มารู้จักโรคไข้กาฬหลังแอ่นกันเถอะ
หลังจากที่มีข่าวว่าตลกชื่อดัง สายัณห์ ดอกสะเดา ป่วยจนถึงขั้นต้องหามส่งโรงพยาบาลจนล่าสุดคุณหมอวินิจฉัยแล้วพบว่า คุณสายัณห์ ป่วยเป็นโรคกาฬหลังแอ่น ซึ่งเป็นโรคที่พบได้น้อยมากในปัจจุบันนี้ โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง เชื้อนี้พบในลำคอของคนปกติ ประมาณร้อยละ 5 โดยไม่ทำให้เกิดโรค ผู้ติดเชื้อส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเกิดอาการโรค โรคนี้เกิดทั่วโลก และเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศเขตร้อน พบมีการระบาดทั่วไปในประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา และในประเทศแถบเอเชีย เช่น พม่า กัมพูชา เวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ประปรายตลอดทั้งปี และมีการระบาดในบางพื้นที่เป็นครั้งคราว
เลยทำให้หลายคน ๆ คิดว่าไม่น่าจะมีโรคนี้เกิดขึ้นมาได้อีก วันนี้ก็เลยเอาเรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้มาฝากเพื่อน ๆ ที่นี่กันค่ะ จะได้รู้จักโรคนี้กันนะคะ
เหตุที่เรียกโรคนี้ว่าไข้โรคกาฬหลังแอ่น เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการมาก จะมีอาการคอแข็งและหลังแอ่น จริงๆ แล้วชื่อโรค "ไข้กาฬหลังแอ่น" บรรยายถึงอาการได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ จะมีไข้ และอาจจะมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่ อาการคอแข็ง ถ้าถึงกับหลังแอ่น แสดงว่าอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบรุนแรงมาก ส่วนคำว่า กาฬ แปลว่าสีดำ ก็หมายถึงโรคที่ร้ายแรงถึงชีวิต เชื้อนี้ติดต่อจากคนไปสู่คน กระจายจากช่องปากหรือช่องจมูกของคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งโดยตรง เป็นการติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ เชื้อจะออกมาทางละอองน้ำมูก น้ำลายจากปากหรือจมูกของผู้ที่เป็นพาหะ ผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือผู้ป่วย โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 2 - 10 วัน (เฉลี่ย 3 - 4 วัน)
โรคกาฬหลังแอ่นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ รูปร่างกลมคล้ายเมล็ดถั่ว เรียงตัวกันอยู่เป็นคู่ๆ โดยหันด้านเรียบเข้าหากัน ไม่สร้างสปอร์ แบ่งออกเป็น 13 ซีโรกรุ๊ป คือ A, B, C, D, H, I, K, L, X, Y, Z, E29 และ W135 ที่พบบ่อยๆ คือ ซีโรกรุ๊ป A, B, C,Y และ W135
อาการเริ่มจากไข้สูง เจ็บคอ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง มีผื่นแดงหรือจ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนัง หลังจากนั้นเชื้อโรคจะกระจายไปได้ 2 แบบ
แบบแรกเชื้อโรคกระจายไปที่สมองทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง ซึมและสับสน และอาจเกิดภาวะช็อกอย่างรวดเร็ว อาการจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว ตรวจพบอาการที่แสดงถึงการระคายเคืองของเยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีจ้ำเลือดออกตามผิวหนังปรากฏให้เห็นชัดเจน ผู้ป่วยที่มีอาการคอแข็งหลังแข็ง ปวดศีรษะ อาเจียน เหมือนอย่างชื่อที่ใช้เรียกโรคนี้ มักจะไปพบแพทย์เร็ว จึงสามารถรักษาได้ทันและปลอดภัย
ส่วนแบบที่สองเชื้อโรคจะกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย อาการจะเกิดอย่างฉับพลัน มีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอและไอ เป็นอาการนำมาก่อน ตามด้วยไข้สูง หนาวสั่น ปวดตามข้อและตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่ขาและหลัง นอกจากนี้ อาจมาด้วยไข้และมีผื่นแดงจ้ำขึ้นตามตัวใน 2 - 3 วันต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำจนเป็นสะเก็ดสีดำ บางทีเป็นตุ่มน้ำมีจุดแดงอยู่ตรงกลาง ส่วนใหญ่จะมีผื่นหลังไข้ขึ้น24 - 48 ชั่วโมง
ในรายที่เป็นอย่างรุนแรง ระบบไหลเวียนโลหิตไม่ทำงานอาจช็อคถึงเสียชีวิตได้ ในเวลาไม่นานหลังจากเริ่มมีอาการ ส่วนมากเริ่มมีอาการไข้สูงทันทีอ่อนเพลียมาก แล้วเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีหลอดเลือดตีบทั่วร่างกาย มักจะไม่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เพราะเป็นระยะสั้นๆ แล้วเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
บุคคลที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยในบ้านเดียวกัน และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับสารคัดหลั่ง ต้องได้รับยาป้องกันทันทีภายใน 24 - 48 ชั่วโมง และควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค โดยใช้ยาไรแฟมปิซิน (rifampicin) หรือ ซิโปรฟล็อกซาซิน (ciprofloxacin) การใช้ยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกัน โดยไม่ขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อ
แต่ก็ไม่ต้องกลัวไปนะคะ เพราะว่าโรคนี้สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ค่ะ แม้ว่าจะเป็นการป้องกันได้เพียงชนิดเอและซีเท่านั้นก็ตาม ซึ่งเป็นชนิดที่มักจะเป็นโรคประจำในบางท้องถิ่น เช่นในแถบแอฟริกา บางประเทศในตะวันออกกลาง
แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือหมั่นใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้มาก ๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพียงเท่านี้ร่างกายก็แข็งแรงพร้อมสู้กับโรคภัยไข้เจ็บแล้วล่ะค่ะ
ที่มา :ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ