ด้วยความที่ช่วงนี้ฝนตกบ่อยมากเหลือเกิน แถมในบางพื้นที่ก็ยังอาจจะเกิดน้ำท่วมแบบฉับพลันได้ด้วย วันนี้เลยเอาข้อควรระวัง และการดูแลบาดแฟลในช่วงที่เกิดน้ำท่วมมาฝากเพื่อน ๆ ที่นี่ให้ได้ระวังตัวกันค่ะ
อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ ไฟดูด พลัดตกน้ำ จมน้ำ เศษแก้ว บาดแผลถลอก แผลถูกตำ แผลฟกช้ำต่างๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
มาป้องกันอุบัติเหตุและดูแลบาดแผลในช่วงน้ำท่วมกันเถอะ
การป้องกัน
>> เมื่อไฟฟ้ารั่ว หรือไฟดูด ให้ตัดไฟฟ้าในบ้านโดยสับคัทเอาต์ของบ้านเพื่อตัดไฟ
>> ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน
>> เก็บกวาดขยะ วัตถุที่แหลมคม ตะปู ในบริเวณพื้นบ้านและทางเดินสม่ำเสมอ
>> ระมัดระวังดูแลเด็กๆอย่างใกล้ชิด
การดูแลเมื่อเกิดบาดแผล บาดแผลที่ดูแลไม่ดี อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลติดเชื้อจากแบคทีเรียเกิดหนอง แผลเรื้อรัง เกิดการเน่าของเนื้อจนบางครั้งอาจต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งหรือติดเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
แผลข่วน แผลถลอก หรือแผลแยกของผิวหนังที่ไม่ลึก จะมีเลือดออกเล็กน้อยและหยุดเองได้ แผลพวกนี้ไม่ค่อยมีอันตราย ทำความสะอาดบาดแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน ทิงเจอร์ แล้วปิดปากแผล แผลก็จะหายเอง
แผลฉีกขาด เป็นแผลที่เกิดจากแรงกระแทกจากวัสดุที่ไม่มีคม มักฉีกขาดขอบกะรุ่งกะริ่ง แผลชนิดนี้เนื้อเยื่อจะถูกทำลายมากกว่า มีโอกาสติดเชื้อมาก ควรทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ ถ้าบาดแผลลึกมากควรนำส่งโรงพยาบาลเพราะว่าผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายจากการติดเชื้อโรคได้
การทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาดควรใช้น้ำต้มสุก หรือน้ำด่างทับทิม ซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด ใช้น้ำยาแอลกอฮอล์เช็ดบริเวณรอบๆแผล ไม่เช็ดลงบนแผล และทำความสะอาดเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงสิ่งสกปรก หรือแผลเปียกน้ำ ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าพันแผล ไม่ใช้สำลีปิดแผลเพราะเมื่อแผลแห้ง สำลีจะติดแผลดึงออกยากอาจทำให้เลือดไหลได้
สังเกตุอาการอักเสบของบาดแผล เช่น บวม แดงร้อน สีผิวบาดแผลเปลี่ยนไป มีหนอง ควรรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรักษาต่อ
การปฏิบัติตัวเมื่อถูกงูหรือสัตว์มีพิษกัด หากเป็นงูพิษกัด ห้ามไม่ให้ดูดพิษงูด้วยปาก ให้ทำความสะอาดแผลและรัดรอบแขนหรือขาเหนือปากแผลให้แน่น รีบนำส่งโรงพยาบาล ในระหว่างนำส่งโรงพยาบาลให้คลายเชือกหรือผ้าที่รัดทุก 10 - 15 นาที เพื่อไม่ให้ส่วนปลายแขนหรือขาขาดเลือดไปเลี้ยง และถ้ามีประวัติเคยแพ้พิษสัตว์ต่าง ๆ มาก่อน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
เมื่อถูกงูที่มีพิษกัด หรือสัตว์มีพิษกัด หรือไม่แน่ใจให้ทำความสะอาดบาดแผล ล้างบาดแผลให้สะอาดด้วยน้ำต้มสุกหรือด่างทับทิม ซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด แล้วใช้น้ำยาแอลกอฮอล์เช็ดบริเวณรอบๆแผล ไม่เช็ดลงบนแผล
ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข