วิธีแต่งตัวให้ เดิร์น เก๋ และไม่แพงมาก

เคยสังเกตไหมว่า เมื่อไรที่เราได้ซื้อของดีราคาถูก


จะเป็นวันที่แฮปปี้กระดี๊กระด๊า แต่วันไหนได้ของแบบงั้นๆ ใช้ได้ครั้งสองครั้ง แถมยังรู้สึกว่าแพงไป ก็ให้รู้สึกเซ็งใจขึ้นมาทันที คงเพราะเหตุนี้ผู้หญิงเราจึงมักจะพยายามฝ่าฟันไปให้ถึงปลายทางของการดูดีให้ได้โดยไม่ทำร้ายกระเป๋าเงินมากนัก

ว่าแล้วก็ลอง 9 กฎทองนี้ดีกว่าค่ะ รับรองไม่เสียเที่ยวเปล่าแน่นอน

วิธีแต่งตัวให้ เดิร์น เก๋ และไม่แพงมาก


1. ร้านคุณป้าอย่าได้เมิน


ของดีราคาถูก ก็เหมือนกับการหาสมบัติใต้ทะเลลึกนั่นแหละ จะเจอหรือไม่เจอก็ได้ แล้วแต่โชค หลายคนพอได้ยินว่าให้แวะไปร้านเสื้อผ้าเก่าๆ แนวป้าๆ ลุงๆ ทั้งแถวบางลำพู หรือ สำเพ็ง หรือบางรัก ก็อาจจะนึก "ว๊าย ไปทำไมยะ.. อายุฉัน เพิ่งจะยี่สิบนิดๆ ชอปปิ้งห้างตลอด ไปร้านอย่างนั้นได้แต่ของป้าๆ สิ ฯลฯ"

...นั่นก็เพราะคุณยังไม่รู้สิว่า เสื้อผ้าลินินหรือผ้าฝ้ายพิมพ์ลายสวยๆ

มักจะซ่อนตัวอยู่ร้านแถวนี้ล่ะ ยิ่งตอนนี้ลินินขาวกำลังอิน ใส่หน้าร้อนเย็นสบาย หรือจะลองหากระโปรงผ้าฝ้ายพิมพ์ลายรีโทรนิดๆ มาใส่กับสายเดี่ยวก็สวย ของอย่างนี้

ต้องใฝ่หา วันไหนว่างเริ่มจากสำเพ็ง วังบูรพาก่อนเลย เข้ามันทุกร้าน โชคดีจะเจอ เสื้อลายลูกไม้เก๋ๆ หรือแวะไปดูกระโปรงที่ร้านโขมพัสตร์ ถนน นเรศ สี่พระยา ก็มีกระโปรงผ้าฝ้ายพิมพ์ลายน่ารักดี

2. ซื้อแบบเบสิคแล้วค่อยเดรสอัพ


´เบสิค´ ในที่นี้ได้แก่ เดรสดำ กางเกงดำ กระโปรงสีดำ และเสื้อสีขาว จะเป็นเชิ้ตหรือแพทเทิร์นหวานๆก็ได้ พวกนี้ไม่เคยล้าสมัย ดูดีตลอด แม้ว่าจะไม่แฟชั่นจ๋าออนเทรนด์อะไรขนาดนั้น แต่คุ้มค่ามากที่จะยอมทุ่มทุนซื้อชิ้นที่คุณภาพดีๆ ตัดเนี้ยบ แพทเทิร์นเก๋ ไม่ถึงกับต้องเป็นแบรนด์ดังจากอิตาลีหรอกนะคะ ในห้างชั้นนำบ้านเราก็มีมากมายให้เลือก หรือจะไปตัดก็ได้ ขอแนะนำร้านยอดฮิตของเด็กจุฬา ที่นี่ตัดเสื้อผ้าแนวสูทกระโปรงกางเกงชนะเลิศ คุณประทวน-คุณประทิน แห่งร้านโฟร์ชอง สุขุมวิท 49 ก่อนถึงสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ ร้านนี้ตัดได้ทุกแพทเทิร์น แม้จะต้องรอนานหน่อย เพราะลูกค้าเยอะ แต่รับรองถูกใจ ราคาไม่แพง ช่างเป็นกันเอง

พอได้ชุดเนี้ยบๆ แล้วค่อยมาแต่งกับพวกเครื่องประดับเปรี้ยวๆ ดราม่าๆ หน่อย อย่างต่างหูสไตล์ My Little Chandelier สีสดๆ เท่านี้ก็สวยแล้วค่ะ


3.จากจตุจักร ไปสยาม สแควร์ จบที่สยามพารากอน


การมิกซ์แอนด์แมทช์เสื้อผ้าจากแหล่งต่างๆ จะช่วยเพิ่มความสนุกในการช้อปปิ้งให้คุณอีกโข แถมเมื่อรวมแล้วราคาก็จะไม่สูงจนเกินไป เคยมีเพื่อนคนหนึ่งเธอไปจตุจักร ได้ตุ้มหูขนนกกระเต็นเป็นแผงยาวใหญ่ ราคาสองร้อยบาท เธอรวบผมตึงโชว์แผงขนนกยาวใหญ่เคลียร์บ่า ใส่เสื้อสายเดี่ยวสีขาวปักเลื่อมนิดๆ ราคาสามร้อยบาทจากโบนันซ่า

และชั่งใจอยู่นานว่า จะเลือกกางเกงยีนส์จาก MGN หรือ ZARA ที่สยามพารากอนดี เพราะตะเข็บสวย ทรงเซ็กซี่ คุณภาพดี ราคาไม่แพงทั้งคู่ เป็นไง

4. จำวิชา ก.พ.อ. การงานพื้นฐานอาชีพได้ไหมคะ


วิชาที่สอนเย็บโน่นนี่น่ะค่ะ ลองค้นตู้ดูซิว่า เรามีเสื้อกี่ตัวที่ไม่ได้ใส่เพราะกระดุมหาย หรือตะเข็บปริ ลองหยิบมาเย็บมาซ่อม ถ้าตัวเองไม่ถนัดก็ไปพึ่งฝีมือ ก.พ.อ.ของช่างก็ได้ ประหยัดค่าเสื้อใหม่ไปได้โข


5. ไม่เตะใจ-ไร้เหตุผล-อย่าซื้อ


ผู้หญิงเราหลายคนชอบซื้อของด้วยความรู้สึก ประเภทคิดเข้าข้างตัวเอง ´ใส่แล้วน่าจะสวย´ หรือ ´เดี๋ยวก็ได้ใส่ไปงานเลี้ยงปีใหม่ออฟฟิศ (คิดตั้งแต่เดือนมีนาคม)´ อย่าค่ะ ทางที่ดีก่อนซื้อถามตัวเองอย่างน้อยสองครั้ง และอย่าไปฟังคนขาย สุดท้ายลองใส่แล้วถามตัวเองหน้ากระจกว่า ´จะใส่ไปไหน´ ´ใส่ได้อย่างน้อยกี่ครั้ง´ และของชิ้นนั้นอยู่ในข่าย ´ไม่มีไม่ได้´ หรือเปล่า

ถ้าอยากได้มาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ หรือหารจำนวนครั้งที่คิดว่าจะได้ใช้กับราคาแล้วคุ้มค่าค่อยควักกระเป๋าขึ้นมาจ่าย

6.ซื้อตอนเซลล์


ถึงจะได้ของหลุดซีซั่นไปบ้าง แต่คุ้ม ขาช็อปแต่ละคนจะมีเคล็ดลับการซื้อของเซลล์ห้างใหญ่ๆ แตกต่างกันไป เพื่อนดิฉันคนหนึ่งเคยกระซิบว่า ช่วงเซลล์ของห้างเซ็นทรัลสินค้าสวยๆ ที่สาขาชิดลมจะขายหมดเร็วมาก ถ้าเราเดินผ่านแล้วเตะใจ แต่ไม่ซื้อ

นั่นหมายความว่าเมื่อเดินกลับมาอีกครั้งของจะหายวับไปแล้ว อาจต้องไปให้พนักงานขายช่วยโทรศัพท์ไปเช็คสาขาอื่นว่ามีเหลืออีกหรือเปล่า แต่ถ้าขี้เกียจถาม ´เซ็นทรัลลาดพร้าว´ มักจะมีคำตอบสุดท้าย

ส่วนอีกคนบอกว่าถ้าชอบแบรนด์ไทยดีๆ อย่าง Jaspal หรือ Chaps เตรียมนับสัปดาห์ไว้ได้เลย เพราะประมาณเก้าถึงสิบสัปดาห์หลังคอลเลคชั่นใหม่จะมีเซลล์ให้น้ำลายหก


7. เปิดและสำรวจตู้เสื้อผ้าทุกสัปดาห์


กฎข้อนี้ ต้องทำอย่างสม่ำเสมอนะคะ เช็ดดูเลยว่ามีเสื้อผ้าตัวไหน เครื่องประดับชิ้นใดที่หลงลืมไม่ได้ใส่บ้าง หยิบออกมาดู แล้วอาจจะใช้เวลาในวันว่างลองทุกชุด กับเครื่องประดับเก่าๆ เพราะแฟชั่นมักจะวนไปวนมา ของเก่าในวันก่อนอาจกำลังเป็นของฮ็อตในวันนี้ก็ได้

และถ้าชิ้นไหนชุดไหนใส่ไม่ได้ ใช้ไม่ลงก็จะได้เก็บไปบริจาค หรือแลกกับเพื่อนก็ยังได้

8. ให้ความสำคัญกับป้ายวิธีดูแลเสื้อ


อุตส่าห์ซื้อของดีมาแล้ว แต่ไม่ดูแล จับยัดใส่เครื่องซักผ้า ถึงเวลาตากก็ห้อยต่องแต่งซะงั้น ทำการบ้านนิดนึงว่า คาร์ดิแกนที่ซื้อมาน่ะเป็นผ้าชนิดไหน ต้องซักมือ หรือใส่ถุงผ้าก่อนซักเครื่อง ตากในร่ม หรือใช้ไม้แขวน

อย่าคิดว่าถ้าพังก็ค่อยซื้อของใหม่มาแทน เสื้อผ้าแพงๆ บางชิ้นถ้าดูแลดีๆ อยู่ได้ 4-5 ปีทีเดียวนะคะ

9. จ่ายสด ทิ้งบัตรเครดิตไว้ที่บ้าน


พกแต่เงินสดกับบัตรเงินสดเท่านั้น วิธีนี้จะช่วยให้คุณบังคับตัวเองได้ เพราะตัวเลขในกระเป๋าจะเป็นตัวกำหนดจำนวนชิ้นที่คุณจะช็อปไม่ว่าจะเสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ ยิ่งเดี๋ยวนี้ห้างร้านหลายแห่งเขาจับมือกันให้ส่วนลดสินค้าและบริการกับผู้ที่ถือบัตรพันธมิตร อย่างบัตร One Plus

สำหรับลูกค้าเซเว่นอีเลฟเว่น ทรู ยูนิลิเวอร์ และอาร์เอสโปรโมชั่น

ที่ซื้อได้ตั้งแต่ของกระจุกกระจิกไปจนถึงสินค้าราคาแพง แถมได้คะแนนสะสมสิทธิพิเศษอีกต่างหาก ทีนี้จะเลือกบัตรไหนก็ดู ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์แล้วกัน

แค่นี้ก็มีเงินเหลือไว้ให้อุ่นใจแล้วละค่ะ




สนับสนุนข้อคิดนานาสาระโดย:
นิตยสารสุดสัปดาห์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์