"ปลาเส้นปรุงรส" ขนมขบเคี้ยวยอดฮิตในหมู่เด็กๆ และสาวๆ ซึ่งดูเหมือนเป็นขนมมีประโยชน์ และมีโปรตีนสูงนั้น ที่จริงแล้วเต็มไปด้วย "โซเดียม" ที่สูงมาก เกินความต้องการของร่ายกาย
ปลาเส้นปรุงรส เป็นอาหารว่างอีกชนิดหนึ่ง ที่เป็นที่นิยมรับประทานกันมาก โดยเฉพาะเด็กๆ และสาวๆ ที่กลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะมีการโฆษณาโดยเน้นจุดขาย "ไขมันต่ำและโปรตีนสูง" แทนที่ขนมขบเคี้ยวประเภทอื่นๆ ซึ่งมีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน อย่างไรก็ตาม ปลาเส้นปรุงรสก็มีข้อด้อย คือการมีปริมาณ "โซเดียมสูง" จนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะประเภทรสจัดจ้านหรือรสเข้มข้น ยิ่งมีโซเดียมสูงขึ้นไปอีก
ดังนั้น เมื่อจะบริโภคปลาเส้น เราไม่ควรประมาท ควรลองพลิกดูฉลากด้านหลังซองเพื่อมองหาปริมาณโซเดียมสักนิด อย่างไรก็ตาม ฉลากของปลาเส้นบางยี่ห้อก็ไม่มีรายละเอียดเรื่องนี้ เพราะมีแต่วิธีรับประทานกับวิธีดัดแปลงเป็นอาหารประเภทต่างๆ เท่านั้น
เราจึงนำเราผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส ยี่ห้อต่างๆ มาทดสอบหาปริมาณโซเดียมและปริมาณโปรตีน นอกจากนี้ ยังแถมการทดสอบ "ปลาหมึกปรุงรส" ให้ด้วย เพราะเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน และได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
ปลาเส้นทำมาจากอะไรกันแน่...
ปลาเส้นทำมาจากผลิตภัณฑ์ที่เรียก "ซูริมิ" ซึ่งก็คือ "เนื้อปลาทะเลบด" ที่ผ่านกระบวนการล้างน้ำ เพื่อแยกไขมันและส่วนประกอบที่ไม่ต้องการอื่นๆ ออกไป ให้เหลือแต่ "โปรตีน" ที่เรียกว่า "ไมโครไฟบริล" ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำให้เนื้อปลามีคุณสมบัติในการสร้างเจล ทั้งนี้ ซูริมิถูกนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหลายประเภท เช่น ปูอัด ลูกชิ้น ไส้กรอก ปลาเส้น เนื้อปลาเทียม หรือเนื้อกุ้งเทียม
ปลาเส้นปรุงรส ขนมขบเคี้ยว ดูไร้พิษภัย ที่แท้มี โซเดียม สูงปรี๊ด
ผลการทดสอบ พบว่า...
- ปริมาณโซเดียมในปลาเส้นปรุงรสและปลาหมึกปรุงรส มีปริมาณสูงมากๆ ในทุกยี่ห้อ โดยปลาเส้น 30 กรัมจะมีโซเดียม 500-700 มิลลิกรัม โดยเฉพาะรสเข้มข้นจะมีโซเดียมสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะมีการปรุงแต่งรสด้วยผงชูรส หรือโมโนโซเดียมกลูตาเมตมากขึ้น
- มีปริมาณโปรตีนตามที่โฆษณา แต่ก็ไม่แตกต่างจากอาหารทั่วไปที่สามารถหารับประทานได้ง่าย และราคาไม่แพง เช่น นม ไข่ หรือแม้แต่ถั่วต้ม
คำแนะนำจากเรา...
- ผลิตภัณฑ์ปลาเส้นอาจเป็นตัวเลือกสำหรับเด็กที่ติดขนมขบเคี้ยว เพราะมีปริมาณไขมันและน้ำตาลน้อยกว่า เมื่อเทียบกับขนมขบเคี้ยวทั่วไป แต่เด็กไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะมีปริมาณโซเดียมสูงมาก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เนื่องจากเด็กไม่ควรได้รับโซเดียมจากอาหารว่างเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน การที่บริโภคโซเดียมมาก จะทำให้ไตทำงานหนักและเสี่ยงต่อโรคความดันสูง
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไตหรือหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานแต่น้อย
- ควรซื้อครั้งละซองเล็กๆ เพราะหากซื้อซองใหญ่ จะทำให้เผลอทานมากเกินไป
- ควรหาตัวเลือกอื่นๆ ถ้าต้องการแหล่งโปรตีนที่ดี เช่น นม ไข่ หรือถั่ว ที่มีราคาไม่แพงและมีปริมาณโปรตีนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
--------------------------------------------
ที่มา นิตยสาร ′ฉลาดซื้อ′ ฉบับที่ 91 โดยกองบรรณาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (สนับสนุนข้อมูลโดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)