กินปลา ต้าน เบาหวาน

กินปลา ต้าน เบาหวาน


องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวาน 194 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 300 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2568 ขณะที่ประเทศไทยมี ผู้ป่วยเบาหวานแล้วกว่า 3 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนวิทยาคลินิกและโรคเบาหวาน โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เบาหวานมี 2 ชนิด โดยเบาหวาน

ชนิดที่ 1 เป็นชนิดที่มีความรุนแรงและมักเกิดกับเด็ก เกิดจากความผิดปกติของการอักเสบของตับอ่อนที่อาจเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ส่งผลให้อินซูลินที่ควบคุมน้ำตาลทำงานบกพร่อง ส่วนเบาหวาน

ชนิดที่ 2 มาจากความอ้วนเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค  ส่งผลให้ตับอ่อนที่ผลิตอินซูลินต้องทำงานหนักมากขึ้น
 
การบริโภคเนื้อปลาช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงโรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิดได้ เพราะโอเมก้า 3 ในปลาจะช่วยลดการอักเสบของตับอ่อนลงได้ นอกจากนี้ปลายังมีคุณภาพโปรตีนที่สูงกว่าเนื้อวัวและเนื้อหมู เรียกว่าเป็นโปรตีนชั้นเลิศ ช่วยให้อิ่มเร็วและย่อยง่าย ป้องกันการเกิดโรคอ้วน ดังนั้นควรกินปลาอย่างสม่ำเสมอ
 
โอเมก้า 3 มีสารอาหารที่มีอยู่ทั้งในปลาน้ำจืดและปลาทะเล มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและหัวใจได้ และช่วยในการพัฒนาเซลล์สมอง ลดไขมันในเลือด และช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติได้ ทั้งนี้มีรายงานการวิจัยของกรมประมงยืนยันว่า ผู้ที่กินปลาน้ำจืดจะไม่มีอาการแพ้ ต่างจากการกินปลาทะเลที่บางคนอาจเกิดอาการแพ้ได้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายควรเลือกกินปลาน้ำจืดแทน
 
นพ.ฆนัท ครุฑกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โภชนวิทยาคลินิกและโรคเบาหวาน โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ควรกินปลาอย่างน้อย 2 มื้อต่อสัปดาห์ แต่คนไทยกินปลาน้อยมาก เพียง 32 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่คนอเมริกันกินปลา 50 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และคนญี่ปุ่นกินถึง 69 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบคุณค่าสารอาหารในปลาทะเลและปลาน้ำจืด พบว่าไม่แตกต่างกันมาก แต่จะขึ้นอยู่กับประเภทของเนื้อปลามากกว่า

โดยเฉพาะโอเมก้า 3 ปลาที่มีไขมันมากก็จะมีปริมาณโอเมก้า 3 มากกว่า เช่น
ปลาแซลมอน และปลาสวาย


ส่วนปลากลุ่มที่มีไขมันน้อยก็จะมีโอเมก้า 3 น้อยกว่า แต่จะมีปริมาณโปรตีนมากกว่า เช่น ปลากะพง ปลานิล เป็นต้น

ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวว่าปลาทะเลจะมีโอเมก้า 3 มากกว่าปลาน้ำจืดเสมอไป ต้องดูลักษณะของเนื้อปลาเป็นหลัก อย่างไรก็ตามผู้บริโภคสามารถกินปลาได้จากทั้ง 2 แหล่ง และกินได้ในปริมาณที่ไม่จำกัด
 
ข้อดีของปลาทะเล คือ มีโปรตีนและไอโอดีนสูง ช่วยป้องกันภาวะขาดสารไอโอดีน

 แต่มีข้อเสีย คือ อาจมีสารตกค้างจำพวกปรอทและตะกั่วได้ เพราะอาจมีการปนเปื้อนจากน้ำทะเล จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียลงทะเล ขณะที่ปลาน้ำจืดสามารถควบคุมได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยง ในฟาร์ม
 
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบไข่ปลา ในไข่ปลาแม้ว่าจะมีโอเมก้า 3 สูง แต่ก็มีคอเลสเตอรอลสูงเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ควรระมัดระวังไม่ควรกินในปริมาณมาก ส่วนการกินปลาดิบก็ไม่ได้ให้คุณค่าสารอาหารมากกว่าปลาที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว เป็นเพียงค่านิยมที่เชื่อว่ามีรสชาติที่ดีกว่า ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากพยาธิได้
 
ในบ้านเรามีปลาสวายมาก และราคาถูก แต่มีปริมาณโอเมก้า 3 สูงถึง 2,570 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เมื่อเปรียบกับปลาแซลมอนพบว่ามีปริมาณโอเมก้า 3 น้อยกว่า โดยอยู่ที่ 1,000-1,700 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ขณะนี้ปลาสวายเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก โดยเฉพาะยุโรป เนื่องจากเป็นปลาเนื้อขาว ซึ่งปลาเนื้อขาวถือว่ามีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าปลาเนื้อสี

ดังนั้นปลาสวายจึงมีราคาสูงมากในยุโรป และมีแนวโน้มการส่งออกที่มากขึ้น แต่ในประเทศกลับไม่เป็นที่นิยม.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์