช่ "นายทหารคนสำคัญ" มาตั้งแต่ต้น ดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

ในความเป็นจริงแล้ว จูล่งเพิ่งสร้างชื่อขึ้นมาในช่วงที่เล่าปี่อพยพหนีการตามล่าของโจโฉจากซินเอี๋ย ด้วยการช่วยชีวิต "อาเต๊า" ทารกน้อยลูกชายของนายใหญ่ให้พ้นจากเงื้อมมือศัตรูได้อย่างหวุดหวิด หรือที่รู้จักกันในนาม "จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า"

แม้จะเข้าร่วมในสงครามใหญ่และเป็นกำลังสำคัญของทัพเล่าปี่แทบทุกครั้ง จูล่งกลับไม่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเท่าที่ควร โดยเป็นเพียงนายทหารระดับกลางเท่านั้น

ผู้รู้ด้านสามก๊กหลายคนวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะความใจกว้างของเขาที่ชอบสร้างผลงานแต่ไม่ชอบเอาหน้า ทำให้ความชอบไปตกอยู่กับผู้อื่นหมด กว่าจะมาได้เป็นนายทหารใหญ่จริงๆ ก็ต้องรอจนอายุเยอะแล้ว จึงได้เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของจ๊กก๊ก ร่วมกับ กวนอู เตียวหุย ฮองตง และม้าเฉียว

โดยส่วนตัวผมมองว่าเรื่องนี้ธรรมดามาก ทหารมีเยอะแยะ จะให้เด่นให้ดังทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ คนที่ทำความดีความชอบก็คงไม่ได้มีแต่จูล่งคนเดียว ทุกอย่างต้องรอจังหวะเวลา

ที่น่าแปลกก็คือ หลายคนเชื่อว่าจูล่งไม่มี "ภรรยา" เป็นตัวเป็นตน ทั้งๆ ที่ผู้ชายที่เพียบพร้อมอย่างเขา ปรารถนาหญิงงามขนาดไหนก็น่าจะหาได้ไม่ยากนัก

ความเชื่อดังกล่าว น่าจะมีที่มาจากเรื่องราวในวรรณกรรมเป็นสำคัญ เพราะวรรณกรรมสามก๊กเล่าว่า ตอนที่จูล่งรับคำสั่งจากขงเบ้งให้ไปตีเมืองฮุยเอี๋ยง เตียวหอม เจ้าเมืองฮุยเอี๋ยงยอมสวามิภักดิ์ และขอสาบานเป็นพี่เป็นน้องกับจูล่ง จูล่งก็ยอม

จากนั้น เตียวหอมได้เอ่ยปากยกพี่สะใภ้คนงามให้เป็นภรรยาของจูล่ง แต่จูล่งไม่รับ ซ้ำยังโกรธมาก เพราะเขามองว่า เมื่อสาบานเป็นพี่น้องกันแล้ว ตัวเขาก็เป็นเสมือนพี่ชายของเตียวหอม การจะไปเอาพี่สะใภ้มาเป็นเมียย่อมถือว่าผิดประเพณีอย่างรุนแรง

ครั้นเล่าปี่กับขงเบ้งทราบเรื่องเข้า ทั้งสองกลับมองเป็นเรื่องขบขัน ฝ่ายจูล่งให้เหตุผลว่า การใหญ่ของนายยังไม่เสร็จสิ้น เขาจึงยังไม่สมควรจะมีภรรยา โดยตัวเขาเองนั้น "กลัวแต่จะไม่ได้สร้างผลงาน ไม่กลัวที่จะไม่มีเมีย"

ผมว่าหลายคนที่ได้ยินคำพูดนี้ น่าจะรู้สึกตะหงิดๆ ว่า การ "สร้างผลงานให้นาย" กับการ "มีเมีย" มันขัดแย้งกันที่ตรงไหน อย่างไรก็ตาม เรื่องเตียวหอมยกพี่สะใภ้ให้เป็นเมียจูล่งนี้ เป็นเพียงเรื่องราวในวรรณกรรม ไม่มีระบุไว้ในบันทึกประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

แม้วรรณกรรมสามก๊กจะบอกว่าจูล่งไม่มีเมีย แต่เรามาดูกันเถิดว่า จดหมายเหตุสามก๊กเขียนไว้อย่างไรบ้าง?

ใน จดหมายเหตุสามก๊ก: ประวัติจูล่ง บอกแต่เพียงว่า จูล่ง (จ้าวอวิ๋น) มีลูกชายสองคน เมื่อเขาตายแล้ว ลูกคนโตคือ เตียวหอง (จ้าวถง) ได้รับตำแหน่งแทนพ่อ ส่วนลูกคนเล็กคือ เตียวกอง (จ้าวกวง) ได้เข้ารับราชการกับจ๊กก๊ก และเสียชีวิตในระหว่างบุกเหนือกับเกียงอุย

จะเห็นได้ว่า แม้จะไม่มีบันทึกหรือหลักฐานแสดงถึงความมีตัวตนอยู่จริงของภรรยาจูล่ง แต่การที่เขามีลูกชาย ก็แปลว่าจูล่งต้อง "มี" หรืออย่างน้อยก็ "เคยมี" ภรรยา!!

และอันที่จริง การที่จดหมายเหตุสามก๊กไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเมียจูล่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบันทึกทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นย่อมไม่ได้ให้ความสำคัญกับอิสตรีอยู่แล้ว หากไม่ใช่ระดับเมียเจ้าก๊กหรือคนใหญ่คนโต และจะว่าไป เมียกวนอู เมียเตียวหุย ก็ใช่ว่าจะมีใครรู้จัก

อย่างไรก็ตาม การที่วรรณกรรมเล่าเรื่องไว้ว่า จูล่ง "ไม่มีเมีย" และในประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้กล่าวถึงเมียจูล่ง เป็น "ช่องว่าง" ให้คนจำนวนมากเอาเรื่องส่วนตัวของยอดนักรบผู้นี้ไปคิดไปแต่งเติมต่อๆ กันไป

บ้างก็ว่า จูล่งคง "ไม่ชอบผู้หญิง" ถ้าเป็นสมัยนี้อาจเข้าใจว่าเป็น "เกย์" (คนที่คิดเช่นนี้คงไม่ทราบว่าจูล่งมีลูกชายสองคน แต่การมีลูกก็ไม่แน่ว่าจะช่วยลบล้างความคิดดังกล่าวได้หรือไม่)

โดยสรุปแล้ว เราคงไม่อาจทราบได้ว่าภรรยาของจูล่งหายไปไหน หายไปได้อย่างไร เป็นไปได้ว่าสูงว่านางอาจเสียชีวิตไปก่อน หรืออาจยังมีชีวิตอยู่ แต่เรื่องราวมิได้ถูกบันทึกไว้ หรือนางอาจเลิกร้างกับจูล่งเสียก่อน อันนี้ก็สุดที่จะทราบได้

สรุปดื้อๆ ว่า ของบางอย่างอย่าไปดิ้นรนหาความจริงกันให้เหนื่อยเกิน สู้ทิ้งไว้ให้ได้ใช้จินตนาการกันเล่นๆ ก็สนุกดีเหมือนกันครับ


 ‘จูล่ง’ ยอดขุนพลแห่งประวัติศาสตร์ ที่ถูกกล่าวหาว่า ‘ไม่ชอบผู้หญิง’

เขียนโดย 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์