อาหารของใจ
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พรหมวิหาร ๔ ย่อมเป็นกำลังของฌาน เป็นอาหารของศีล และ เป็นอาหารของวิปัสสนาญาณ ทั้งนี้ก็เพราะว่า พรหมวิหาร ๔ เป็นกรรมฐานเย็น คือ ต้นเหตุของพรหมวิหาร ๔ ก็คือ….
๑.เมตตา ความรัก เมื่อเรามีความรักที่ไหน ต่างคนต่างรักกัน(เมตตาต่อกัน) ใจก็เย็น
๒.พรหมวิหารที่เรียกว่า กรุณา มีความสงสาร ถ้าทุกคนต่างคนต่างก็มีความสงสารเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สงเคราะห์ซึ่งกันและกันก็เป็นอารมเย็น ความเร่าร้อนมันก็ไม่มี
๓.มุทิตา พรหมวิหาร ๔ เป็นปัจจัยให้เกิดความไม่อิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน มีการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และก็มีใจดี คือยินดีในบุคคลอื่นได้ดี เมื่อเห็นใครเขาได้ดีแล้วเราก็ยินดีด้วย ดีใจด้วย พร้อมรับความดีของผู้ที่ทรงความดีแล้วมาปฏิบัติ เพื่อผลของความดีของตน อันนี้อีกประการหนึ่งเป็นปัจจัยให้มีความเยือกเย็น
๔.พรหมวิหาร ๔ มี อุเบกขา คำว่า อุเบกขา ในที่นี้แบ่งเป็นหลายอย่าง แต่จะพูดสั้น ๆ ไว้ก่อนนั่นก็คือ มีอาการวางเฉยต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบใจ หมายความว่า ใครเขาจะด่า ใครเขาจะว่า เขาจะนินทา เราก็เฉย จิตสบาย ใครเขาจะชม เขาจะสรรเสริญ เราก็เฉยไม่รู้สึก คำว่า ไม่รู้สึก คือ ไม่ลอยไปตามถ้อยคำของบุคคลนั้น จิตมีความเป็นปกติ ไม่ขึ้นไม่ลงไม่หวั่นไหว อย่างนี้ก็เป็นอาการของความสุข รวมความว่าพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นอารมณ์เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข
นี่…การบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนาเราทำกันเพื่อความสุข คือสุขทั้งที่มีชีวิตอยู่ แล้วก็สุขเมื่อตายไปแล้ว เมื่อเรามีชีวิตอยู่เรามีความสุข ตายไปเกิดที่ไหนก็ตามมันก็มีความสุข ฉะนั้นพรหมวิหาร ๔ จึงชื่อว่าเป็นอาหารใหญ่สำหรับใจในด้านของความดี คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์ ย่อมมีศีลบริสุทธิ์ คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์ ย่อมมีฌานสมาบัติ(สมาธิ)ตั้งมั่น คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์ เพราะอาศัยใจเยือกเย็น ปัญญาก็เกิด
พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี