ซองยาพาราเซตามอลมักระบุให้กิน 2 เม็ดทุก 4 -6 ชั่วโมง ถ้าปฏิบัติตามนั้นจริงแปลว่าผู้ป่วยกินยาพาราวันละ 12 เม็ด!
พาราเซตามอล ซึ่งคนไทยมักเรียกยานี้สั้นๆ ว่า "พารา" เป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่ใช้กันบ่อยที่สุดทั้งจากการสั่งใช้โดยแพทย์หรือการซื้อหามาเพื่อรักษาตนเอง แต่กลับเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่าคนไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับยานี้เกินขนาด ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง
โดยทั่วไปพาราเซตามอลจัดเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่มีอันตรายจากการใช้น้อยกว่ายาแก้ปวด ลดไข้ ชนิดอื่นเช่นแอสไพริน เนื่องจากแอสไพรินมีผลยับยั้งการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดทำให้เลือดออกแล้วหยุดยากจึงห้ามใช้ลดไข้ในคนที่เป็นไข้เลือดออก และห้ามใช้แก้ปวดภายหลังการผ่าตัดหรือถอนฟัน
แอสไพรินยังทำให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหาร หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร อาเจียนเป็นเลือด หรือกระเพาะอาหารทะลุได้ แต่พาราเซตามอลไม่มีอันตรายดังกล่าว ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงต่างๆ ของแอสไพรินมากกว่าผู้ใช้ยาที่มีอายุน้อย ดังนั้นสมาคมแพทย์ผู้รักษาผู้สูงอายุแห่งสหรัฐอเมริกาจึงแนะนำให้ชาวอเมริกันที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ใช้พาราเซตามอลเป็นยาหลักในการบรรเทาปวด
นอกจากนี้สมาคมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคข้อในหลายประเทศทั่วโลกต่างแนะนำให้ใช้พาราเซตามอลเป็นยาขนานแรกกับผู้ที่มีอาการปวดข้อจากโรคข้อเข่าเสื่อมแทนการใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเช่นแอสไพริน ไอบูโพรเฟน (บรูเฟน) ไดโคลฟีแนค (โวลทาเรน) ซีลีค็อกสิบ (เซเลเบร็ก) หรือ อีโตริค็อกสิบ (อาร์ค็อกเซีย) เนื่องจากบรรเทาปวดได้พอๆ กันแต่มีความปลอดภัยกว่ามาก
พาราเซตามอลยังเป็นยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกในเด็ก ในผู้ที่เป็นโรคไต ในผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ในผู้ที่เป็นหอบหืดซึ่งอาจแพ้ยาในกลุ่มแอสไพรินได้ง่าย ตลอดจนผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งต่างเป็นข้อห้ามใช้ของแอสไพรินทั้งสิ้น พาราเซตามอลจึงมีที่ใช้กว้างขวางทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
อันตรายที่สำคัญที่สุดของพาราเซตามอลคือการเกิดพิษต่อตับ ในประเทศสหรัฐอเมริกาการกินพาราเซตามอลเกินขนาดเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งของการเกิดตับอักเสบเฉียบพลันจนทำให้ตับวายซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ