บริหารสมองให้เสื่อมช้า
"หนักขึ้นตามระยะเวลา"
วัยสูงอายุกับอาการหลงลืมมักจะมาคู่กันเสมอ จนบางครั้งตัวผู้สูงอายุเอง หรือผู้ดูแลอดสงสัยไม่ได้ว่านี้คืออาการของโรคสมองเสื่อมหรือเปล่า หากเป็นประเภทหลงลืมเป็นครั้งคราว เช่น จะออกจากบ้านเพิ่งไขกุญแจล็อคไปยังไม่ทันพ้นหน้าบ้านก็ลืมต้องกลับเข้าไปดูใหม่ อย่างนี้พอจะเรียกว่ายังไม่ถึงขนาดรุนแรง สมองยังอาจไม่ถึงขั้นเสื่อมเพราะเป็นกันได้แทบทุกคน เพียงแต่ตั้งใจตั้งสติให้อยู่กับเนื้อกับตัวอยู่ตลอดก็จะช่วยบรรเทาอาการหลงลืมแบบนี้ได้ แต่หากเป็นภาวะหลงลืมจากสมองเสื่อม ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่สมองสูญเสียหน้าที่การทำงานในภายหลังอย่างเรื้อรังนั้น
มักจะแสดงออกโดยการจำอะไรไม่ได้เลยว่าเคยทำอะไร หรือลืมทำอะไรไปบ้าง และจะเป็นหนักขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป ซึ่งคงต้องสังเกตอากัปกิริยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น บุคลิกภาพ พฤติกรรม อารมณ์ เปลี่ยนไปด้วยหรือไม่อย่างไร บางคนพอจำสิ่งที่เพิ่งทำไปไม่ได้ก็ทำให้สนใจต่อเรื่องต่าง ๆ ลดลง ไม่สามารถทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ เกิดความกังวลสับสน และซึมเศร้าหากเป็นหนักก็อาจถึงขั้นจำตัวเองและผู้อื่นไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่สมองเสื่อมจะยังรู้ตัวดี มีอารมณ์เสียใจดีใจกังวลอับอายเหมือนคนทั่วไป ใครที่มีญาติผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป คงต้องคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของท่านกันมากหน่อย
"ต้องบริหารสมองบ้าง"
แท้จริงแล้วสมองก็เหมือนกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่จำเป็นต้องบริหารเป็นประจำไปตลอดชีวิตเพื่อสร้างความแข็งแรง การฝึกสมองเพื่อให้การสร้างจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาททำงานได้ดีขึ้น จะช่วยบำรุงสติปัญญา ชะลอการเสื่อมถอยให้ช้าลง ไม่ว่าจะเป็นคนที่สมองยังเป็นปกติหรือแม้แต่คนที่เข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมแล้วก็ตาม การดูแลที่สำคัญก็ยังมุ่งเน้นไปที่การคงสภาพหรือชะลอให้สมองเสื่อมช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เวลาไปเดินตามสวนสาธารณะตอนเช้า ๆ คุณคงเคยสังเกตเห็นกลุ่มผู้สูงอายุที่นั่งจับกลุ่มเล่นหมากล้อม หมากรุก หรือเล่นไพ่ เกมต่าง ๆ ที่ต้องใช้ความคิดเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยบริหารสมองได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับคนที่ยังคงทำงานอยู่แม้ว่าจะเลยวัยเกษียณแล้ว อย่างเช่นการรับเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กร บริษัทต่าง ๆ หรือนักคิด นักเขียนที่จะต้องรื้อฟื้นความคิดความทรงจำสร้างสรรค์เรื่องราวต่าง ๆ อยู่เสมอ เราจะสังเกตได้ว่าท่านเหล่านั้นมักจะมีร่างกายแข็งแรง มีจิตใจแจ่มใสสามารถจดจำอะไรต่าง ๆ ได้แม่นยำ เพราะสมองได้รับการบริหารอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญคือ มีอายุยืนยาว
"หากิจกรรมดี ๆ บริหารสมอง"
ดังนั้นใครที่มีญาติผู้ใหญ่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ หรือวัยหลังเกษียณลองแนะนำให้ท่านมองหากิจกรรมต่าง ๆ ทำเพื่อช่วยบริหารสมองให้แข็งแรง ชะลอการเสื่อม ยกตัวอย่างเช่น
- อ่านข่าวประจำวันทางหนังสือพิมพ์
- อ่านหนังสือ นิตยสาร พ็อคเก็ตบุ๊คส์ต่าง ๆ
- เขียนหนังสือ เรื่องสั้น นิยาย
- จดบันทึกประจำวัน
- พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง
- โทรศัพท์คุยกับเพื่อน
- รับเป็นที่ปรึกษาในงานที่ถนัด
- ช่วยกิจการในบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ใช้สมอง เท่าที่พอจะทำได้อย่างเช่นหากที่บ้านทำกิจการร้านค้าอาจให้ท่านช่วยทำหน้าที่เก็บเงิน ทอนเงิน จัดของเข้าตำแหน่ง
- ใช้เวลาทำงานอดิเรก เช่น งานศิลปะ งานประดิษฐ์ต่าง ๆ
- เล่นเกมที่ต้องใช้ความคิด เช่น หมากรุก หมากล้อม ฯลฯ
- ฝึกใช้คอมพิวเตอร์ ท่องโลกอินเตอร์เน็ต
- ติดตามดูรายการต่าง ๆ ทางโทรทัศน์เป็นประจำ
- ฯลฯ
"หาวิธีกระตุ้นเตือนความจำ"
หรือในกรณีที่ผู้สูงอายุเริ่มมีอาการหลงลืมเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ผู้สูงอายุเองหรือผู้ดูแลก็ควรหาวิธีกระตุ้นเตือนความจำ ด้วยการจดบันทึกนัดหมายและเหตุการณ์ต่าง ๆ บนสมุดพก หรือติดตั้งแผ่นกระดานสำหรับจดไว้บนผนังที่เห็นชัดเจน หากเกิดอาการจำวันเดือนปีไม่ได้ก็ใช้ปฏิทินมาช่วยกำหนดให้รู้วัน-เวลา การหมั่นเข้าไปพูดคุยกับท่านเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต หรือหาสิ่งกระตุ้นเตือนความจำ
เช่น โปสการ์ด รูปถ่ายเก่า ๆ มาให้ท่านดูเพื่อให้รำลึกถึงความหลัง และเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง นอกจากจะช่วยกระตุ้นสมองของผู้สูงอายุแล้วยังทำให้ท่านรู้สึกดีว่าตัวเองเป็นบุคคลที่มีคุณค่าทั้งยังทำให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ชีวิตในอดีตของผู้ใหญ่ในครอบครัวอีกด้วย
|
|
แหล่งข้อมูล : HealthToday THAILAND |
|